- กรมการขนส่งอลาสกาใช้หุ่นยนต์ “ออโรรา” เพื่อไล่นกและสัตว์ป่าให้ห่างจากรันเวย์สนามบินแฟร์แบงค์ โดยจะแต่งมันเป็นโคโยตี้หรือสุนัขจิ้งจอก
- หุ่นยนต์สุนัขลาดตระเวน ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและป้องกันอุบัติเหตุเครื่องบินชนนก ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินตกได้
- หากทดสอบผ่าน ออโรราราคา 2.54 ล้านบาท จะส่งไปใช้ที่สนามบินอื่นๆ เพราะคุ้มค่ากว่าจ้างคน สามารถควบคุมระยะไกล และทำงานกลางฝนหรือหิมะได้
สนามบินแฟร์แบงค์สในอลาสกา ต้อนรับฤดูนกป่าหลังอากาศอุ่นขึ้น ด้วยการใช้หุ่นยนต์สุนัขตระเวนไล่นกและสัตว์ป่าบริเวณรันเวย์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานคน
กรมการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะของอลาสกา ได้ตั้งชื่อหุ่นยนต์ตัวใหม่ของ Boston Dynamics ว่า ออโรรา และกล่าวว่าจะมีประจำอยู่ที่สนามบินแฟร์แบงค์เพื่อ “พัฒนาและเพิ่มความปลอดภัยและการปฏิบัติการ” โดยมันจะถูกพรางตัวเป็นโคโยตี้หรือสุนัขจิ้งจอก เพื่อป้องกันนกอพยพและสัตว์ป่าอื่นๆ ที่สนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอลาสกา
กรมขนส่งอลาสกา ได้เผยแพร่วิดีโอใน IG เป็นภาพหุ่นยนต์ไต่ก้อนหิน ขึ้นบันได และทำอะไรบางอย่างที่คล้ายกับการเต้นรำพร้อมไฟสีเขียวกระพริบ
โดยมีข้อมูลว่า ทักษะการเต้นแบบในคลิป จะถูกนำไปใช้ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ในช่วงฤดูนกอพยพ โดยแสงออโรร่าเลียนแบบการเคลื่อนไหวเหมือนสัตว์นักล่า เพื่อป้องกันไม่ให้นกและสัตว์ป่าอื่น ๆ มาเกาะอยู่ใกล้สนามบิน
ไรอัน มาร์โลว์ ผู้จัดการโครงการแผนกขนส่งกล่าวว่า แผนดังกล่าวคือการให้ออโรราลาดตระเวนพื้นที่กลางแจ้งใกล้กับรันเวย์ทุกๆ ชั่วโมง เพื่อพยายามป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างเครื่องบินกับสัตว์ป่าที่อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยหุ่นยนต์จะปลอมตัวเป็นโคโยตี้หรือสุนัขจิ้งจอกด้วยการคลุมวัสดุบางอย่าง แต่จะต้องไม่สมจริงมากเกินไป และตัดสินใจไม่ใช้ขนสัตว์เพื่อให้แน่ใจว่าออโรราจะยังคงกันน้ำได้
แนวคิดในการใช้หุ่นยนต์ป้องกันนกและสัตว์ป่าในบริเวณสนามบินครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธแผนการใช้โดรนบินพ่นสารไล่แมลง ขณะที่การใช้มนุษย์เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ ด้วยการขู่นกและสัตว์ป่าอื่นๆ ให้ห่างจากรันเวย์ด้วยเสียงดัง ซึ่งบางครั้งก็ทำด้วยปืนเพนท์บอล ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยในช่วงการทดสอบที่แฟร์แบงค์จะทำให้เห็นว่าออโรรายับยั้งสัตว์ขนาดใหญ่ได้มีประสิทธิภาพเพียงใด และเพื่อดูว่ากวางมูสและหมีจะตอบสนองต่อหุ่นยนต์อย่างไรอีกด้วย
แม้สนามบินหลายแห่ง ได้นำหุ่นยนต์มาใช้งานในงานต่างๆ เช่น การทำความสะอาด การลาดตระเวนรักษาความปลอดภัย และการบริการลูกค้า แต่แฟร์แบงค์จะเป็นโครงการแรกที่ใช้หุ่นยนต์ในการควบคุมสัตว์ป่า
ตามข้อมูลของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ เมื่อปีที่แล้ว มีสัตว์โจมตี 92 ครั้งใกล้สนามบินทั่วอลาสกา รวมถึง 10 ครั้งในแฟร์แบงค์
แม้การโจมตีส่วนใหญ่ไม่ส่งผลให้เครื่องบินได้รับความเสียหาย แต่การเผชิญหน้าดังกล่าวอาจเป็นอันตรายได้ ในกรณีที่นกถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เครื่องบินตกได้ โดยมีกรณีที่เครื่องบินไอพ่น AWACS ตกในปี 1995 ตอนที่มันชนฝูงห่าน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 24 รายที่ฐานทัพอากาศเอลเมนดอร์ฟในแองเคอเรจ
ทั้งนี้ หุ่นยนต์จาก Boston Dynamics ตัวนี้ มีราคาประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2.54 ล้านบาท) โดยได้รับอุดหนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง
หากการทดสอบประสบความสำเร็จ ทางการรัฐอลาสกาจะส่งหุ่นยนต์ที่คล้ายกันไปยังสนามบินขนาดเล็ก ซึ่งจะคุ้มค่ากว่าการจ้างทีมป้องกันที่เป็นมนุษย์ เนื่องจากออโรราซึ่งสามารถควบคุมได้จากโต๊ะ คอมพิวเตอร์ หรือกำหนดเวลาอัตโนมัติ โดยมันสามารถปฏิบัติงานท่ามกลางสายฝนหรือหิมะได้
แหล่งข้อมูล