จนถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนได้ยินชื่อของ วังจันทร์วัลเลย์ กันเพิ่มมากขึ้นแล้ว เพราะนี่เป็นโครงการจัดตั้ง “เมืองนวัตกรรม” ที่ตั้งอยู่ใน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ซึ่งเป็นโครงการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้าง Innovation Ecosystem ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพัฒนาตามแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 7 ด้าน โดยหนึ่งในนั้น คือ Smart Energy หรือ เมืองพลังงานอัจฉริยะ
โดยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งโครงการตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่
ปตท. ตลอดจนพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า จึงเปิดกว้างพร้อมให้บริการช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแก่ บริษัทเอกชน Start-up ผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านทรัพยากรในการวิจัยนวัตกรรมที่มีจำกัด รวมทั้งมีความพร้อมในการรับฟังปัญหา (Pain Point) เพื่อให้พันธมิตรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ด้วยภารกิจที่กล่าวมา ทำให้ วังจันทร์วัลเลย์ เป็นแหล่งรวมของสมาร์ทซิตี้ในหลายด้าน และ 1 ใน 7 ความสมาร์ทที่เห็นได้ชัด คือ การเป็นเมืองพลังงานอัจฉริยะอย่างที่เกริ่นมา โดยทุกโมเดลของการใช้พลังงานที่นี่ ล้วนตอบโจทย์ทั้ง พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก และพลังงานแห่งอนาคตแทบทั้งสิ้น
วางโครงสร้าง โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาด หมุนเวียนใช้ใน วังจันทร์วัลเลย์
“GPSC” หรือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ได้เข้ามาร่วมจับมือเป็นพันธมิตรกับวังจันทร์วัลเลย์ ด้วยการใช้พื้นที่ EECi สร้างโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาด 0.5 เมกะวัตต์ ไว้สำหรับเป็นพลังงานสะอาดที่จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านด้านการใช้พลังงานในรูปแบบปัจจุบัน
โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก (Net Zero Carbon Emissions) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goal (SDGs) ของกลุ่ม ปตท.
ทั้งนี้ รูปแบบการผลิตพลังงานสะอาดด้วยโซลาร์เซลล์ในโครงการนี้ ติดตั้ง 2 รูปแบบ ก็คือ Solar Farm และ Solar Rooftops ที่มีขนาดรวมกันประมาณ 2.5 MW เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยังมีแผนใช้พื้นที่ว่างในพื้นที่เฟส 2 เพื่อติดตั้ง Solar Farm เพิ่มอีก 2 MW สำหรับใช้บริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางของโครงการด้วย
Smart Grid + Smart Meter + Energy Management สมการความมั่นคงของพลังงานใน วังจันทร์วัลเลย์
เมื่อโลกต้องการพลังงานที่สะอาดปราศจากมลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึงและหาได้ง่าย แต่การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในบางครั้งยังคงต้องใช้ต้นทุนที่สูงและไม่มีความเสถียรในการทำงาน รวมถึงกำลังการผลิตที่ไม่มากพอ ExpresSo กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสร้างสรรค์ จึงได้เข้ามาลุยในเรื่องนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
โดยได้ลงทุนในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) กับ Sunfolding บริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ลักษณะแกนเดียว (Technology Solar Tracker) เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ และช่วยลดการสูญเสียพลังงานในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาพลังงานสะอาดของ ปตท.
ทั้งนี้ อุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ที่ว่านี้สามารถคำนวณปรับแกนหมุนได้ตามทิศทางของดวงอาทิตย์ เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับพลังงานอย่างเต็มที่และช่วยให้ผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวอุปกรณ์สามารถติดตั้งได้ในทุกสภาพพื้นที่ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
สำหรับข้อดีของอุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ (Technology Solar Tracker) มีดังนี้
- ช่วยเพิ่มรายได้และผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด สำหรับหน่วยงานและธุรกิจ
- ลดค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาที่ต่ำ สำหรับภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ
- สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15% ให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง
อีกทั้งในส่วนของการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่ได้นำเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับระบบไฟฟ้าที่ครอบคลุมขั้นตอนตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งและจำหน่ายไฟฟ้า จนถึงผู้ใช้งาน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆ และครัวเรือน ตลอดจน Solar Farm ซึ่งจะช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์จะได้รับการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) เพื่อวัดผลการใช้พลังงานในแต่ละพื้นที่ และสามารถแสดงผลแบบ Real-time ให้กับหน่วยงานหรือฝ่ายต่างๆ ได้ทันที รวมถึงข้อมูลย้อนหลังได้ เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ปรับปรุง วางแผนการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบันอุปกรณ์ติดตั้งของ Sunfolding ตั้งอยู่ที่โซลาร์ฟาร์มของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) จังหวัดระยอง (บริษัทในเครือของ GPSC) ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินของ Sunfolding มีประโยชน์อย่างมากสำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
เช่น การพัฒนาการเกษตร การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการพาณิชย์ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สะอาดให้ยั่งยืน รวมทั้งสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในอนาคตต่อไป
และอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่หลายคนจะได้พบเห็นที่นี่แน่นอน นั่นคือ ระบบการเดินทางภายในเมืองเป็นไปในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรถประจำทางไฟฟ้า (EV Shuttle Buses) และการให้บริการ EV Charging Stations เพื่อสนับสนุนการเดินทางโดยใช้พลังงานทางเลือกด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2022/02/15/smart-energy-city-wangchan-valley/