ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด “ตัวช่วยสำคัญ” ยกระดับระบบไฟฟ้าไทยสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน

Share

Loading

แนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิล สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานภาคพลังงานของประเทศ พร้อมเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับระบบไฟฟ้าไทยสู่ความทันสมัยและมั่นคง (Grid Modernization) พร้อมรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ความผันผวนและไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลา นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center: REFC) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center: DRCC) ของ กฟผ. ซึ่งเป็น 2 ใน 5 เสาหลักตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574  โดยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. เพื่อเป็นต้นแบบของศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลดในประเทศไทย

“REFC” ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน “ที่สุดแห่งความแม่นยำ”
  • ทำหน้าที่พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP)
  • นำผลพยากรณ์ไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน
  • พัฒนาระบบจำลองให้ครอบคลุมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) รวมถึงระดับ Solar Rooftop
  • เตรียมจัดตั้งศูนย์ฯ ตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยเริ่มต้นที่ 11 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 เมกะวัตต์ในอนาคต

“DRCC” ศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด ตัวช่วยลดการใช้ไฟฟ้า
  • ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ในสถานการณ์ที่เชื้อเพลิงมีราคาสูง หรือช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของภาคประชาชนอาจปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย การลดการใช้ไฟฟ้าแทนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
  • ดำเนินการผ่านผู้รวบรวมโหลด (Load Aggregator: LA) หรือปริมาณการใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ทำหน้าที่รวบรวมปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยินดีรับเงินชดเชยจากการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า
  • ในช่วงระหว่างปี 2565-2566 ได้นำร่องการตอบสนองด้านโหลดในปริมาณเป้าหมาย 50 เมกะวัตต์ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทดสอบนำร่องการใช้งานจริงของโปรแกรม DR ระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ก่อนที่จะนำไปขยายผลการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

ด้วยทิศทางพลังงานโลกและบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของประเทศยากที่จะเหมือนเดิมอีกต่อไป การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการผลิต จัดหา และส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลดของ กฟผ. จึงเป็น “ตัวช่วยสำคัญ” ในการยกระดับระบบไฟฟ้าไทยสู่ความมั่นคงและทันสมัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.thaipost.net/hi-light/455112/