อันตราย! เตือน Deepfake ถูกนำมาใช้หลอกลวงบนโซเชียล ‘เร็วกว่าที่คาด’

Share

Loading

  • ความซับซ้อนของเทคโนโลยีและเครื่องมือสนับสนุนเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้ Deepfakes AI ของอาชญากรไซเบอร์และกลุ่มต่างๆง่ายขึ้น
  • นักการเมืองเป็นเป้าหมายหลักของ Deepfakes (40%) รองลงมาคือคนดัง (30%) และธุรกิจ (20%)
  • การหลอกลวงส่วนใหญ่มักถูกใช้เพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมืองหรือหลอกลวงทางการเงิน

ตามรายงานล่าสุด Deepfakes กลายเป็นเครื่องมือที่อาชญากรไซเบอร์ นักแฮกข้อมูล สำนักข่าวปลอม และอื่นๆ ใช้งานเพื่อสร้างเนื้อหาปลอม รวมถึงเพื่อหลอกลวงบนโซเชียลมีเดียเร็วกว่าที่คาด

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เราก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่แนบเนียนและสมจริงขึ้นทุกวัน รายงานจาก Sensity บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจจับ Deepfake จากยุโรป ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจจับ Deepfakes ซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพิจารณาถึงสถานะของภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดจากเทคโนโลยี ระบุว่า

อาชญากรไซเบอร์และกลุ่มต่างๆ ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการโจมตีและการหลอกลวงอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าที่ผู้รับผิดชอบในภาครัฐและเอกชนคาดไว้มาก

พวกเขาใช้ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนจากลูกค้าเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจาก Deepfakes ในปี 2023 และช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ประเด็นแรกที่รายงานเน้นย้ำคือความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีและเครื่องมือสนับสนุนจำนวนมากที่จะทำให้เทคโนโลยีเหล่านั้นพร้อมใช้งานหลอกลวงกลุ่มเป้าหมาย

โดยนักการเมืองเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่ถูกสร้างตัวตนปลอมและนำไปใช้ทำ Deepfake มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40 ตามมาด้วยคนดังร้อยละ 30 และธุรกิจต่างๆร้อยละ 20

นักการเมืองส่วนใหญ่ตกเป็นเป้าหมายของการเลียนแบบตนเองโดยแถลงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งหรือบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน

ลองนึกภาพ นักการเมืองยูเครนถูกสวมรอยในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ โดยกล่าวอ้างว่าประเทศของเขาอยู่เบื้องหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในมอสโก แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมารุนแรงประเมินมูลค่าไม่ได้

ส่วนคนดังและธุรกิจต่างๆมักตกเป็นเหยื่อของ Deepfakes ที่ใช้ในการหลอกลวงผู้คนหรือข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่ผู้มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Tom Hanks, Elon Musk หรือ YouTuber MrBeast ถูกแอบอ้างเพื่อใช้ในการหลอกลวงผู้คนเช่นกัน

โดยปกติแล้ว การหลอกลวงจะถูกแชร์บนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมีศักยภาพในการแพร่กระจายแบบไวรัล รวดเร็วและกว้างขวาง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย ทำให้นักหลอกลวงสามารถเข้าถึงกลุ่มเฉพาะที่มีแนวโน้มที่จะสนใจในการซื้อขาย การพนัน หรือ ลงทุนใน crypto

การค้าขายถือเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายมากที่สุดโดยการหลอกลวงแบบ Deepfake ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ตามมาด้วยการค้าปลีกและการพนัน ซึ่งทั้งสองอย่างอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15  การหลอกลวงเงินอุดหนุนจากภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 12.5

รายงานยังเน้นย้ำถึงกลโกงเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการเลี่ยงการตรวจสอบไบโอเมตริกซ์ หรือการตรวจสอบลักษณะของมนุษย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล เช่น ลักษณะบนใบหน้า ดวงตา ลายนิ้วมือ หรือ แม้กระทั่งการเต้นของหัวใจ เพื่อเข้าถึงบริการทางการเงินหรือธนาคารออนไลน์

ปรากฏการณ์การหลอกลวงด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ Big Tech ต่างๆต้องเร่งพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการตรวจจับเนื้อหารูปภาพและวิดีโอที่สร้างโดย AI

Sensity มีเครื่องมือของตัวเองสำหรับการวิเคราะห์พิกเซลและโครงสร้างไฟล์เพื่อตรวจสอบว่าได้รับการแก้ไขหรือไม่ ส่วน Intel เปิดตัวเครื่องตรวจจับ Deepfake แบบเรียลไทม์ในปี 2022 ซึ่งจะตรวจสอบว่าแสงมีปฏิกิริยากับหลอดเลือดบนใบหน้าอย่างไร ในขณะที่ แพลตฟอร์มของ Meta จะติดป้ายกำกับเนื้อหาที่สร้างโดย AI สำหรับผู้ใช้ของพวกเขาในเร็วๆ นี้

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/851133