นักวิจัยพัฒนาวัสดุนาโนที่เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็น ‘พลังงานสะอาด’ ได้สำเร็จ

Share

Loading

ในโลกปัจจุบัน ‘โลกร้อน’ กลับมาเป็นปัญหาจริงจังอีกครั้งเมื่อมนุษย์ไม่ต้องง่วนกับการสู้โรคระบาด ซึ่งโลกร้อนเป็นเรื่องจริงจังแค่ไหนก็ลองไปถามทุกคนที่เดินมาเจอแดดช่วงเที่ยงตอนหน้าร้อนในประเทศเขตร้อนชื้นประเทศไหนดูก็ได้ เพราะความร้อนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ถึงขนาดฆ่าคนตายได้เลย

ในการสู้โลกร้อนทุกวันนี้ ก็แทบจะชัดเจนแล้วว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ให้ลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงมันมีขีดจำกัด เพราะอย่างน้อยๆ ก็ไม่มีใครไปควบคุมจีนที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลกได้ และประเทศเล็กๆ ก็ล้วนมีเหตุผลของตัวเองที่จะบอกว่าทำไมตัวเองทำได้แค่นี้ และก็ไม่มีใครไปบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรมไปมากกว่านี้ได้

ในเงื่อนไขแบบนี้ทางออกให้โลกร้อนน้อยลงมันเลยมีสองทางหลัก ทางแรกคือการทำวิศวกรรมสภาพอากาศ ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงมากๆ ที่จะทำให้เกิดผลที่คาดไม่ได้ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่อีกทางที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปลอดภัยกว่ามากๆ คือกลุ่มเทคโนโลยีในการจับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ เพื่อลดคาร์บอนจากอากาศในอัตราที่มากขึ้นกว่าเดิม

เทคโนโลยีจับคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่ไม่มี แต่ประเด็นคือเทคโนโลยีส่วนใหญ่มันแพง และไม่เกิดผลอะไร และถ้าพวกบริษัทจะทำ CSR เขาคิดว่าเอาเงินไปปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าจะดีกว่า ก็เลยทำให้เทคโนโลยีกลุ่มนี้ไม่ได้มีความคืบหน้าเท่าไหร่

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความหวัง เพราะล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ได้พัฒนาวัสดุนาโนที่ไม่เพียงแต่ใช้ในการจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่านั้น แต่มันจะสามารถแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นกระแสไฟฟ้า หรือพูดให้มันตลกคือ มันใช้คาร์บอนไดออกไซด์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดได้

เราคงจะไม่ลงรายละเอียดในตัวงานวิจัย หรือคุณลักษณะของวัสดุรวมไปถึงกระบวนการทางเคมีที่ก่อให้เกิดไฟฟ้าได้ ของพวกนี้อยู่ในรายละเอียดงานวิจัยที่หาอ่านได้ในวารสาร Nature Communications แต่ในที่นี้เราอยากจะคุยถึงนัยของเทคโนโลยีกัน

โดยไอเดียของเทคโนโลยีนี้ ว่ากันตรงๆ มันเป็นเทคโนโลยีพลังงานที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ เพราะมันจับพลังงานได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ประเด็นก็คือ มันเป็นเทคโนโลยีแรกๆ ของมนุษย์ที่จับคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาทำเป็นพลังงานได้ ซึ่งในทางทฤษฎีมันจะเป็นวัสดุนาโนที่สามารถจับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาทำให้หลอดไฟติด หรือกระทั่งจับมาเป็นพลังงานของโทรศัพท์มือถือได้

ถ้าพูดในสเกลที่ใหญ่กว่านั้น เทคโนโลยีนี้มันอาจเปลี่ยนให้ ‘โรงจับคาร์บอนไดออกไซด์’ กลายเป็น ‘โรงไฟฟ้าพลังคาร์บอนไดออกไซด์’ ได้ด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้ เราไม่ได้บอกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันทำได้ หรือทำแล้วคุ้มค่า แต่ประเด็นคือถ้ามีงบวิจัยมากกว่านี้ พัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถสกัดพลังงานจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาทางนี้ ก็มีหวังว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=991842525837417&set=a.811136570574681