‘ระบบกักเก็บพลังงาน’ กุญแจสำคัญ ก้าวสู่ ‘พลังงานสะอาด’

Share

Loading

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ต้องอาศัยความร่วมมือในหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และอัปเดตเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์ยุคใหม่ โดยเฉพาะ EV ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น ‘ระบบกักเก็บพลังงาน’ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องได้รับการส่งเสริม

Key Point :

  • ระบบเก็บกักพลังงาน นับเป็นสิ่งสำคัญ ในการเตรียมความพร้อม เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเป้าหมายของไทยในการก้าวสู่ Net Zero ในปี 2065
  • TESTA ซึ่งมีเป้าหมายในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปสู่พลังงานสะอาด
  • ส่งเสริมความพร้อมเทคโนโลยี ความปลอดภัย ระเบียบ ข้อกำหนด อัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งเสริมบุคลากร ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ ไปจนถึงการจัดการหลังสิ้นอายุการใช้งาน

เทรนด์พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของโลกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างไรก็ตาม แหล่งพลังงานหมุนเวียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายคือ ความผันผวนที่ไม่สม่ำเสมอ

หัวใจสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาผนวกใช้ ทั้งในรูปแบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในโรงไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) กล่าวในงานแถลงข่าว ความร่วมมือกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ในการจัดการประชุม International Energy Storage Forum ในงาน Energy Storage Asia 2024 ว่า ระบบกักเก็บพลังงานจะเข้ามามีบทบาทในการก้าวเข้าสู่พลังงานสะอาด เริ่มตั้งแต่เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงานในบ้าน อุตสาหกรรม ฯลฯ

“เทรนดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโต 600% ในปีที่ผ่านมา และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง แบตเตอรี่ มีความสำคัญ เพราะเป็นชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเกิน 30% ของชิ้นส่วนมูลค่ายานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ดังนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้”

นอกจากนี้ การที่ประเทศเรามีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดย 50% ที่ต้องใช้พลังงานสะอาด รวมถึงเป้าหมายสู่ Net Zero ในปี 2065 แต่ความท้าทายจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนคือ ความผันผวนที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น หัวใจสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาผนวกใช้ ทั้งในรูปแบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในโรงงานไฟฟ้า

ส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่

ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งเสริมของสมาคมฯ สอดคล้องกับเป้าหมายประเทศคือ เดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด ต้องเข้าไปมีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมไปสู่พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องคือ ระบบกักเก็บพลังงาน

โดยภาครัฐส่งเสริมให้เกิดตลาด และสมาคมฯ เข้าไปให้ความเห็นว่าจะเกิดตลาดได้อย่างไร ความพร้อมเทคโนโลยี ส่งเสริมลูกค้าให้มั่นใจตลาดทั้งความปลอดภัย ระเบียบ ข้อกำหนด ให้เกิดการใช้งานที่ปลอดภัย รวมถึง อัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อม ส่งเสริมบุคลากร ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ รวมถึงการจัดการหลังสิ้นอายุการใช้งาน

แรงงานทักษะสูง ขาดแคลนทั่วโลก

สำหรับเรื่องแรงงาน เทรนด์ได้ หากเรามีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ปัญหาคือ แรงงานทางด้าน Battery Engineer ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูง และค่าแรงสูง ขาดแคลนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ขณะที่แรงงานทั่วไปที่ทำหน้าที่ประกอบ ผลิต ใช้ระบบออโตเมชั่นค่อนข้างเยอะ

ดังนั้น เทคโนโลยีการทำแบตเตอรี่ก็ต้องเปลี่ยนผ่านไปยังการผลิตที่ออโตเมชั่นมากขึ้น เนื่องจากมีความอันตราย และแม่นยำสูง จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง แรงงานที่ต้องการส่วนใหญ่จึงเป็นเอ็นจีเนียควบคุมเครื่องจักร หรือคนดูแลเครื่องจักร ซ่อม มากกว่าไม่ใช่แรงงานประกอบ

ผลักดัน จัดเก็บแบตเตอรี่ใช้แล้ว อย่างถูกต้อง

ขณะเดียวกัน เมื่อแบตเตอรี่สิ้นอายุการใช้งาน ระบบการกำจัดในประเทศไทยนั้น ดร.พิมพา อธิบายว่า ตอนนี้มีกฎหมายเรื่องของเสียอันตรายของกรมโรงงาน แต่เมื่อไปสู่มือผู้ใช้ จะมีการห้ามทิ้งของเสียอันตรายในสถานที่สาธารณะ แม่น้ำลำคลอง ซึ่งต้องอาศัยการกำกับดูแลที่ดี เพื่อให้มีการคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นสิ่งที่รีไซเคิลได้ เช่น ในต่างประเทศจะมีการส่งแบตเตอรี่ใช้แล้วในจุดทิ้งของเสียอันตราย

ในประเทศไทยขณะนี้มีภาคเอกชนที่ทำงานเรื่องนี้ร่วมกับภาครัฐ โดยมีกล่อง หรือ จุดรับต่างๆ โดยในส่วนของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มากไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะจะมีดีลเลอร์ดูแล แต่สิ่งที่น่ากังวล เช่น มอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กที่ใช้แบตเตอรี่ เสียแล้วจะไปทิ้งที่ไหน รวมถึงการกำจัดมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ต้องมาดูว่าจะสามารถผลักดันเช่นเดียวกับกฎระเบียบ WEEE (Waste Electrical and Electronic Equipment) มาตรการทิ้งเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้หรือไม่

ตอนนี้สมาคมฯ มีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนในการจัดการอย่างถูกต้อง การจัดเก็บแบตเตอรี่ เก็บให้มีความปลอดภัย การขนส่งต้องมีใบอนุญาตเฉพาะการขนส่ง เหมือนการขนส่งน้ำมัน และการกำจัดให้อย่างถูกต้อง และจัดการอย่างที่ควรจะเป็น โดยสมาคมฯ มีหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นจากสมาชิกที่มีกว่า 100 ราย เพื่อส่งต่อให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจ และร่วมผลักดัน

ทั้งนี้ สมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ก่อตั้งมาเป็นเวลา 4 ปี มุ่งเน้นความร่วมมือผู้ที่สนใจระบบกักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่ เชื้อเพลิง และอื่นๆ เพื่อนำพาประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีสมาชิก มากกว่า 100 ราย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ดูแลความปลอดภัย เครื่องมือ องค์กรเกี่ยวข้อง และผู้ใช้ เป็นต้น

เชื่อมต่ออุตสาหกรรม สร้างโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ – ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกตลาดพลังงานในประเทศไทยด้วยการจัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) งานนิทรรศการด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ครอบคลุมที่สุดในภูมิภาค ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพลังงานทั้งใน และต่างประเทศ ทำให้งานมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี

สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ – ประเทศไทย เผยว่า อินฟอร์มาฯ ทำงานร่วมกับทางสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) เป็นปีที่ 4 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมฯ ผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกันมากมาย โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการส่งต่อความรู้ และสนับสนุนให้กับภาคธุรกิจ เชื่อมโอกาสให้ระบบกักเก็บพลังงานเป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า เข้าไว้ด้วยกัน จึงขยายงานด้านระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage Asia โดยงานนี้จะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งให้งาน ASEW มีความครอบคลุมทุกด้านของพลังงานสะอาด

ในปีนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ พร้อมสานต่อ และขยายความร่วมมือกับสมาคมฯ ผ่านการลงนามการจัดประชุม International Energy Storage Forum เพื่อเป็นเวทีสำคัญระดับนานาชาติ ที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยที่มีความชำนาญทั่วโลก มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ และช่วยส่งเสริมความเข้าใจ ให้ทั้งผู้ประกอบการ นักลงทุน โดยจะเป็นสัมมนาหลักของงาน Energy Storage Asia 2024 แพลตฟอร์มทางธุรกิจที่รวบรวมนวัตกรรม และเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานล่าสุด จากบริษัทชั้นนำระดับโลก

“อินฟาร์มาฯ เชื่อว่า เวทีนี้จะตอกย้ำความแข็งแกร่งถึงความพร้อมของไทย สำหรับเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น” สรรชาย กล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1113245