“อาเซียนดิจิทัล” เลิกคุยเรื่องเก่า พัฒนาด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน เข้าสู่ยุคเอไอเต็มตัว

Share

Loading

การค้าอาเซียนยุคใหม่ หันมาส่งเสริมการพัฒนาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะ AI ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจปัจจุบัน โดยอาเซียนจะเร่งสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันในแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งมุ่งให้ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน เป็นความตกลงที่มองไปข้างหน้า มีมาตรฐานสูง เพื่อยกระดับการค้าดิจิทัลของอาเซียนและเชื่อมโยงตลาดแบบไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 บอร์ดบริหารของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจาก 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบัน ERIA ครั้งที่ 17 ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ตัวแทนประเทศไทยคือ นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ให้เป็นผู้แทนการประชุมครั้งนี้ โดยได้เน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะ AI ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจปัจจุบัน ซึ่งอาเซียนควรเร่งสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันและมีแนวทางในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งมุ่งให้ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน เป็นความตกลงที่มองไปข้างหน้าและมีมาตรฐานสูง เพื่อยกระดับการค้าดิจิทัลของอาเซียนและเชื่อมโยงตลาดอาเซียนให้ไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับเร่งเสริมทักษะแรงงานด้านดิจิทัล ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและ Big Data ในทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้ผลักดันประเด็นการแก้ปัญหาโลกร้อนและการค้าที่ยั่งยืนของอาเซียน ในฐานะที่เป็นฐานการผลิตของโลก จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตรองรับการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาด หาแหล่งพลังงานทดแทน รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทด้านการวิจัยและการพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นที่ยอมรับในสากล

นอกจากนี้ ในปี 2567 ERIA จะเน้นการเปลี่ยนผ่านภูมิภาคสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการค้าที่ยั่งยืน โดยในด้านดิจิทัล ได้จัดตั้ง ศูนย์การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลและเศรษฐกิจยั่งยืน (ERIA Digital Innovation and Sustainable Economy Centre: E-DISC) ซึ่งจะตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนา เสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศในภูมิภาค เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงจะให้ความร่วมมือด้านงานวิชาการ จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) อีกทั้งจะส่งเสริมการทำธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพในด้านการสร้างระบบนิเวศที่รองรับการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมสตาร์ทอัพที่โดดเด่นในการใช้นวัตกรรมและสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน

สำหรับด้านการค้าที่ยั่งยืน จะสนับสนุนด้านวิจัยและนโยบายให้อาเซียนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยได้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาการลดการปล่อยคาร์บอน (Asia Zero Emission: AZE Centre) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มในการแบ่งปันข้อมูลกับเครือข่ายด้านการวิจัย เพื่อพัฒนานโยบายที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ที่ใช้พลังงานทดแทนอื่นนอกจากพลังงานไฟฟ้า และการพัฒนาให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์กลางตลาดคาร์บอนในอนาคต

สถาบัน ERIA ถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 ได้รับการจัดอันดับใน Global Go To Think Tank Index ให้เป็น International Economics Policy Think Tank อันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งเป็นองค์กรคลังสมองด้านนโยบายของอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยบอร์ดบริหารรับผิดชอบการกำหนดแผนงานวิจัยและเสนอแนะนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคให้แก่รัฐบาลของประเทศสมาชิก

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/06/24/new-era-of-asean-trade/