การสื่อสารภายในระบบรถไฟฟ้ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเดินรถและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงแก้ปัญหาการสื่อสารไร้สายที่อาจเกิดขึ้นในระบบรถไฟฟ้าตามแนวเส้นทางที่เป็นโครงสร้างทางแบบใต้ดิน จึงได้มีการนำ Leaky Feeder Cable มาประยุกต์ใช้ในระบบรถไฟฟ้า
ทำความรู้จัก Leaky Feeder Cable
Leaky Feeder Cable คือสายส่งสัญญาณประเภทแพร่กระจายคลื่นวิทยุซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของสายส่งสัญญาณ (Transmission Line) ทำหน้าที่เป็นตัวรับ-ส่งสัญญาณไปสู่บริเวณโดยรอบ เพื่อใช้รองรับการสื่อสารภายในระบบรถไฟฟ้า โดยใช้หลักการทำงานของการแพร่ของคลื่นวิทยุ (Radio Wave) ผ่านร่องที่ถูกเจาะ (Slot) บนตัวนำชั้นนอก (Outer Conductor) ตลอดความยาวของสายส่งสัญญาณ
การสื่อสารไร้สายระหว่างขบวนรถไฟฟ้ากับแนวเส้นทางวิ่งถูกจัดเป็นองค์ประกอบหลักในระบบรถไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางอุโมงค์ โดยจากข้อมูลในต่างประเทศพบว่า การเดินทางในบริเวณดังกล่าวมีโอกาสการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการเดินทางในเส้นทางเปิดการใช้งาน Leaky Feeder Cable ในระบบรถไฟฟ้าสามารถพบเห็นได้ทั้งในระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างทางแบบใต้ดินและแบบยกระดับ ลักษณะและวิธีการติดตั้งจะเป็นการเดินสายส่งสัญญาณไปตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
องค์ประกอบหลักของระบบ Leaky Feeder ประกอบด้วยสถานีฐาน (Base Station) ทำหน้าที่หลักในการสื่อสารผ่านการเชื่อมต่อกับ Leaky Feeder Cable เพื่อรับส่งสัญญาณกับระบบวิทยุเคลื่อนที่ (Mobile) โดยอาจมีการลดทอนของระดับสัญญาณในสายส่ง (Insertion Loss) และอากาศ (Coupling Loss) ข้อดีของการใช้งาน Leaky Feeder Cable เช่น ภายในอุโมงค์เป็นพื้นที่ปิดและจำกัด อาจส่งผลให้เกิดการสะท้อน (Multipath) ของสัญญาณสื่อสารภายในอุโมงค์ในระดับสูง การสื่อสารจากขบวนรถไฟฟ้าผ่าน Leaky Feeder Cable โดยตรง จะช่วยลดการเกิดสัญญาณรบกวนจากสัญญาณสะท้อนดังกล่าว
นอกจากสภาพแวดล้อมแบบอุโมงค์แล้ว ยังสามารถนำมาใช้งานในสภาพแวดล้อมแบบเปิดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการรบกวนกันของสัญญาณสื่อสารไร้สายระหว่างระบบรถไฟฟ้าในโครงการต่าง ๆ
สำหรับการติดตั้ง Leaky Feeder Cableมีความเหมาะสมกับการนำมาใช้านในระบบรถไฟฟ้า โดยต้องการระยะห่างจากขบวนรถไฟฟ้าโดยประมาณเพียง 30 – 300 ซม. และในปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าในประเทศไทยที่ติดตั้ง Leaky Feeder Cable ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน
เรื่องโดย Dr.RailThink
ขอบคุณ
กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
อาคาร ณ ถลาง ชั้น 4 – 5 เลขที่ 514/1 ถนนหลานหลวง
แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต โทร 02 164 2626
admin@drt.go.th drt.go.th