AI กำลังพลิกโฉมวิธีการทำงานของทุกสาขาวิชา
AI จะช่วยทำให้นักวิจัยค้นพบยา หรือวิธีการรักษาโรคภัยต่างๆได้เร็วขึ้น ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง
หากให้ Machine Learning หรือ AI ศึกษาข้อมูลจำนวนมากของคนที่มีปัญหาจากโรคต่างๆ มันจะค้นพบว่า อะไรเป็นสาเหตุของปัญหา และทำให้นักวิจัยหรือแพทย์รู้ว่าจะจัดการกับโรคเหล่านั้นได้อย่างไร
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารบางอย่างที่ชื่อว่า “โดพามีน” ลดลง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว อาการที่เกิดขึ้น เช่น มือสั่น เคลื่อนไหวช้าลง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมร่างกายของคนบางคนถึงมีการผลิตสาร “โดพามีน” ลดลง
พาร์กินสัน มักจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ในปัจจุบันมีผู้ป่วยทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2040
โรคพาร์กินสัน อาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ ยาแก้มึนงง ยาแก้อาเจียน ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด ยากล่อมประสาท ฯลฯ ความผิดปกติในสมองจากสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองขาดอ็อกซิเจน สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว เคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยันชัดเจนถึงสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลแน่นอน
วันที่ 17-04-2024 Nature สื่อดังด้านการวิจัย เผยแพร่ผลการศึกษาจาก University of Cambridge ว่า มีการค้นพบสารยับยั้งที่มีศักยภาพของการรวมตัวของ a-synuclein โดยใช้การเรียนรู้ซ้ำตามโครงสร้าง
AI สามารถเรียนรู้เพื่อระบุโมเลกุลขนาดเล็กที่สามารถป้องกันไม่ให้ a-synuclein จับกลุ่มกัน และทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการวิจัยและพัฒนาแบบเก่าที่เคยทำ การค้นพบครั้งนี้ จะช่วยทำให้เร่งการออกแบบยารักษาโรคพาร์กินสันเร็วขึ้น 10 เท่า และลดต้นทุนได้ 1,000 เท่า
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของโรคภัยที่ AI จะมีส่วนช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น เราจะได้ยินข่าวในลักษณะเดียวกันนี้ตามมาอีกมากมาย…
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=889946659810678&set=a.687193000086046