โรงพยาบาลจุฬาฯ เปิดตัว Mr.SAM หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก ทดแทนการทำงานของคน สามารถลงทะเบียน ให้ข้อมูล รวมถึงคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้แล้ว!
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมเปิดปฏิบัติการ “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก” ประยุกต์ฟังก์ชันการใช้งาน อำนวยความสะดวกกับประชาชน โดย ฝ่ายผู้ป่วยสัมพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดงานเปิดตัวหุ่นยนต์ Mr.SAM เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนผู้มารับบริการภายในโรงพยาบาล โดยภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “เทคโนโลยีกับการบริการทางการแพทย์” โดย รศ.ดร.นพ.ม.ล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฝ่ายบริการ พร้อมด้วย อ.พญ.สุทธ์ศรี กอแก้ววิเชียร อนุกรรมการเครือข่าย เขตสุขภาพที่ 13 และ คุณจิมมี่-จิตรพล โพธิวิหค นักแสดงในสังกัด GMMTV
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดนวัตกรรมโดยนำหุ่นยนต์มาใช้อำนวยความสะดวกและให้บริการผู้ป่วยนอก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ให้ก้าวล้ำทันสมัย มีมาตรฐานสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงพยาบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มารับบริการ รวมถึงเป็นการลดขั้นตอนการบริการต่างๆ เพื่อให้มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลาดูแลผู้ป่วยที่เร่งด่วนได้อย่างต่อเนื่องใกล้ชิด การนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยึดมั่นช่วยกันพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ ทางการแพทย์ มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และได้รับประโยชน์สูงสุดในด้านการรักษาต่อไป
ทางด้าน รศ.ดร.นพ.ม.ล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันวิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์และมีความสำคัญมากขึ้นหลายด้าน จะเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข พบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ช่วยอำนวยความสะดวก ลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ป้องการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ทางฝ่ายผู้ป่วยสัมพันธ์ได้จัดงานเปิดปฏิบัติการ “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก” เพื่อประชาสัมพันธ์การบริการผ่านนวัตกรรมหุ่นยนต์ในส่วนงานของ OPD โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และให้ความรู้เรื่องระบบบริการทางการแพทย์กับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ให้กับบุคลากรหน่วยงานต่างๆ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รวมไปถึงประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมการประกวดการตั้งชื่อหุ่นยนต์ขึ้น และมีผู้สนใจส่งรายชื่อเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหุ่นยนต์ดินสอที่ให้บริการผู้ป่วยนอกนี้มีชื่อว่า Mr.SAM
นับเป็นโอกาสอันดี ที่ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงาน รวมถึงคุณจิมมี่-จิตรพล โพธิวิหค นักแสดงในสังกัด GMMTV ที่มาร่วมนั่งเสวนาในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักกับ “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก Mr.SAM” นวัตกรรมที่จะทำให้ผู้มารับบริการของโรงพยาบาล ได้รับประโยชน์จากการใช้งานผ่านหุ่นยนต์ได้ด้วยตนเอง เป็นการลดขั้นตอนการรอเข้ารับบริการและพบเจอเจ้าหน้าที่
อ.พญ.พรจิรา ศุภราศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านบริการผู้ป่วยนอก และ หัวหน้าฝ่ายผู้ป่วยสัมพันธ์ ได้เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีกับการบริการทางการแพทย์เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน ดังนั้น ฝ่ายผู้ป่วยสัมพันธ์จึงได้นำ “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก Mr.SAM” จำนวน 5 ตัว มาใช้ในการให้บริการและพร้อมเตรียมพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต
ประโยชน์ของ “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก Mr.SAM” ต่อผู้มารับบริการ
- ทำหน้าที่ลงทะเบียนสร้างเลขประจำตัวผู้ป่วย (HN.) ใหม่พร้อมถ่ายรูปเพื่อยืนยันตัวตน กับ “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก Mr.SAM” ได้ด้วยตนเองเลย โดยไม่ต้องพบเจอกับเจ้าหน้าที่ สามารถทำได้ด้วยตนเองเบ็ดเสร็จ ตามขั้นตอนที่หุ่นยนต์แจ้ง ทำให้สะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอนในการรอคิวเพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ ทั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำบริการ การใช้งานหุ่นยนต์ ไม่เพียงเท่านั้น “หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก Mr.SAM” ยังสามารถเคลื่อนย้ายให้บริการลงทะเบียนนอกสถานที่โรงพยาบาลได้ด้วยเช่นกัน
- ช่วยแนะนำบริการและให้ข้อมูลต่างๆ กับผู้มารับบริการภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หากไม่เข้าใจขั้นตอนการบริการหรือไม่ทราบเส้นทาง สามารถค้นหาข้อมูลกับ“หุ่นยนต์ให้บริการผู้ป่วยนอก Mr.SAM” ได้เลย อาทิ สอบถามเส้นทาง, ห้องน้ำ, สถานที่ต่างๆ ภายในโรงพยาบาล เป็นต้น
- ช่วยคัดกรองอาการผู้ที่มารับบริการครั้งแรกหรือมาผิดนัดพบแพทย์ ซึ่งเดิมผู้มารับบริการจะต้องพบพยาบาลเพื่อทำการซักประวัติ และคัดกรองอาการเบื้องต้นก่อนส่งขึ้นชั้นตรวจทุกราย ซึ่งในบางช่วงเวลาหรือบางวันมีปริมาณผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ผู้รับบริการต้องใช้เวลารอคอยรับบริการนาน
จากเหตุนี้ ฝ่ายผู้ป่วยสัมพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะดำเนินการพัฒนาโปรแกรมในหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดขั้นตอนบริการให้กับผู้มาใช้บริการภายในโรงพยาบาลได้สำเร็จฉับไว ในอนาคตจะเริ่มทดลองใช้งานให้หุ่นยนต์ช่วยคัดกรองอาการและ triage อาการเร่งด่วนฉุกเฉินได้ จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วยในเคสที่ไม่ซับซ้อนจะสามารถส่งขึ้นพบแพทย์ได้เลย ทำให้การบริการรวดเร็วขึ้น
แหล่งข้อมูล