กูรูแนะเทคนิคการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ ในยุค AI ครองเมือง

Share

Loading

ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถนำไปใช้เพิ่มศักยภาพของธุรกิจได้ในหลากหลายส่วน แต่ท่ามกลางความก้าวหน้าเหล่านี้ ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี ได้เพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

ความท้าทายและปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นจุดที่ทำให้องค์กรต่างๆ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการมีแนวทาง การใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Technology)

ดร. รีเบคกา พาร์สันส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Thoughtworks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก มองว่า ในขณะนี้ถึงเวลาที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ควรเริ่มให้ความสำคัญกับแนวทางการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน Generative AI เนื่องจากการขาดแนวทางใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบส่งผลให้เกิดปัญหาที่น่ากังวลมากขึ้น เช่น กรณีการละเมิดข้อมูลจากการใช้โมเดล Gen AI รวมถึงอคติหรือการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาจากข้อมูลที่นำไปใช้เทรนโมเดล ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรในสายตานักลงทุน ความไว้วางใจจากลูกค้า และความน่าเชื่อถือที่พนักงานมีต่อองค์กร โดยหากรากฐานทั้งสามด้านนี้สั่นคลอนจะเสี่ยงส่งผลต่อการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ

นอกจากนี้ ESG ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกแรงผลักดันสำคัญให้องค์กรธุรกิจควรเริ่มพิจารณาแนวทางการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์ต่อเรื่อง ESG ในหลายแง่มุม เช่น ในมุมสิ่งแวดล้อมที่การเทรนและการใช้งานโมเดล AI จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล หรือในมุมสังคมและธรรมาภิบาลที่การใช้เทคโนโลยีอาจมีผลต่อเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย ความเสี่ยงละเมิดสิทธิบางอย่าง รวมไปถึงอคติที่อาจเกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงควรพิจารณาผลกระทบในหลายๆ แง่มุมก่อนนำเทคโนโลยีไปปรับใช้จริง

อุปสรรคในการสร้างแนวทางด้าน Responsible Tech

แม้การใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การผลักดันการสร้างแนวทางด้าน Responsible Tech ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย ดร. รีเบคกา พาร์สันส์ มองว่า ความท้าทายใหญ่ที่สุดของหลายองค์กรคือการขาดความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจ ในทั้งในแง่ของเป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ กระบวนการและแนวทางปฏิบัติ ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องเอื้อต่อการดำเนินการและการพัฒนาแนวทางด้าน Responsible Tech ในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ ในรายงานผลการสำรวจผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับ Responsible Tech (The state of responsible technology) ที่ MIT Technology Review Insights จัดทำร่วมกับ Thoughtworks ระบุว่า จากการสำรวจผู้บริหารทั่วโลกนั้น อุปสรรคที่ทำให้องค์กรยังไม่สามารถสร้างแนวทางด้าน Responsible Tech ได้ ประกอบด้วยสาเหตุหลักๆ ได้แก่

  • การขาดความเข้าใจของผู้บริหารระดับสูง (52%)
  • องค์กรไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (46%)
  • และการขาดความเข้าใจของพนักงาน (35%) 

รายงานวิจัยระบุว่า หากต้องการเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไปทีละขั้น ทั้งในแง่การฝึกอบรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ควบคู่ไปกับโอกาสและความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วจึงต่อยอดสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ

สร้างแนวทาง Responsible Tech ต้องเริ่มตรงไหน

ในมุมมองของ ดร. รีเบคกา พาร์สันส์ หากกล่าวในภาพรวมแล้ว ข้อดีของการมีแนวทางด้าน Responsible Tech เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นที่พนักงาน ลูกค้า และนักลงทุนมีต่อองค์กร ขณะที่เมื่อมองในภาพย่อยลงมา แนวทางด้าน Responsible Tech คือการวางกรอบการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีในอนาคต เช่น กรณีของ Generative AI ที่มีประเด็นเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาหรือความเป็นส่วนตัว จากการใช้ข้อมูลไปเทรนโมเดล รวมถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติจากการที่โมเดลสร้างผลลัพธ์จากข้อมูลที่มีความบิดเบือนหรือมีอคติ เป็นต้น

สำหรับแนวทางการสร้าง Responsible Tech อาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะองค์กรและลักษณะของภาคอุตสาหกรรม แต่จุดร่วมสู่การใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบคือการต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ความเปิดกว้าง และความยั่งยืน โดยแนวทางเบื้องต้นนั้น องค์กรสามารถเริ่มจากการศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการดำเนินงานในปัจจุบันของธุรกิจ จากนั้นวางเป้าหมายและกระบวนการด้าน Responsible Tech ร่วมกัน และจัดเวิร์กช็อปเพื่อพิจารณาว่าจะนำแนวทางดังกล่าวไปใช้งานจริงในกระบวนการต่างๆ ขององค์กรหรือการทำโปรเจ็กต์พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง

สำหรับแนวโน้มเรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบนั้น ในรายงาน The state of responsible technology ได้ระบุว่า 4 ด้านหลักที่ผู้บริหารทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้แก่

1) การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Minimizing environmental footprint)

จุดมุ่งหมายของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบคือการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจำนวนไม่น้อยต่างตั้งเป้าจะลด Carbon Footprint ซึ่งเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ให้ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงาน เช่น การสร้างโมเดลคำนวณแนวทางลด Carbon Footprint ให้น้อยลงที่สุดโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือการโยกย้ายกระบวนการทำงานไปอยู่บนระบบคลาวด์ ที่สามารถปรับลดการใช้งานได้ตามความต้องการ เพื่อลดการใช้พลังงาน เป็นต้น

2) การขจัดอคติในเทคโนโลยีที่อิงตามอัลกอริทึ่ม (Eliminating biases in algorithm-based technologies)

ประเด็นเรื่องผลลัพธ์ที่สร้างอคติหรือมีความบิดเบือนจากการใช้อัลกอริทึ่มสร้างขึ้นมา เช่น โมเดล AI ที่สร้างผลลัพธ์จากข้อมูลที่นำไปใช้เทรน เป็นประเด็นที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผลลัพธ์ที่มีอคติเสี่ยงนำไปสู่การเลือกปฏิบัติในวงกว้างในหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรบุคคล ธุรกิจการเงิน หรือธุรกิจประกัน เช่น การเลือกนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ หรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ

3) การปกป้องข้อมูลสำคัญขององค์กรและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (Protecting sensitive company data and improving digital privacy for customers)

ท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องการละเมิดข้อมูล (Data Breach) ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จุดมุ่งหมายหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบคือขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงจากกรณีข้อมูลรั่วไหลหรือการใช้ข้อมูลในทางที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้บริโภคถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยธุรกิจต้องมีความโปร่งใสในการเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลต่างๆ ของผู้บริโภคไปใช้งาน

4) การสร้างความหลากหลายด้านบุคลากร (Diversifying the tech workforce)

แนวทางการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบไม่ได้มุ่งเน้นแค่การเรื่องกระบวนการพัฒนาและนำไปใช้เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องคน ที่จะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ด้วยเช่นกัน รายงานระบุว่า องค์กรที่ประกอบด้วยบุคลากรหลากหลายแบบ (Diversity) จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบในอนาคต ทั้งในมุมคิดด้านการพัฒนาและการนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน

ในยุคที่เทคโนโลยีหลอมรวมเข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีจึงควรพิจารณาจากหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นในมุมของธุรกิจ ผู้บริโภค และผลกระทบต่อสังคม เพื่อลดความเสี่ยงและผลลัพธ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การมีแนวทางด้าน Responsible Technology จึงเป็นประเด็นที่องค์กรธุรกิจไม่ควรละเลย

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/591512