แทนที่จะใช้โครงสร้างสูงตระหง่านที่คุ้นเคยซึ่งมีใบมีดหมุนได้ ลองนึกภาพกังหันลมขนาดกะทัดรัดในรูปทรงตารางหกเหลี่ยม ลักษณะคล้ายรวงผึ้งเกาะอยู่บนยอดอาคารหรือรวมเข้ากับโครงสร้างที่มีอยู่ในเมือง จึงมีความยืดหยุ่น และไม่เกะกะ ทั้งยังมีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตและปรับใช้จำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีอายุการใช้งานยาวนานด้วยการบำรุงรักษาเพียงเล็กน้อย
นี่คือแก่นแท้ในการออกแบบของ Katrick Technologies ซึ่งแตกต่างไปจากกังหันลมแบบเดิมๆ ทั้งในรูปแบบและการใช้งาน กังหันลมหรือแผงลมเหล่านี้ควบคุมพลังลมผ่านแอโรฟอยล์ที่สั่นสะเทือน ซึ่งห่างไกลจากใบพัดหมุนที่เราคุ้นเคย
ในขณะที่บริษัทต่างๆ เร่งค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการควบคุมพลังงานที่ยั่งยืน สตาร์ทอัพที่ตั้งอยู่ในเมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ กำลังพัฒนานวัตกรรมกังหันลมแบบรังผึ้งไร้ใบพัด แตกต่างจากกังหันใบพัดหมุนที่สูงตระหง่านซึ่งครอบงำภูมิทัศน์ แนวคิดการพัฒนา Katrick Technologies นี้ เพื่อการสูดอากาศบริสุทธิ์โดยไม่ทำลายทัศนียภาพ ทั้งในด้านการออกแบบและการใช้งาน
หัวใจของเทคโนโลยีนี้คือแอโรฟอยล์ ซึ่งเป็นฮีโร่ในการออกแบบของ Katrick Technologies โดยใช้แอโรฟอยล์หลายชั้นที่ทำงานแยกจากกันเพื่อดึงพลังงานลมให้ได้มากที่สุด และแปลงเป็นการแกว่งเชิงกล จากนั้นการสั่นเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นไฟฟ้า ทำให้เกิดโซลูชั่นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ด้วยวิธีการนี้ ไม่เพียงแต่จับระดับลมที่ต่ำกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในสภาพที่มีลมแรงน้อยลง แต่ยังทำให้กังหันเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้งานได้ในพื้นที่ชนบทเช่นกัน
ปรัชญาการออกแบบของ Katrick Technologies มีรากฐานมาจากการสร้างสรรค์โซลูชันทางวิศวกรรมที่เป็นนวัตกรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกังหันลมแบบดั้งเดิมที่มีความต้องการที่ดินและการบำรุงรักษาค่อนข้างมาก มักก่อให้เกิดความท้าทายด้านโลจิสติกส์และการเงิน ในทางตรงกันข้าม กังหันแบบรวงผึ้งของ Katrick Technologies นำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนและคุ้มค่ากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภูมิประเทศในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด
กระนั้น กังหันไร้ใบพัด รวมถึงการออกแบบของ Katrick Technologies ต้องเผชิญกับความกังขาบางประการจากนักวิจารณ์ รวมถึง MIT Technology Review ที่ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่กังหันไร้ใบพัดอาจไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานเท่ากับกังหันแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เป็นนวัตกรรมของ Katrick Technologies หากได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งลดจุดด้อยต่างๆ อาจนำไปสู่อนาคตของพลังงานลมสำหรับครัวเรือนและพลังงานลมภายในเมืองได้ เพราะจากข้อมูลของบริษัทฯ ระบุว่าแผงลมที่ตั้งอยู่ริมถนนในระยะทางเพียง 1 กม. สามารถชาร์จรถยนต์ Tesla 90kW ได้ 80,000 คัน หรือจ่ายไฟให้บ้าน 760 หลังในแต่ละปี
นอกจากนี้ คุณสมบัติด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของการออกแบบก็ไม่สามารถมองข้ามได้ แอโรฟอยล์ที่เคลื่อนที่ช้ากว่าในโครงสร้างรวงผึ้งมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อนกน้อยกว่ากังหันแบบเดิม อีกทั้งการออกแบบที่ไม่เกะกะ คาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่ต่ำ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทำให้นวัตกรรมกังหันลมนี้ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการใช้งานในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด
กังหันลมของ Katrick Technologies เสร็จสิ้นการทดสอบต้นแบบรอบแรกในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังวางแผนการทดสอบและการติดตั้งรอบใหม่ภายในปี 2567 โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/02/06/bladless-wind-turbines-future-of-city-wind-energy/