โลกเราจะต้านทานความเสี่ยงจาก Generative AI ได้หรือไม่

Share

Loading

นอกเหนือจากความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่รบกวนโลกมานานหลายศตวรรษแล้ว การเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวงกว้างยังก่อให้เกิดภัยคุกคามใหม่ๆ ที่น่าหวั่นวิตกเป็นอย่างมาก เราจึงควรจับตาความเสี่ยงใหม่ๆ จาก Generative AI ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสสูงที่จะคุกคามต่อเสถียรภาพของระเบียบโลก

รายงานความเสี่ยงทั่วโลกของ World Economic Forum ฉบับปี 2024 จัดอันดับภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดที่โลกเราเผชิญในระยะสั้น (2 ปี) และยังช่วยให้เรามีมุมมองระยะยาวเกี่ยวกับภูมิทัศน์ความเสี่ยง (10 ปี)

โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการจากรายงานของปีที่แล้ว และทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแพร่หลายและการใช้งานในทางที่ผิดของ Generative AI หนึ่งในความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ที่ได้รับการจัดอันดับว่ารุนแรงที่สุดในระยะสั้นที่เราต้องเร่งหาหนทางรับมือและแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

1. ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูล

ข้อมูลที่ถูกดัดแปลง ปลอมแปลง และถูกบิดเบือนถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นที่รุนแรงที่สุดที่โลกเผชิญ ตามรายงานความเสี่ยงทั่วโลกปี 2024

ในอีกสองปีข้างหน้า ข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือนข้อมูลจะกลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อกระบวนการประชาธิปไตย

ประชาชนเกือบ 3,000 ล้านคนทั่วโลกมีกำหนดเข้าร่วมการเลือกตั้ง กล่าวคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีกำหนดลงคะแนนเสียง

“ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการบิดเบือนข้อมูลอาจขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งอย่างรุนแรงในหลายประเทศ” รายงานนี้ระบุ

การหยุดชะงักนี้อาจก่อให้เกิดความไม่สงบและการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังจะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจสื่อและแหล่งข่าวของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือนข้อมูลยังจะทำให้มุมมองแบบแบ่งขั้วลึกซึ้งยิ่งขึ้นในสังคมที่มักแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบดุดันและก้าวร้าวอยู่แล้ว

ความเสี่ยงที่นำเสนอโดยข้อมูลที่ผิดและข้อมูลที่บิดเบือนนั้นถูกขยายขอบเขตโดยการนำ Generative AI มาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อผลิต “เนื้อหาสังเคราะห์” ครอบคลุมตั้งแต่วิดีโอ Deepfake การโคลนเสียง และการผลิตเว็บไซต์ลอกเลียนแบบ และในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่างๆ กำลังดำเนินการเพื่อสร้างกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมการใช้ AI ในทางที่ผิด แต่ความเร็วที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้ามีแนวโน้มที่จะแซงหน้ากระบวนการดังกล่าว

2. ผลลัพธ์ด้านลบของเทคโนโลยี AI

นอกเหนือจากภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยและความสามัคคีทางสังคมแล้ว ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นจาก AI ยังเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งที่จะนำเสนอในรายงานความเสี่ยงทั่วโลกปี 2024

ในกรอบเวลา 2 ปีของรายงาน ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI อยู่ในอันดับที่ 29 ในด้านความรุนแรง แต่เมื่อผ่านไป 10 ปีข้างหน้า ภัยคุกคามนี้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 เนื่องจาก AI ฝังตัวอยู่ในทุกแง่มุมของสังคม นอกเหนือจากการแพร่กระจายข้อมูลเท็จแล้ว ความเสี่ยงนี้ยังรวมถึงการสูญเสียงานจำนวนมาก จากการนำ AI มาเป็นอาวุธเพื่อใช้ในกองทัพ และการใช้ AI ทางอาญาเพื่อโจมตีทางไซเบอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI เพิ่มเติมนั้นควรมีแนวทางการควบคุมที่ระมัดระวัง แต่จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าจะหนักไปทางสนับสนุนนวัตกรรมมากกว่าความระมัดระวังในการพัฒนาซึ่งนั่นเป็นสัญญาณร้ายว่า โลกเรากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจาก AI ที่สร้างขึ้นโดยปราศจากแนวทางดังกล่าว

3. ความเข้มข้นและความกระจุกตัวของเทคโนโลยี

AI กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะเทคโนโลยีที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพัฒนามา โดยมีการใช้งานที่มีศักยภาพมากมายทั้งในพลเรือนและทหาร

รายงานความเสี่ยงทั่วโลกปี 2024 ทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับธรรมชาติของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทรงพลังและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยระบุว่า “การผลิตเทคโนโลยี AI นั้นมีความเข้มข้นสูงและความกระจุกตัวที่น่ากังวลในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและประเทศเพียงไม่กี่แห่ง สิ่งนี้สร้างความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า”

ความเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติในการพัฒนา AI ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการแย่งชิงส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุและเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ต่อต้านการแข่งขันเพื่อเพิ่มผลกำไร

ทั้งนี้ การขาดความหลากหลายในผู้จำหน่ายและ/หรือซัพพลายเออร์ที่สำคัญทำให้องค์กรมีความเสี่ยงในหลายประการ

ประการแรก ซัพพลายเออร์หรือผู้จำหน่ายจะประสบกับความขัดข้องหรือติดขัดในการให้บริการ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ที่อาจเป็นการละเมิดความปลอดภัย การขาดแคลนห่วงโซ่อุปทาน หรือการหยุดชะงักในรูปแบบอื่น ส่งผลให้ซัพพลายเออร์หรือผู้ขายไม่สามารถให้บริการหรือเทคโนโลยีของตนได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องให้องค์กรที่ต้องอาศัยซัพพลายเออร์หรือผู้จำหน่ายรายนั้นประสบปัญหาเช่นกัน สุดท้ายผลที่ตามมาอาจเป็นหายนะ ที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการสูญเสียรายได้และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง

ประการที่สอง ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสำหรับแต่ละองค์กรเท่านั้น แต่ผลที่ตามมาอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งหมด

การวิเคราะห์จาก World Economic  Forum ชี้ว่ามีเพียง 12% ของบริษัทชั้นนำระดับโลกเท่านั้นที่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในอนาคต ในขณะ 88% ต้องการมาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความยืดหยุ่น

ตัวอย่างล่าสุดของความเสี่ยงในการกระจุกตัวในห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ คือ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในปัจจุบัน

TSMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เบอร์หนึ่งของโลกจากไต้หวัน ผลิตชิปที่ทันสมัยที่สุดประมาณ 90% ที่พบในสมาร์ทโฟน โปรเซสเซอร์ระดับไฮเอนด์ และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลายเป็นปัญหานับตั้งแต่นั้นมา

การขาดแคลนชิปทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ในครัวเรือน ธนาคาร การดูแลสุขภาพ การผลิต และแม้แต่การบินและอวกาศ ได้รับผลกระทบและชะลอตัวลง

นี่เป็นตัวอย่างของความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในระดับโลก แม้ในขณะนี้ TSMC กำลังเร่งสร้างโรงงานใหม่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ทันกับความต้องการ แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาและความต้องการชิปทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตามรายงานนี้ สหภาพยุโรปกำลังพิจารณากฎระเบียบเพื่อควบคุมอำนาจของ “ผู้เฝ้าประตูดิจิทัล” เพื่อให้มั่นใจว่ามีการแข่งขันที่ยุติธรรมในการพัฒนา AI

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า AI มีศักยภาพมหาศาลในการยกระดับประสบการณ์ของมนุษย์ในขอบเขตที่กว้างและหลากหลาย เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และความบันเทิง ฯลฯ แต่ตามที่รายงานความเสี่ยงทั่วโลกปี 2024 เน้นย้ำว่า “เทคโนโลยีเกิดใหม่นี้กำลังสร้างความเสี่ยงใหม่ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการอย่างรอบคอบ อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญในทศวรรษต่อๆ ไป”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/01/15/global-risks-from-generative-ai/