เทนเนสซี สหรัฐฯ รัฐแรกที่แบน AI ปลอมเสียงศิลปินไปทำเพลง โดยไม่ได้รับอนุญาต

Share

Loading

  • รัฐเทนเนสซี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของเสียงเพลง กำลังเปลี่ยนโลกด้วยการสั่งห้ามใช้ AI เลียนเสียงศิลปินเพื่อทำเพลงใหม่ โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • หลังชาวเน็ต เอาเสียงศิลปินไปทำเพลงใหม่สร้างรายได้จากเอกลักษณ์ของคนอื่น
  • กฎหมายดังกล่าวจะทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 67 ใครที่ใช้ AI เลียนเสียงศิลปินเพื่อทำเพลงใหม่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเสียงก่อน

รัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ กลายเป็นที่แรกที่แบนการใช้ AI ปลอมเสียงศิลปินไปทำเพลง ก่อนได้รับอนุญาต หลังคลิปเพลงที่ใช้ AI เลียนเสียงเกลื่อนออนไลน์

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า รัฐเทนเนสซี ของสหรัฐฯ สร้างประวัติศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ลงนามในกฎหมายเพื่อปกป้องนักดนตรีจากการแอบอ้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยไม่ได้รับอนุญาต

“เทนเนสซี เป็นเมืองหลวงแห่งดนตรีของโลก และเรากำลังเป็นผู้นำด้วยการคุ้มครองครั้งประวัติศาสตร์สำหรับศิลปินและนักแต่งเพลง จากเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้นใหม่” ผู้ว่าการรัฐ Bill Lee ประกาศบนโซเชียลมีเดีย

ทำไมต้องคุ้มครองเสียงศิลปินไม่ให้ AI ลอกเลียน ?

หากถามว่าทำไมต้องคุ้มครองเสียงศิลปินไม่ให้ AI ลอกเลียนแบบเสียงร้องไปทำเพลงใหม่ ก็เพราะว่าศิลปินเหล่านี้ใช้เสียงเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ ดังนั้นหากผู้คนสามารถใช้ AI ลอกเลียนเสียงของศิลปินมาทำเพลงอะไรก็ได้ซึ่งเป็นผลงานใหม่และจดลิขสิทธิ์สร้างรายได้ ก็เสมือนกลายเป็นการเอารัดเอาเปรียบศิลปินคนนั้น ๆ

แต่หากศิลปินคนนั้นสูญเสียความสามารถในการร้องไป เช่น กล่องเสียงแตก ก็สามารถให้ความยินยอมต่อค่ายเพลงหรือผู้ที่ทำสัญญาด้วยนำ AI เลียนเสียงมาใช้ได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้

วิธีการทำงานของ AI เลียนเสียงศิลปินนั้นไม่ใช่การนำคำแต่ละคำมาตัดแปะเป็นเพลงใหม่ แต่เป็นวิธีการสร้าง-สังเคราะห์เสียงของศิลปินคนนั้นขึ้นมาใหม่ในประโยคที่เขาไม่เคยพูดเลย หรือที่เรารู้จักในชื่อ DeepFake

เทนเนสซีเป็นที่รู้จักมายาวนานว่าเป็นรัฐที่ทรงอิทธิพลทางดนตรี ตั้งแต่เพลงคันทรี่ไปจนถึงเพลงบลูส์ รัฐนี้เป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพของซูเปอร์สตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ อย่าง Elvis Presley, Dolly Parton, BB King และ Taylor Swift เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ผู้คนจะถูกห้ามใช้ AI เพื่อเลียนแบบเสียงของศิลปินโดยไม่ได้รับอนุญาต

ที่ผ่านมา ผู้ตรากฎหมายพยายามดิ้นรนเพื่อให้กฎหมายต่าง ๆ ทันกับความรวดเร็วของเทคโนโลยี AI เนื่องจากมันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย แม้จะมีด้านดีตามมาด้วยก็ตาม

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/849010