“เซี่ยเหมิน” เป็นเมืองชายฝั่งทะเล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เป็นที่รู้จักกันในนาม “เกาะแห่งนกกระยาง” ตั้งแต่โบราณกาล มีนกกระยางอาศัยอยู่ที่นี่จำนวนมากมาย ยามค่ำคืนของทุกวัน นกกระยางจะรวมตัวกันที่ริมฝั่งทะเลสาบหยุนตัง ซึ่งเป็นทะเลสาบขึ้นชื่อของเมืองเซี่ยเหมิน มองดูชาวเมืองเซี่ยเหมินเล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ และออกกำลังกายอย่างเงียบๆ
เมืองเซี่ยเหมินทุกวันนี้เป็นอุทยานนครแห่งหนึ่ง เมื่อมาถึงที่นี่แล้วต้องไม่พลาดการล่องเรือเที่ยวทะเล ขี่จักรยานริมชายฝั่งทะเล หรือเดินเล่นข้างทางป่าชายเลนที่ชอุ่ม กิจกรรมเหล่านี้สื่อถึงสภาพแวดล้อมอันงดงามที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน และจุดเด่นที่น่าทึ่งของ เมืองชายฝั่งทะเล “เซี่ยเหมิน” แห่งนี้คือการฟื้นฟูเมือง โดยถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ทะเลสาบหยุนตังของชาวเมืองมีเศษขยะและวัชพืชมากมายที่พัดมาพร้อมกับเกลียวคลื่นสีฟ้าเข้าฝั่ง สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้ชาวเมืองและผู้ที่ได้มาพบเห็น ทว่า มาในวันนี้ภูมิทัศน์ของเมืองและริมทะเลสาปหยุนตังกลับสะอาดสะอ้าน สวยงาม จนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองและผู้มาเยือนไปแล้ว
วิลเลิยม บราวน์ ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ซึ่งใช้ชีวิตที่นี่มาหลายปีได้บอกเล่าถึงความประทับใจต่อ เมืองชายฝั่งทะเล แห่งนี้ว่า “หลายปีก่อน ทุกครั้งที่ผมขี่จักรยานริมทะเลสาบหยุนตัง ต้องปิดปากและจมูกให้สนิทเพราะไม่อยากได้กลิ่นขยะที่โชยมาปะทะ แต่ตอนนี้ที่นี่ได้รับการฟื้นฟู ปรับภูมิทัศน์ จนกลายเป็นปอดสีเขียวของเมือง เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและพาณิชย์ของเมืองเซี่ยเหมิน และเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของวิสาหกิจต่างๆ ชาวจีนและชาวต่างชาติต่างก็ชอบมาเที่ยวทะเลสาบหยุนตัง เพื่อเล่นกีฬาทางน้ำ เช่น การแข่งขันพายเรือคายัค หรือเดินเล่นตามเส้นทางสีเขียวริมชายฝั่งทะเลสาบ ความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลสาบหยุนตังพิสูจน์ให้เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสามารถเกิดขึ้นควบคู่กันไปได้อย่างสมดุล”
เหตุใดการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลสาบหยุนตังและเมืองเซี่ยเหมิน จึงประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจเช่นนี้
1 การกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องที่เป็นเวลา 36 ปี
ทะเลสาบหยุนตัง เคยเป็นท่าเรือประมงที่ตั้งอยู่ในส่วนของอ่าวด้านในของเกาะเซี่ยเหมิน จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1970 การพัฒนาเศรษฐกิจจีนยังคงล้าหลังอยู่แต่ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน คนท้องถิ่นจึงถมทะเลเพื่อการเพาะปลูก และสร้างเขื่อนขุดทะเลสาบ ตั้งแต่นั้นมา ท่าเรือหยุนตังก็ไม่ได้เชื่อมต่อกับทะเลอีก และกลายเป็นลากูนที่มีพื้นน้ำ 1.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และจากนั้นก็มีการก่อสร้างรอบทะเลสาบ โรงงานเคมีหลายแห่งผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สร้างมลพิษให้กับเมืองในหลายด้าน กอปรกับมีประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ทะเลสาบหยุนตังได้กลายเป็นพื้นที่ปล่อยน้ำท่วมและน้ำขังของเมือง ทำให้พื้นที่นี้เปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ก่อมลพิษให้เมืองในหลายด้าน
“เซี่ยเหมินไม่ควรเสียหายมากเช่นนี้เพื่อแลกกับการพัฒนาด้านอื่นๆ” สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปี 1988 ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการประจำคณะกรรมการเทศบาลเมืองเซี่ยเหมิน และรองนายกเทศมนตรีได้นำเสนอแนวคิดบริหารจัดการทะเลสาบหยุนตังอย่างสร้างสรรค์ว่า “เราต้องบริหารจัดการทะเลสาบหยุนตังใหม่ตามหลักกฎหมาย สกัดกั้นและบำบัดน้ำเสีย ขุดลอกสร้างเขื่อน ฟื้นฟูแหล่งน้ำ และปรับสิ่งแวดล้อมให้สวยงามขึ้น”
จากวิสัยทัศน์นี้ทำให้นับแต่นั้น ทะเลสาบหยุนตังเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 3 ปีเท่านั้น ที่เดินหน้าฟื้นฟูทะเลสาบแห่งนี้ตามแผนที่วางไว้ จนสามารถทำให้ทะเลสาปหยุนตังไม่มีกลิ่นเหม็น และตลอด 36 ปีมานี้ จากการบริหารจัดการและกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จต่อเนื่องกัน 5 ระยะ ก็สามารถเนรมิตทะเลสาบที่เคยส่งกลิ่นเหม็นและเต็มไปด้วยมลพิษของชาวเมือง ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ และป็นหน้าเป็นตาของเมืองเซี่ยเหมินได้ในที่สุด
ทางการจีนยกการจัดการทะเลสาบหยุนตังเป็นต้นแบบของโครงการจัดการพื้นที่อ่าวหลายแห่งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำจิ่วหลง โดยได้เดินหน้าโครงการ “หนึ่งอ่าว หนึ่งนโยบาย” เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศตั้งแต่ยอดเขาจนถึงน้ำทะเล โดยเมืองเซี่ยเหมินดำเนินโครงการปรับช่องเปิดกำแพงกันคลื่น และขุดลอกตะกอนประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้พื้นที่ทะเลที่เคยถูกแยกออกจากกันด้วยน้ำมือมนุษย์สามารถเชื่อต่อกันได้อีกครั้ง จึงก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแหล่งน้ำ คุณภาพน้ำได้รับการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด
ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา เซี่ยเหมินได้วางเป้าหมายในการฟื้นฟูชายหาด 1.65 ล้านตารางเมตร ไม่ให้กลายเป็นโคลน และไม่ก่อฝุ่นทราย ด้วยการปรับปรุงอุทกพลศาสตร์ของอ่าว การปลูกป่าชายเลน การฟื้นฟูชายหาด การป้องกันมลภาวะ และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศทางน้ำของเมืองเซี่ยเหมินด้วย
การเดินหน้าฟื้นฟูภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมสอดคล้องกับที่ วิลเลิยม บราวน์ ได้กล่าวไว้ว่า “การลงทุนเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ได้สร้างอุปสรรคใดๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเซี่ยเหมิน แต่ได้กลับกลายเป็นรากฐานที่แน่นหนาในการพัฒนาเศรษฐกิจ เขตทะเลสาบหยุนตังได้ดึงดูดวิสาหกิจภาคการบริการที่ทันสมัยมาลงทุนกันหลายแห่ง จนในวันนี้เมืองเซี่ยเหมินได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน พาณิชย์ การท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นเขตที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีของชาวเมือง”
2 ประยุกต์ใช้บทเรียนความสำเร็จของการพัฒนาเมืองเซี่ยเหมินกับนโยบายระดับประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
การที่เมืองเซี่ยเหมินประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศจนได้รับการยกย่องให้เป็น “อุทยานนครสากล” และ “ผลงานดีเด่นในการควบคุมจัดการชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออก” องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ จากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และเกาหลีใต้ ได้มาดูงานที่เมืองเซี่ยเหมินด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเทคโนโลยีการฟื้นฟูชายหาดเมืองเซี่ยเหมินยังได้ประยุกต์ใช้ในโครงการดูแลชายหาดของประเทศร่วมสร้างสรรค์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางด้วย เช่น ไทย และศรีลังกา
อวี๋ ซิงกวาง อดีตเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยที่ 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีน ซึ่งให้ข้อเสนอมากมายในการกำกับดูแลระบบนิเวศทางทะเลของเมืองเซี่ยเหมิน เห็นว่าประสบการณ์ และวิธีการปฏิบัติเชิงสร้างสรรค์ของ “เคสเซี่ยเหมิน” สมควรเผยแพร่ยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น การจัดการระบบนิเวศทางทะเลแบบเบ็ดเสร็จที่มีหลายภูมิภาคร่วมมือกัน การประสานงานระหว่างการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลกับการพัฒนาเมืองอ่าว
ในการสร้างสรรค์อารยธรรมทางนิเวศของเมืองเซี่ยเหมิน นอกจากจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังรวมถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้วย เพราะเมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองแรกที่ประกาศใช้กฎข้อบังคับระดับท้องถิ่นว่าด้วยการอนุรักษ์โลมาหลังโหนก และสร้างฐานช่วยเหลือเพาะเลี้ยงโลมาหลังโหนกแห่งแรกในจีน เพื่ออนุรักษ์นกจาบคาหัวเขียวที่บินหนีร้อนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาหยุดพักและเจริญพันธุ์ที่นี่ โดยที่ผ่านมาเมืองเซี่ยเหมินได้ก่อสร้างเขตอนุรักษ์นกจาบคาหัวเขียวที่ใจกลางตัวเมือง ซึ่งมีราคาที่ดินแพงมาก
“เราเผชิญกับความท้าทายร่วมกัน เพราะเราอยู่ร่วมกันในคาบมหาสมุทรเดียวกัน และในฐานะที่เมืองเซี่ยเหมินเป็น เมืองชายฝั่งทะเล ที่มีการบริหารจัดการได้ดี เราก็ยินดีที่จะเข้ามามีบทบาทในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลกในยุคที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม” อวี๋ ซิงกวาง กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2018 ที่ผ่านมา สวนป่าชายเลนถันเหว่ย ซึ่งยังอยู่ในช่วงการพัฒนาเบื้องต้นสร้างความประทับใจให้กับ ปีเตอร์ โทมัส ทูตพิเศษกิจการทะเลของเลขาธิการสหประชาชาติ หลังจากนั้น เขายกย่องเมืองเซี่ยเหมินเป็นต้นแบบแห่งการฟื้นฟูป่าชายเลนในคำปราศรัยหลายครั้งของเขา
ความสำเร็จในการสร้างสรรค์อารยธรรมทางนิเวศของเมืองเซี่ยเหมิน แสดงให้เห็นว่า จีนใช้ความพยายามเพื่อผลักดันการสร้างความทันสมัยแบบจีนที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ด้วยความพยายามมาหลายปี ประสบการณ์การควบคุมดูแลทะเลของเมืองเซี่ยเหมินเป็นที่ยอมรับกันของประเทศหลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ทางการและเจ้าหน้าที่ทางเทคโนโลยีของจีนกว่า 2,000 คน ให้การอบรมและเผยแพร่ประสบการณ์ในการควบคุมดูแลทะเลสาบหยุนตังแก่ประเทศกำลังพัฒนารวมกว่า 100 แห่ง
และในที่ประชุมฟอรั่มว่าด้วยกิจการชายฝั่งทะเลนานาชาติ ได้บรรจุบทเรียนความสำเร็จกรณีการลดภัยทางระบบนิเวศในป่าชายเลนเซี่ยถันเหว่ยของเมืองเซี่ยเหมินไว้ใน “รวมเคสสากลว่าด้วยการประสานงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการลดภัยพิบัติทางนิเวศชายฝั่งทะเล” เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้อ้างอิง
เจตนารมณ์ที่ดีงามเพื่อสร้างโลกสะอาดสวยงามนั้น กำลังเคลื่อนตัวจากชายฝั่งนี้สู่ทั่วโลก
เขียนโดย หยาง อี้ฟู
มุมมองนักวิเคราะห์ : ความทันสมัยแบบจีนคือความทันสมัย ที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
แนวคิดว่าด้วยอารยธรรมทางนิเวศของ สีจิ้นผิง ได้ผสมผสานเข้ากับทฤษฎีทันสมัยกับทัศนะว่าด้วยอารยธรรมทางนิเวศอย่างสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิดทัศนะใหม่ว่าด้วยอารยธรรมของทฤษฎีความทันสมัยแบบจีน ด้วยการปรับและเพิ่มความหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ของเส้นทางความทันสมัยแบบจีน
ทั้งนี้ ความทันสมัยแบบจีน คือ ความทันสมัยที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ประเทศจีนยึดหลักตอบสนองความต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีของประชาชนเป็นที่ตั้ง และจุดหมายปลายทางในการสร้างสรรค์ความทันสมัยที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
น้ำใส ภูเขาเขียว คือ ภูเขาเงินภูเขาทอง เป็นทั้งแนวคิดการพัฒนาที่สำคัญ และเป็นหลักการสำคัญในการผลักดันความทันสมัยในแบบจีน โดยยืนหยัดและเชื่อมั่นในการพัฒนาคุณภาพสูง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับสูงด้วย โดยยึดหลักระบบนิเวศต้องมาก่อน นี่จึงถือเป็นทิศทางของการพัฒนาสีเขียวอย่างแท้จริง
เนื่องจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีครั้งใหม่ มีลักษณะเด่นที่เป็นการปฏิวัติสีเขียว มีความอัจฉริยะ และเข้าถึงมวลชนได้อย่างทั่วถึง การพัฒนาสีเขียวและการอนุรักษ์ระบบนิเวศกับระบบดิจิทัลมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจีนกำลังสร้างระบบดิจิทัลในการควบคุมดูแลนิเวศ และพยายามสร้างระบบดิจิทัลด้านอารยธรรมทางนิเวศที่เน้นการพัฒนาสีเขียวและความเป็นอัจฉริยะ
ทั้งนี้ ระบบนิเวศที่ดีเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะที่ยุติธรรมที่สุด และเป็นประโยชน์สุขต่อประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะสิ่งแวดล้อมคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ภูเขาเขียวคือความสวยงาม ท้องฟ้าใสคือความสุข การพัฒนาเศรษฐกิจมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย
ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประชาชนจีนไม่เพียงแต่สร้างความมั่งคั่งทางวัตถุและจิตวิญญาณมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ยังสร้างผลิตภัณฑ์ทางนิเวศคุณภาพสูงเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีงามด้วย และจุดนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า ในด้านอารยธรรมทางนิเวศ จีนก็ยึดประชาชนเป็นที่ตั้งเช่นกัน
เขียนโดย ศาสตราจารย์จางหยุนเฟย มหาวิทยาลัยเหรินหมิน
เข้าใจหลักการวางแผนการพัฒนาเพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
“การสร้างสรรค์ประเทศให้ทันสมัย ต้องวางแผนการพัฒนาเพื่อให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน มีความเคารพธรรมชาติ ปฏิบัติตามหลักธรรมชาติและอนุรักษ์ธรรมชาติ” นี่คือแนวคิดสำคัญที่ได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศชาติของจีนมาโดยตลอด
โดยหลังจากการสำรวจศึกษาเป็นเวลานาน จึงได้พบเส้นทางความทันสมัยแบบจีน ซึ่งกำหนดชัดเจนให้คำนึงถึงความทันสมัยที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน กล่าวได้ว่า การที่ทุกวันนี้จีนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง และมองการพัฒนาในแง่มุมทางปรัชญาที่ให้มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนนั้น เป็นเพราะการเรียนรู้จากบทเรียนอันเจ็บปวดจากการพัฒนาในช่วงแรกเริ่ม
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กล่าวว่า ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก ทะเลสาบ สนามหญ้า และทะเลทรายล้วนเป็นชีวิตที่อยู่ร่วมกัน ส่วนระบบนิเวศเป็นระบบธรรมชาติที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นห่วงโซ่ทางชีวภาพที่พึ่งพาอาศัยกัน และสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด นับเป็นการเข้าใจความเคลื่อนไหวของมนุษย์ในวัฏจักรธรรมชาติ และเน้นว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
ทัศนะว่าด้วยความกลมกลืนเช่นนี้ มาจากแนวคิดของอารยธรรมจีนว่าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะอารยธรรมจีนถือว่าธรรมชาติเป็นชีวิตที่ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องเข้าใจธรรมชาติและชีวิตของมนุษย์จากภาพรวมของทุกชีวิตในโลกนั่นเอง
เขียนโดย รองผู้อำนวยการหลี่เหวินถัง วิทยาลัยบริหารแห่งชาติจีน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/06/07/success-story-of-coastal-city-in-china-development/