ความต้องการใช้น้ำของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรสูงถึง 77% ของการใช้น้ำในแต่ละปี ซึ่งเป็นการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชเป็นหลัก ในปัจจุบัน นอกจากข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งน้ำ และระบบชลประทานเพื่อทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การควบคุมคุณภาพผลผลิตเกษตรทำได้ยาก
และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพในภาคเกษตรแล้ว กิจกรรมการจัดการน้ำของภาคเกษตรไทยยังมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 36% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในภาคเกษตรด้วย
การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก EEC เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่มีความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และการเพาะปลูกในระดับสูง โดยเฉพาะการเพาะปลูกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ทุเรียน มังคุด สมุนไพร นอกจากนี้รัฐยังมีแผนพัฒนาการเกษตรของ EEC โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้หนึ่งเท่าตัว ภายในปี 2580 ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ประกอบกับภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้การขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น
Climate Smart Water Management Solutions หรือการบริหารจัดการน้ำแบบอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่น่าสนใจ จากงานศึกษาเรื่อง Aggregate effect of the intended nationally determined contributions ของ UN ชี้ว่า การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุแผนการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแนวทางดังกล่าวนอกจากจะช่วยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยยกระดับผลิตภาพภาคเกษตรให้สูงขึ้น และเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางสีเขียวได้
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การยกระดับการบริหารจัดการน้ำแบบอัจฉริยะตามหลัก 4R โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ต้องใช้เงินลงทุนราว 5.1 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ยังต่ำกว่ามูลค่าความเสียหายของผลผลิตภาคเกษตรไทยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดราว 8.3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยแนวทาง 4R ได้แก่ 1. Recreate การผลิตน้ำขึ้นมาใหม่ เช่น เทคโนโลยีการผลิตน้ำจากอากาศ 2. Renewable การใช้ทรัพยากรน้ำแบบหมุนเวียน ด้วยการบำบัดทางชีวภาพ 3. Replace การใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น เทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และ 4. Reduce ลดการใช้น้ำ เช่น เทคโนโลยี IoT และการทำนาเปียกสลับแห้ง
การบริหารจัดการน้ำควรเป็นวาระเร่งด่วนของไทยที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยภาครัฐต้องเป็นแกนหลักในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำและระบบชลประทาน เพื่อให้การเข้าถึงแหล่งน้ำ และระบบชลประทานสำหรับการทำการเกษตรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การสร้างร่วมมือกันตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันวิจัยฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรไทยได้อย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูล