รู้จัก ต้นแบบชุมชน โลว์คาร์บอน เปลี่ยน เปลือกหอยนางรม สู่สินค้าเพิ่มรายได้

Share

Loading

บางกอกแอร์เวย์ส แท็กทีม วิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม สู่ต้นแบบชุมชน โลว์คาร์บอน ในโครงการ “Community Of Love” นำความรู้อัพไซคลิ่งเพิ่มรายได้ชุมชน เปลี่ยนวงจรเศษ เปลือกหอยนางรม สู่สินค้ามีราคา เพิ่มรายได้แก่ชุมชน

ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ที่ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ หลายบริษัทในแวดวงธุรกิจจึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ หันไปใส่ใจสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น อย่างล่าสุด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้ร่วมกับ สนามบินตราด พร้อมด้วยกลุ่มอาสาสมัคร Blue Volunteers เดินหน้าสร้างสรรค์ต้นแบบชุมชนยั่งยืนภายใต้ โครงการ Community Of Love เพื่อส่งเสริมศักยภาพกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด สู่การสร้างงานสร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

อาริญา ปราสาททองโอสถ กรรมการบริษัทฯ และประธานคณะทำงานส่วนรับผิดชอบ ต่อสังคม บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการที่มีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ 3 สนามบิน (สมุย สุโขทัย ตราด) ภายใต้โครงการ Community Of Love เพื่อตอกย้ำถึงพันธกิจและนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ที่ต้องการช่วยเหลือชุมชน หลากหลายโครงการ อาทิ ด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ การส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมซึ่งได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ร่วมกับ สนามบินตราด ได้นำกลุ่มอาสาสมัคร Blue Volunteers ร่วมลงพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชน โลว์คาร์บอน ณ ต.ท่าโสม เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในกระบวนการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพที่มีผลต่อด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศองค์รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้แก่ สมาชิกกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนหอยนางรม ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุและผู้พิการที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนหมุนเวียนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้นำไปใช้ในการต่อยอดรายได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

“สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดตั้งโครงการแปรรูปเปลือกหอยนางรม และโครงการฟื้นฟูอาชีพการทำแป้นหอยนางรม ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่า 80% ของชุมชนดังกล่าวดำรงอาชีพเลี้ยง หอยนางรม เป็นหลัก ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้มีเปลือกหอยที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก และหากไม่ได้รับการจัดการด้วยวิธีการที่ถูกต้องอาจจะนำมาสู่การปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการผลักดันการส่งเสริมชุมชนแห่งนี้ให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการปริมาณเปลือกหอย ผ่านการนำเอา เปลือกหอยนางรม เข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่จากปูนเปลือกหอยนางรม โดยได้นำวัสดุแปรรูปปูนเปลือกหอยนางรมไปขึ้นรูปเป็นภาชนะสวยงามต่างๆ ที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ จานรองแก้ว กระถางรูปทรงต่างๆ และภาชนะสำหรับใส่เครื่องประดับ รวมไปถึงบล็อกปูพื้น ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ หวังว่าโครงการนี้ นอกจากจะช่วยในเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมอาชีพชุมชนให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง และนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคตต่อไป”

ด้าน นวรัตน์ วรรณตรง ผู้อำนวยการ ส่วนรับผิดชอบต่อสังคม บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในช่วงการทำคาร์บอนฟรุตปริ้นท์ขององค์กรซึ่งจะเสร็จช่วงสิ้นปีนี้ หลังจากรู้แล้วว่าเราปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่กก็จะแพลนว่าจะลด และจะมีเป้าเท่าไหร่ โดยแบ่งเป็นระยะสั้น คือ 1-2 ปี, ระยะกลาง 3-4 ปี และระยะยาว คือ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

“ปีหน้าเราจะเป็น โลว์คาร์บอน สกาย บาย บางกอกแอร์เวย์ส ก็จะมาดูว่าในฝั่งของแอร์ไลน์ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดจากเครื่องบินว่าจะลดได้อย่างไรบ้าง และก็ต้องมาดูในส่วนหลังบ้านด้วย ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำแผน สิ่งที่ศึกษาอยู่ก็คือ Saf (Sustain aviation fuel) การทำโซล่าร์เซลล์ การทำโซล่าร์รูฟท็อป ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการขยะในองค์การ ดูว่ามีขวดพลาสติกเท่าไหร่ มีขยะกระดาษเท่าไหร่ และจะต้องลดปริมาณอย่างไร ซึ่งจะเริ่มในปีหน้าเพราะสถานการณ์กำลังจะกลับมาปกติ แต่ในส่วนการณรงค์ในองค์กรก็มีการทำอยู่ เช่น ชวนผู้โดยสารคัดแยกขยะ นำชุดยูนิฟอร์มมาแปรรูป และกำลังดูว่าจะแปรรูปอะไรได้อีก ซึ่ง โครงการ หอยนางรม ที่ท่าโสมนี้ก็เป็นหนึ่งในโครงการแปรรูปในเรื่องของการบริหารจัดการขยะของเราเช่นกัน”

แหล่งข้อมูล

https://www.komchadluek.net/quality-life/well-being/563332