ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคเกษตรของไทย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างมาก แต่กลับมีอัตราการเติบโตช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงทำการผลิตแบบเดิม และนี่เองที่เป็นสาเหตุให้คนรุ่นใหม่ไม่น้อย ตัดสินใจริเริ่มธุรกิจในฐานะ สตาร์ทอัพสายเกษตร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้พร้อมรับกับการแข่งขันและความต้องการอาหารของทั่วโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ในปี 2050 ด้วยการพลิกโฉมไปสู่การเกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืน
โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้วางไว้เพื่อพัฒนา สตาร์ทอัพสายเกษตร ของไทย คือ การเพิ่มจำนวนผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับธุรกิจเกษตรและสตาร์ทอัพสายเกษตร เพื่อสร้างโอกาสสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ภาคเกษตรกรรมไทย พร้อมนำสินค้า – บริการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีแนวทางที่จะเดินหน้าสร้าง สตาร์ทอัพสายเกษตร ให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งการเติบโตและแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อนในภาคเกษตร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยี ในปัจจุบันประเทศไทยมีสตาร์ทอัพเกษตรอยู่เพียง 81 ราย และเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 ราย
นอกจากนี้ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA ยังเผยถึงมูลค่าการลงทุนในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรที่มีอยู่กว่า 5.1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท โดยปีนี้ NIA ยังคงผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ AGROWTH ซึ่งจะเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทดสอบการใช้งานจริง ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเกษตรร่วมกับบริษัทชั้นนำในภาคธุรกิจการเกษตร ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 10 พฤษภาคม 2567
และ NIA ยังจะเร่งผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าว โดยเฉพาะใน 3 เทคโนโลยีที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตและรับการลงทุน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
“สตาร์ทอัพสายเกษตร ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ภาคเกษตรไทยเติบโต ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมทั้งช่วยทำให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำลง กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการสร้างสายพันธุ์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างจากท้องตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”
“ดังนั้น NIA จึงเร่งสร้างสตาร์ทอัพในโครงการ AGROWTH ให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาอันซ้ำซ้อนของภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก สอดรับกับตลาดผู้ใช้งานและสอดคล้องกับภาคการลงทุน ด้วยการดึงเครือข่ายธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาช่วยปรับโมเดลธุรกิจ ให้คำปรึกษาอย่างตรงจุด สร้างโอกาสการลงมือทำพิสูจน์โซลูชั่นกับโจทย์ปัญหาที่ท้าทายของภาคเกษตร”
นอกจากนั้น ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาข้อมูลในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรของไทยพบว่าที่ผ่านมามีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้านบาทจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก และเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมี 3 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงลึกจากทั่วโลกที่น่าจับตาและเป็นแนวทางสำหรับสตาร์ทอัพไทยในอนาคต ดังนี้
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)
จากการใช้ข้อมูลทางการเกษตรขนาดใหญ่คาดการณ์และทำนายเพื่อการทำเกษตรให้เกิดความแม่นยำ และสร้างมาตรฐานใหม่ที่มีผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ เช่น อัลกอริธึม AI ที่ช่วยให้นักปฐพีวิทยาใช้น้ำและปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจน เป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเติบโตเป็น 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.55 แสนล้านบาทในปี 2028
โดยในไทยมี สตาร์ทอัพสายเกษตร ที่ได้รับการร่วมลงทุนในเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ อีซี่ไรซ์ (Easy Rice) ระบบ AI มาช่วยตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกและคุณภาพข้าวสาร เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะกับ NIA เมื่อปี 2020 และได้มีโอกาสทำงานกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตข้าว ทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงในการตรวจสอบคุณภาพข้าว นำสมองอัจฉริยะที่เที่ยงตรงไปใช้งาน ทำให้เกิดความมั่นใจในโรงสีผู้ใช้งานมากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนั้นยังมีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวมากถึง 6 ล้านตัน และเริ่มขยายการใช้งานไปยังกลุ่มปลูกข้าวอาเซียนในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม จึงได้รับระดมทุนรอบ Pre-Series A กว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 66 ล้านบาท จากบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัท ยิบอินซอยและแย็คส์ จำกัด และ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด
หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ผลักดันให้เกิดความต้องการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานทางการเกษตรมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้สารเคมี ส่งผลต่อการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เช่น การใช้โดรนช่วยพ่นยา พ่นปุ๋ย แทนแรงงานคน และมีการคาดการณ์ว่าตลาดนวัตกรรมนี้จะมีมูลค่าประมาณ 265.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวหลักสิบล้านล้านบาท ในช่วงปี 2566 – 2575 ซึ่งสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ทางการเกษตรที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนจากนักลงทุนและบริษัทใหญ่ ได้แก่ เอชจี โรโบติกส์ (HG Robotics) สตาร์ทอัพที่พัฒนาหุ่นยนต์และระบบบริหารจัดการอัตโนมัติ ซึ่งได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มทรูดิจิทัลที่ขยายธุรกิจเปิดโรงงานผลิตโดรนการเกษตรและหุ่นยนต์ที่ได้รับมาตรฐานโลกแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมผลิต “ไทเกอร์โดรน” หุ่นยนต์ระบบการบินอัตโนมัติซอฟท์แวร์ภาษาไทย ที่เก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ เป็นผลงานที่สตาร์ทอัพไทยเริ่มทำตั้งแต่ออกแบบชิ้นส่วน การประกอบ จนส่งถึงมือผู้ใช้งาน โดยได้รับการร่วมลงทุนจากบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
จากความต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของภาคเกษตรกรรม และการจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น ศัตรูพืช ความแห้งแล้ง การสร้างพันธุ์พืชใหม่ อีกทั้งยังมีการประเมินว่า มูลค่าการระดมทุนของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลก มีมูลค่า 85.80 พันล้านบาท ถือเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมากในด้านเกษตร
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเกษตรไทยที่ได้รับการร่วมลงทุนจากการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ ได้แก่ ยูนิฟาร์ส (UniFahs) จากผลิตภัณฑ์ SalmoGuard ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่าในลำไส้และระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีก เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเฟจ (Phage) มากกว่า 15 ปี ทำให้สามารถออกแบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกได้เหมาะสมกับผู้ใช้งานทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านนวัตกรรมไบโอเทคจากเวทีการแข่งขันสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Global Finalists 2022” รวมทั้งเป็นทีมชนะเลิศในการเข้าร่วมการบ่มเพาะกับ NIA เมื่อปี 2022 และมีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทด้านธุรกิจสัตว์น้ำ จึงได้ขยายเทคโนโลยีไปใช้กับสินค้าเกษตรกลุ่มอื่น เช่น เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ได้รับการร่วมลงทุนจาก เอดีบีเวนเจอร์ส บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และกองทุนอินโนเวชั่นวัน จำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 53 ล้านบาท
“จากที่กล่าวมา ทำให้เห็นได้ชัดว่า สตาร์ทอัพสายเกษตร มีตลาดขนาดใหญ่มากรองรับอยู่ ดังนั้น การที่สตาร์ทอัพของไทยได้ความรับสนใจจากนักลงทุนและได้รับเงินระดมทุน นับเป็นความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ผู้ใช้งานจนเกิดการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่การที่จะทำให้เกษตรกรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมที่จะเปลี่ยนจากวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ ถือเป็นความท้าทายของสตาร์ทอัพเกษตรที่จะพัฒนาเทคโนโลยีจนเกิดผู้ใช้งานจริงในประเทศไทย จะช่วยแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการที่จะลงทุนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจทางการเกษตร เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสายเกษตรมีศักยภาพที่จะสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนในตลาดได้” ดร. กริชผกา กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/04/21/3-deep-tech-trends-updated-for-ag-tech-startup/