เปิด 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตผู้คน ภาคธุรกิจ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2567
เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และตอบโจทย์ความสะดวกสบายของคนในยุค “ดิจิทัล เฟิร์ส” ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือสำคัญทางธุรกิจ ทั้งเพิ่มขีดความสามารถ, สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ และการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ นอกจากนี้เทคโนโลยียังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิต
ดิจิทัลเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ และคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตผู้คน ภาคธุรกิจ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2567
AI เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
เชื่อว่าในปี 2567 เทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง และเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้มากสุด ทั้งการใช้งานส่วนบุคคล และภาคธุรกิจ โดยการแข่งขันของยักษ์เทคโนโลยี 2 ราย คือ ไมโครซอฟท์ ทุ่มหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าลงทุนใน Open AI ผู้พัฒนา Chat GPT และกูเกิล เปิดตัว Google Bard AI มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “Bard” เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 Bard สามารถช่วยค้นหาข้อมูล, ทำงานวิจัย, คิดค้นไอเดียใหม่ ๆ, และมีระบบช่วยบริหารจัดการธุรกิจ โดยผู้ใช้งานสามารถ Login ผ่านบัญชี Google Workspace เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกใหม่จะเป็นตัวเร่งให้การพัฒนา AI รวดเร็วขึ้น โดยในปี 2567 จะเห็นผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์ ที่มีความสามารถด้าน AI ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับกูเกิล ที่มีการพัฒนา และประกาศอัพเดทความสามารถของ Bard ออกมาสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการ AI ต่อเนื่อง
ในมุมขององค์กร ด้วยความฉลาดของ AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นตัวเร่งให้องค์กรมีการลงทุน AI เพื่อสร้างความได้เปรียบการแข่งขัน และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการมากขึ้น โดย AI ที่มองว่าเป็นเทรนด์ปี 2567 คือ Predictive AI หรือ AI ที่นำชุดข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ เช่นการพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์การอนุมัติสินเชื่อ คำนวณปริมาณสินค้าคงคลัง และ Responsible AI หรือ AI ที่ไว้วางใจได้ เป็นเรื่องของการพัฒนา AI ให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมโดยไม่ขัดกับจริยธรรม และมาตรฐานของสังคม
เทคโนโลยีแห่งความยั่งยืน
หลายองค์กรเริ่มตื่นตัวกับกฎ กติกาโลกที่เปลี่ยนไป และมุ่งเน้นเรื่องของ ESG (Environment, Social, และ Governance) มาใช้ในการทำธุรกิจกันมากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็น Net zero carbon โดยเทคโนโลยีถูกนำมาใช้หลากหลายตั้งแต่การออกแบบผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล หรือ การผลิตที่ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน หรือเทคโนโลยีการตรวจจับคาร์บอน การคำนวณคาร์บอนเครดิต การขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เทคโนโลยีพลังงานสะอาดกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ในปี 2567 Sustainable Technology รวมถึงวิธีการทำสิ่งๆ ต่างที่เราคยทำอยู่แล้วโดยคำนึงถึงธรรมชาติมากขึ้น เช่น รถยนต์ และจักรยานไฟฟ้า และขนส่งสาธารณะ ที่จะเข้ามามีบทบาทมาก นอกจากนี้ยังรวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบใหม่อีกด้วย เช่น การตรวจจับ และจัดเก็บคาร์บอน และพลังงานสีเขียว รวมถึงพลังงานทดแทน อีกทั้งแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) จะเข้ามาเป็นแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทนทาน รีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
รวมถึงในโลกของเทคโนโลยีจะเปิดรับกับแนวคิดเรื่องของ Green cloud computing ซึ่งโฟกัสที่การทำให้โครงสร้างพื้นฐาน และบริการลดการบริโภคพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอน และในเรื่องของการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างยั่งยืน (Sustainable application) ที่เป็นเครื่องมือซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีอวกาศเปิดโอกาสใหม่ๆ
เทคโนโลยีอวกาศเป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ เทคโนโลยีอวกาศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะเปิดโอกาสใหม่ๆ มากมาย เช่น การท่องเที่ยวในอวกาศ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์และการเรียนรู้ใหม่ๆ นอกจากนี้ เทคโนโลยีอวกาศยังสามารถใช้สื่อสารกับดาวเทียม ซึ่งสามารถช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกันทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ทำเหมืองแร่นอกโลก ซึ่งสามารถเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญสำหรับอนาคต
สำหรับไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี เป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมธุรกิจและสตาร์ทอัพที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศยุคใหม่เช่น ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก และไทยควร มีดาวเทียมมากกว่า 1 หรือ 2 ดวง หรือมีฝูงดาวเทียม ที่สามารถนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการประเทศ ลดการจัดซื้อดาวเทียม และข้อมูลดาวเทียมจากต่างประเทศปีละ 60,000 ล้านบาท
IoT จิ๋วแต่แจ๋ว สร้างโอกาสธุรกิจ
Tiny Ambient IoT (AIoT) เป็นเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ( IoT) โดยรอบขนาดจิ๋ว ช่วยให้สามารถติดแท็ก ติดตาม และตรวจจับทุกสิ่งได้โดยไม่ต้องใช้ความซับซ้อนหรือต้นทุนของอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานจาก แบตเตอรี่ ผลลัพธ์ที่ได้คือความสามารถในการรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ในรูปแบบหลากหลายมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ตํ่ากว่าในอดีต
Tiny Ambient IoT จะทำให้เกิดระบบนิเวศใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่โดยอาศัยการรู้ตำแหน่งหรือพฤติกรรมของวัตถุ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นพร้อมพฤติกรรมใหม่ และค่าใช้จ่ายในการติดตามที่ตํ่ากว่ามาก IoT ขนาดเล็กจะขยายโอกาสให้กับธุรกิจที่หลากหลาย
หุ่นยนต์อัตโนมัติปรับเปลี่ยนได้
โดรนและหุ่นยนต์อัตโนมัติแบบปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive Autonomic Drones and Robots: AADR) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งผสานความสามารถของโดรนและหุ่นยนต์เข้ากับระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติที่ปรับตัวได้เอง AADR มีศักยภาพที่จะปฏิวัติหลายอุตสาหกรรม เช่น การค้นหาและกู้ภัย การตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และการขนส่งโดย AADR สามารถปฏิบัติงาน เรียนรู้ และเข้าใจเป้าหมายได้อย่างมีอิสระ ระบบเรียนรู้และระบบปรับตัวอัตโนมัติจะมีความสำคัญหากเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ได้รับการสเกล เพื่อให้บรรลุศักยภาพสูงสุด
แหล่งข้อมูล