กฎหมาย AI ควบคุมการใช้ AI สึนามิแห่งโลกยุคปัจจุบัน

Share

Loading

“สหภาพยุโรป” ผ่านการประชุมที่บรัสเซลส์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายกำกับดูแล AI ฉบับแรกของโลก The Artificial Intelligence Act (EU AI Act) และผ่านความเห็นชอบในเดือน ม.ค.2567

เทคโนโลยีกับโลกยุคปัจจุบันคงเป็นอะไรที่แยกออกจากกันไม่ได้ ในเมื่อมนุษย์เราต่างมองหาความสะดวกสบายเพื่อเข้ามาช่วยส่งเสริมคุณภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน

เป็นเช่นนี้ตลอดมานับแต่มนุษย์ยุคโบราณรู้จักการใช้ไฟ และการเพาะปลูก นำมาซึ่งการก้าวกระโดดของวิวัฒนาการผ่านการทำการเกษตรเพื่อดำรงชีพมากกว่าการพเนจรย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ตลอดจนการมีเครื่องพิมพ์ Gutenberg อันเป็นเครื่องพิมพ์แรกของโลกที่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ยุคฟื้นฟูครั้งใหญ่ (The Renaissance) ในช่วง 300 ปีต่อมารวมไปถึงการประดิษฐ์ปืน เข็มทิศ เครื่องจักร รถยนต์ และก้าวไปสู่ระบบ Internet ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบของเราอย่างเช่นในปัจจุบัน

ในทางกลับกันพลังของนวัตกรรมเหล่านี้ ไม่เพียงแค่ปลดล็อกโอกาสทางวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ แต่จะปลดปล่อยความท้าทายมหาศาลเช่นเดียวกัน เทคโนโลยีอาจเป็นพลังให้กับผู้ประสงค์ร้าย เขย่าให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังจะเผชิญในยุค “เอไอ”

ในเมื่อเหรียญย่อมมีสองด้าน จะเห็นได้ว่าเมื่อมนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้นวัตกรรมใด สิ่งที่ตามมาก็คือ “การควบคุมการใช้” นวัตกรรมนั้นไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสังคม

เช่นนี้ เราจึงมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืน กฎหมายจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายควบคุมวัตถุอันตราย หรือกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาเป็นกรอบในการปรับใช้และกำหนดกฎเกณฑ์ที่พึงกระทำได้ โดยมีบทลงโทษระบุไว้อย่างชัดเจนหากใช้ฝ่าฝืนต่อวัตถุประสงค์

คำถามที่ตามมาคือ ประชาคมโลก และประเทศไทย พร้อมขนาดไหนที่จะรับมือต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายใต้บริบทแห่งการควบคุมที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีการตอบสนองเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับเอไอ โดยในปี 2565 องค์กรนิติบัญญัติใน 127 ประเทศทั่วโลกได้อนุมัติกฎหมาย AI ไปแล้ว 37 ฉบับ

โดยเฉพาะ “สหภาพยุโรป” ผ่านการประชุมที่บรัสเซลส์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายกำกับดูแล AI ฉบับแรกของโลก The Artificial Intelligence Act (EU AI Act) และผ่านความเห็นชอบในเดือน ม.ค.2567

ทั้งนี้ เพื่อกำกับดูแลขอบเขตการใช้งานเอไอในบริษัทต่างๆ โดยจัดกลุ่มการใช้งานเอไอออกเป็น 4 ประเภทตามความเสี่ยง ตั้งแต่ความเสี่ยงระดับต่ำไปจนถึงความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตนำการใช้เอไอมาสร้างปัญหาและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพที่ปัจเจกชนพึงมีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายความว่า ข้อกำหนดของ AI Act จะพิจารณาจากความเสี่ยงและอิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ชนิดนั้นๆ ว่าจะมีอันตรายหรือสามารถส่งผลกระทบได้มากน้อยเพียงใด โดยข้อปฏิบัติและข้อกำหนดจะมีความเข้มงวดแตกต่างกันไปตามระดับความสามารถของเอไอแต่ละชนิด

สมาชิกของรัฐสภายุโรป (MEP) ได้กำหนดข้อห้าม 6 ประการ ที่ผู้ผลิตไม่สามารถนำเอไอไปใช้เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อ “สิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย” ของประชาชนในประเทศสมาชิก ประกอบด้วย

1 จัดหมวดหมู่บุคคลตามคุณลักษณะทางกายภาพหรือพฤติกรรม

2 การคัดลอกภาพใบหน้าเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางเทคโนโลยีจดจำใบหน้า

3 ระบบจดจำความรู้สึก

4 การให้คะแนนผ่านการเก็บข้อมูลทางพฤติกรรมบุคคล

5 ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ โดยให้เอไอตัดสินใจว่าสิ่งใดที่ควรกระทำไม่ควรกระทำ และ

6 การหาผลประโยชน์ผ่านเอไอโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม

ข้อจำกัดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวด และครอบคลุมการใช้เอไอทั้งในหรือนอกอาณาเขตสหภาพยุโรป ที่สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์แก่ประชาชนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามหาสมดุลแห่งการใช้เทคโนโลยีภายใต้ข้อกฎหมายที่กล่าวมาให้เป็นประโยชน์สูงสุด

สมาชิกของรัฐสภายุโรปจึงได้กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้หากการใช้นั้นเป็นไปเพื่อ “ค้นหาบุคคลที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรม” “ป้องกันภัยคุกคามจากการก่อการร้าย” และ “ค้นหาหรือระบุบุคคลที่ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมบางประเภท” เป็นต้น

แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดจากการใช้เอไอในอนาคต จึงสร้างหลักการเพื่อควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เฉกเช่นเดียวกับการมีกฎหมายควบคุมการมีอาวุธปืน รถยนต์ หรือคอมพิวเตอร์ นั่นเอง

สำหรับประเทศไทยมีความพยายามที่จะพลักดันให้เกิดแนวทางการใช้เอไอที่ชัดเจนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เห็นได้จากในปี 2565 รัฐบาลได้จัดการประชุมแผนปฏิบัติการด้านเอไอแห่งชาติฯ ครั้งแรก โดยกำหนดให้จัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และกำหนด “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทยปี 2565-2570”

ด้วยการบูรณาการความคิดเห็นร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เพื่อจัดทำนโยบายและร่างกฎหมาย เพื่อเป็นมาตรฐาน AI ของประเทศไทย ณ ปัจจุบันได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติการใช้เอไอ รวมถึงมี “(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการที่ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ พ.ศ….” “(ร่าง) ประกาศเรื่องการประเมินความเสี่ยงจากการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์” เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีว่าด้วยเอไอครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับวิวัฒนาการของมนุษย์ว่าจะก้าวผ่านความท้าทายอันเปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่กำลังถาโถมเข้าสู่การดำเนินชีวิตในทุกทิศทุกทางได้หรือไม่ และสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโอกาสในการพัฒนาที่ต่อยอดความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้ดีแค่ไหน หรือจะพ่ายแพ้ต่อการควบคุมนวัตกรรมดังกล่าว และนำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางคุณภาพชีวิต

เฉกเช่นที่เราเจออยู่ในปัจจุบันกับภาวะโรคร้อนและสภาวะแวดล้อมที่เป็นมลพิษ ที่มาจากการก้าวกระโดดทางอุตสาหกรรม

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1115716