Virtual University เทรนด์ใหม่มหาวิทยาลัยยุค 5.0

Share

Loading

Virtual University หรือ “มหาวิทยาลัยเสมือน” หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนผ่าน “ระบบออนไลน์” แบบครบวงจร โดยไม่จำกัดเวลา และสถานที่ หรือเรียกอีกแบบว่า e-Education

e-Education หรือ Virtual University เป็นการผนึกองค์ความรู้ กับเทคโนโลยี ผ่านความเชี่ยวชาญของผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT (Information and Communication Technology) ศึกษาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มาบูรณาการกันเพื่อพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ และโปรแกรมสำหรับใช้ใน Virtual University

Virtual University จึงเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับระบบการจัดการการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ระบบควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนที่เทียบเท่าหรือดีกว่าการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม

ความแตกต่างระหว่าง Virtual University กับ e-Learning นั้น e-Learning จะมุ่งเน้นที่กระบวนวิชาหนึ่งๆ ส่วน Virtual University จะมุ่งเน้นความเป็น “สถาบันออนไลน์” ที่มีบริการอื่นๆ ประกอบ

อาทิ ห้องสมุดเสมือน (Virtual Library หรือ e-Library) การลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ การตรวจสอบผลการเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดนเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้อิเล็คทรอนิคส์ หรือ e-Learning Community

Virtual University มี 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

1 Virtual University ที่ขยายจากหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ การบริหารจัดการ การกำหนดมาตราฐานของหลักสูตร อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสภามหาวิทยาลัย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

2 Virtual University ที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาด้วยกัน มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และพัฒนาเนื้อหาวิชาที่มหาวิทยาลัยจะใช้ร่วมกัน

3 Virtual University ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และองค์กรเครือข่าย หรืออาจอยู่ในรูปของบริษัทในภาคเอกชน ที่เล็กเห็นศักยภาพทางการตลาดของการศึกษาระดับอุดมศึกษา

4 Virtual University พัฒนาโดยองค์กรธุรกิจ เป็นการให้บริการด้านการศึกษาออนไลน์โดยภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มุ่งเน้นหลักสูตรการฝึกอบรม และถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้อยู่ในวัยทำงาน

ล่าสุด ได้มีการเปิดตัว University of the People หรือ UoPeople เมื่อปี ค.ศ. 2014 ให้ดำรงตนเป็น “มหาวิทยาลัยที่ปราศจากค่าเล่าเรียน” โดยบัณฑิตผู้จบการศึกษา จะได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล โดยที่ผ่านมา UoPeople ได้ช่วยให้นักศึกษาประมาณ 140,000 คน จาก 200 ประเทศ สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน

กรณีศึกษาที่สำคัญก็คือ เมื่อครั้งที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน ประชาชนในพื้นที่ต่างต้องทยอยเดินทางออกจากเมืองด้วยความระส่ำสาย ทุกภาคส่วนต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมด้านการศึกษา แต่นักศึกษาในประเทศยูเครน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ โดยผ่านการอำนวยความสะดวกจาก UoPeople โดยหลายคนต้องเรียนหนังสือขณะที่อยู่ในหลุมหลบภัย

ทั้งนี้ UoPeople ถือเป็น “มหาวิทยาลัยออนไลน์” แห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากสหรัฐฯ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ “ปราศจากค่าเล่าเรียน” แต่ผู้เรียนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ประมาณ 140-400 ดอลลาร์ต่อการลงทะเบียนรายวิชา ทำให้ในภาพรวม นักศึกษาจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 ดอลลาร์ เพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อเทียบกับค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของมหาวิทยาลัยรัฐบาลในสหรัฐฯ ระยะเวลา 4 ปี อยู่ที่ประมาณ 9,600 ดอลลาร์ต่อปี

นอกจากนี้ UoPeople ยังมีระบบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่ผ่านมาราวครึ่งหนึ่งของผู้เรียน จบการศึกษาโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ปณิธานของ UoPeople มาจากการที่สหรัฐฯ มีคนไร้บ้าน และนักเรียนที่ไม่มีเอกสารรับรอง หรือแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรต่างด้าวจำนวนมากที่มาจากพื้นเพที่ยากลำบาก

ที่ผ่านมา UoPeople ได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนชาวอัฟกัน ท่ามกลางสภาพปัญหาที่กลุ่มตาลิบันในอัฟกานิสถาน ปฏิเสธที่จะให้การศึกษาแก่นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี

ปัจจุบัน UoPeople มีอาสาสมัครประมาณ 26,000 คนช่วยทำหน้าที่เป็นทีมงานให้กับ UoPeople โดย “มหาวิทยาลัยออนไลน์” แห่งนี้ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บริหารธุรกิจ, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, วิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาอื่นๆ ที่จำเป็นในปัจจุบัน เพราะ UoPeople เชื่อว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และทุกคนในโลกควรที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น UoPeople จึงมีความพยายามในทุกรูปแบบ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ และทำให้ประเด็นทางการเงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ

ปัจจุบัน UoPeople ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยแห่ง Edinburgh และมหาวิทยาลัย McGill โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UoPeople ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกคือมูลนิธิ Bill and Melinda Gates รวมถึงการสนับสนุนจากบริษัทด้านเทคโนโลยี ทั้ง Google และ Intel

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/05/03/virtual-university/