ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการมีโครงการ ศูนย์ธุรกิจอีอีซี และ เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่งรวมเรียกว่า เมืองใหม่อีอีซี มีหลากหลายด้าน เพราะแน่นอนว่า โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจกต์ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากเป็นหลักล้านล้านบาท แต่ก็จะก่อให้เกิดโอกาสในการจ้างงานหลายแสนตำแหน่ง สร้างเงินให้กับคนในพื้นที่ และที่สำคัญสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้มากกว่าสองล้านล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับแผนในอนาคต มีความชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลต้องการที่จะผลักดันโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และ เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ อีอีซี ไปสู่การจัดตั้งบริษัทมหาชนซึ่งเป็นบริษัทลูกของอีอีซี ที่จะเข้ามาบริหารจัดการ อำนวยความสะดวกให้กับคนในเมืองและบริหารจัดการรายได้ต่างๆ ให้เกิดขึ้น เช่น ค่าเช่าที่ดิน การดำเนินธุรกิจต่างๆ ในเมือง การร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งก็จะนำคืนรัฐบาลและอีกส่วนก็จะนำมาพัฒนาพื้นที่ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนในเมืองนี้ให้ดียิ่งขึ้น
จากการประเมินคาดว่าในปี 2568 จะมีค่าเช่าที่ดินเข้ามา ซึ่งมีการวางแผนไว้ในดังนี้
- ใน 3 ปี แรก จะนำเงินส่วนนี้มาลงทุนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และภายใน 10 ปี คาดว่าจะคืนเงินส่วนที่ภาครัฐนำมาลงทุนได้ทั้งหมด และจะนำส่งรายได้ให้ภาครัฐอย่างต่อเนื่องทุกปี และเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมือง
- การบริหารงานภาครัฐและการจัดเก็บภาษีต่างๆก็จะเข้าสู่เทศบาลบางห้วยใหญ่เหมือนเดิม และในอนาคตจะยกระดับไปสู่การเป็นเทศบาลเมือง
อย่างไรก็ดี โครงการ เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ในอีอีซี ได้รับการสนับสนุนและเสียงตอบรับที่ดีจากคนในพื้นที่ ซึ่งประชาชนกว่า 350 รายที่จะได้รับผลกระทบ ต้องย้ายออกจากพื้นที่ สปก. ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะได้รับค่าชดเชยใน 3 ส่วน
1. ค่าเสียโอกาสในที่ดิน ค่าชดเชยทรัพย์สิน ค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง ขนย้าย การรื้อย้าย สร้างโรงเรือนใหม่ ค่าชดเชยพืชผลไม้ยืนต้นในอัตราที่สูง
2. ได้รับสิทธิ์ถือหุ้นตามโครงการนี้ตามสัดส่วนของที่ดิน ที่จะได้รับการปันผลทุกปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณารายละเอียด
3. มีสิทธิ์เป็นคนกลุ่มแรกที่จะเข้ามาเช่าที่ดินปลูกที่พักอาศัยใน เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ในอัตราค่าเช่าพิเศษ
โดย อีอีซี มองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ร่วมทุนและผู้ถือหุ้นกับทางอีอีซี จึงทำให้โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่สูงมากดังที่กล่าวมา รวมทั้งลูกหลานของคนในพื้นที่ก็มีโอกาสที่จะไปอยู่อาศัยและเข้าไปทำงานในเมืองใหม่นี้ด้วย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมในทุกมิติ ทั้งในด้านการศึกษา และโอกาสในการทำงานที่ดี
ส่วนบริบทที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการนี้ ก็จะแบ่งเป็น
- การจ้างงานโดยตรงกับคนในพื้นที่ เพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ตีเป็นมูลค่ารายได้ให้กับประเทศถึง 1.2 ล้านล้านบาท
- การลงทุนในพื้นที่ 1.34 ล้านล้านบาท ภายใน 10-15 ปี เป็นการลงทุนของภาครัฐ ร้อยละ 3 และภาคเอกชน ร้อยละ 97
- สร้างสตาร์ทอัพได้ 150-300 กิจการ
- การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม หรือ GDP มากกว่า 2 ล้านล้านบบาท ภายใน 10 ปี หรือในปี 2575 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ของไทย โตโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี
- รองรับประชากรได้ 350,000 คน เป็นต้นแบบของ เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ทั่วประเทศ
เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ นี้จะเป็นเมืองแรกในไทย ที่รวมเอาความอัจฉริยะทั้ง 7 ด้านเข้าด้วยกัน
1. เศรษฐกิจอัจฉริยะ ที่มีเทคโนโลยีการเงินและเศรษฐกิจดิจิทัล
2. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ มีระบบสาธารณสุขที่ทันสมัย นำหุ่นยนต์บริการมาอำนวยความสะดวก มีระบบรักษาความปลอดภัย เตือนภัยพิบัติและดูแลผู้สูงอายุ
3. พลเมืองอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีการศึกษาและแพลตฟอร์มนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาประชากรในเมือง
4. การบริหารงานภาครัฐอัจฉริยะ มีระบบริการเบ็ดเสร็จครบวงจรของภาครัฐในการอนุญาต อนุมัติ และจัดการฐานข้อมูลของเมือง
5. พลังงานอัจฉริยะ มีระบบการบริหารจัดการพลังงานในอาคารการใช้พลังงานสะอาด
6. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ มีระบบจัดการน้ำแบบปิด ลดการปล่อยขยะ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
7. การสัญจรอัจฉริยะ มีระบบขนส่งรวดเร็ว ปลอดภัย และระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย
ด้าน ปิติ จารุกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้นอีอีซี ได้ให้ความเห็นไว้ว่าในฐานะคนที่ทำงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ ว่า
“ตั้งแต่มีโครงการอีอีซี มีความรู้สึกยินดีและดีใจที่ภาครัฐผลักดันโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ นับเป็นการสร้างงานและสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งทาง ออริจิ้นอีอีซี อยากจะเข้าไปร่วมในโครงการนี้เพื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในกลไกในการสร้างเมืองอัจฉริยะขนาดใหญ่ของประเทศไทย”
“อย่างไรก็ตาม การที่ภาคเอกชนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนหรือไม่ ก็อยู่ที่ความชัดเจนของงภาครัฐที่ต้องผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมว่าโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดให้เกิดการตั้งธุรกิจพื้นฐานตามเป้าหมายที่อีอีซีวางไว้ ซึ่งถ้ามีการตั้งศูนย์ธุรกิจ ก็ย่อมทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดความต้องการที่พักอาศัยในพื้นที่ ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความมั่นใจในการลงทุน”
“และภาครัฐควรมีแพคเกจสนับสนุนการลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระบางส่วนให้กับนักลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น สนับสนุนในด้านเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี เพราะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนมาก ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อที่พักอาศัย ก็ควรได้รับการลดหย่อนภาษี ถ้าตัดสินใจมาซื้อที่พักอาศัยในเขตพื้นที่เมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ของอีอีซีด้วยเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นด้วย”
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2023/02/27/smart-city-eec-investment-real-estate-side/