แผ่นแปะอัจฉริยะ รองรับการจ่ายยาอัตโนมัติผ่านสมาร์ทโฟน

Share

Loading

แผ่นแปะอัจฉริยะ รองรับการจ่ายยาอัตโนมัติผ่านสมาร์ทโฟน การนำส่งยาผ่านผิวหนัง เป็นอีกรูปแบบการจ่ายยาที่ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น ด้วยประสิทธิภาพในการจ่ายยาในระยะยาวและความใช้งานง่าย แต่เรากำลังจะล้ำไปอีกขั้นด้วยแผ่นแปะอัจฉริยะที่สั่งจ่ายยาผ่านสมาร์ทโฟน

เมื่อพูดถึงการจ่ายยาเข้าสู่ร่างกายคนส่วนใหญ่มักนึกถึงยาทานหรือไม่ก็ยาฉีด ถือเป็นแนวทางมาตรฐานในขั้นตอนรักษาพยาบาลที่มีการใช้งานกันทั่วไป อย่างไรก็ตามแนวทางการจ่ายยาทั้งสองรูปแบบต่างมีข้อจำกัด นำไปสู่การพัฒนาแนวทางจ่ายยารูปแบบใหม่อย่าง การนำส่งยาผ่านผิวหนัง

หลายท่านอาจเข้าใจว่าการจ่ายยาทางผิวหนังคือการทายา คล้ายกับการรักษาโรคผิวหนังหรือบรรเทาอาการปวดเมื่อย แต่อันที่จริงผิวหนังถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางจ่ายยาที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้เราสามารถทำการรักษาโรคหลายชนิดได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

วันนี้เราจึงมามาลงรายละเอียดเกี่ยวกับการนำส่งยาผ่านผิวหนังกันเสียหน่อย

การนำส่งยาผ่านผิวหนัง อีกหนึ่งแนวทางจ่ายยา

การนำส่งยาผ่านผิวหนัง หรือ Transdermal drug delivery systems (TDDS) เป็นช่องทางการส่งยาผ่านผิวหนังสู่ร่างกาย อาศัยการดูดซึมผ่านผิวหนังเพื่อส่งตัวยาที่ต้องการเข้าสู่กระแสเลือดหรืออวัยวะที่กำหนด ถือเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการรับประทานหรือการฉีดยา

กลไกการทำงานของการจ่ายยารูปแบบนี้คือ การใช้งานแผ่นแปะที่ออกแบบเพื่อจ่ายยาโดยเฉพาะ เมื่อทำการแปะแผ่นแปะลงบนผิวหนังจะทำการปล่อยตัวยาออกมา ตัวยาจะแทรกซึมผ่านผิวหนังชั้นนอก หนังกำพร้า ไปจนหนังแท้ ก่อนเริ่มดูดซึมเข้าสู่เซลล์ผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป

จุดเด่นของการนำส่งยาทางผิวหนังมีหลายด้าน เมื่อเปรียบเทียบกับยาทาน เราไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการกลืนยาเม็ดของผู้ป่วย, ไม่จำเป็นต้องคอยจำว่าเป็นยาก่อนหรือหลังอาหาร อีกทั้งยังช่วยให้โปรตีนหรือเปปไทด์ภายในยาบางชนิดไม่ถูกย่อยสลายผ่านระบบทางเดินอาหาร

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับยาฉีดแม้จะมีรูปแบบใกล้เคียง แต่การนำส่งยาผ่านผิวหนังไม่ต้องใช้เข็ม ทำให้เป็นมิตรต่อผู้ป่วยมากกว่าเนื่องจากไม่เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องพึ่งพาผู้มีทักษะทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและผลข้างเคียงจากตัวยาในหลายด้าน

ส่วนสำคัญที่สุดของการนำส่งยาผ่านผิวหนังคือใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องพึ่งเข็มฉีดยาหรือหาน้ำดื่มตามให้ยุ่งยาก เพียงทำผิวหนังบริเวณนั้นให้สะอาดแล้วแปะเข้าไปก็อยู่ได้เป็นเวลานาน เช่น การใช้แผ่นแปะนิโคติน, ยาแก้ปวดสำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ, ยาคุมกำเนิด หรือยารักษาอาการทางประสาท เป็นต้น

แต่เรากำลังจะล้ำไปอีกขั้นเมื่อมีแผ่นแปะอัจฉริยะที่สั่งจ่ายยาได้ผ่านสมาร์ทโฟน

แผ่นแปะอัจฉริยะที่สามารถสั่งจ่ายยาผ่านสมาร์ทโฟน

ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of North Carolina กับการพัฒนาแผ่นแปะรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงส่งผ่านยาผ่านผิวหนังสู่ร่างกาย แต่ยังสามารถออกคำสั่งให้ทำการจ่ายยาจากระยะไกลผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ที่สามารถกำหนดเวลาและปริมาณการจ่ายยาได้ดังใจ

ตามปกติการจ่ายยาผ่านแผ่นแปะจะทำงานตามกลไกเมื่อเริ่มแปะลงไปบนผิวหนัง ตัวยาจะถูกดูดซึมสู่ร่างกายตามปริมาณที่กำหนดโดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ทำให้แม้แผ่นแปะยาจะเหมาะสำหรับใช้ในการจ่ายยาเป็นเวลานาน แต่ขาดความยืดหยุ่นต่อการใช้งาน

นำไปสู่การพัฒนาแผ่นแปะนำส่งยาผ่านผิวหนังรุ่นใหม่ Spatiotemporal On-Demand Patch (SOP) เป็นแผ่นแผ่นแปะที่มีเข็มขนาดจิ๋วสำหรับการจ่ายยาแบบเดียวกับแผ่นแปะทั่วไป แต่ตัวเข็มจะถูกเคลือบด้วยอนุภาคทองคำ เพื่อป้องกันไม่ให้ยาสัมผัสกับเนื้อเยื่อก่อนเวลาที่กำหนด

ขั้นตอนการทำงานของแผ่นแปะนี้เริ่มจากการออกคำสั่งส่งสัญญาณไฟฟ้า เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสัญญาณไฟฟ้าแรงดันต่ำสารเคลือบจะคลายตัว ปล่อยให้เข็มบนแผ่นแปะสัมผัสกับผิวหนังและเริ่มต้นจ่ายยาได้ภายในเวลา 30 วินาที จึงสามารถสั่งใช้ในการจ่ายยาในกรณีฉุกเฉินทางสุขภาพได้

ลำดับต่อมาคือแผ่นแปะ SOP ที่ได้รับการออกแบบมีความแม่นยำในการทำงานสูง ทำให้แผ่นแปะแต่ละแผ่นสามารถบรรจุยาได้มากกว่าหนึ่งชนิด ตั้งเวลาให้จ่ายยาเข้าสู่ร่างกายตามลำดับและเวลาที่กำหนดได้ จึงสามารถนำไปปรับแต่งไว้ใช้กับการรักษาโรคได้หลากหลายรูปแบบ

ด้วยกลไกการทำงานของแผ่นแปะนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งยา ลดความจำเป็นในการใช้ยาที่มากเกินไปเสี่ยงนำไปสู่ผลข้างเคียง ช่วยให้การส่งยาหลายชนิดทำได้ตรงเป้าและแม่นยำมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาหลงลืมและสับสนในการกินยาหลายชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

เราได้รู้กันไปแล้วว่าแผ่นแปะนำส่งยาผ่านผิวหนังนำไปใช้รักษาโรคได้หลากหลาย แต่แผ่นแปะ SOP จะยิ่งเพิ่มขอบเขตการใช้แผ่นแปะให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำไปใช้ในการจ่ายยานอนหลับ หรือจ่ายยาต้านการอักเสบของระบบประสาทต่อไป

อย่างไรก็ตามการพัฒนาแผ่นแปะชนิดนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ปัจจุบันแผ่นแปะ SOP ทำได้เพียงควบคุมปริมาณและระยะเวลาการปล่อยยาเป็นหลัก สำหรับการจ่ายยาหลายชนิดอย่างแม่นยำตามลำดับยังเป็นส่วนที่ต้องได้รับการทดสอบอีกพักใหญ่จึงสามารถนำมาใช้งานจริง

แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตแผ่นแปะนี้อาจช่วยให้เราไม่ต้องกินยาเม็ดอีกต่อไปก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/705220