พนักงานไทยใช้ AI กระหึ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

Share

Loading

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn เผยผลงานวิจัย Work Trend Index 2024 เปิดข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของคนทำงานในประเทศไทยและทั่วโลก ในการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในที่ทำงาน พบพนักงานชาวไทย 92% นำ AI มาใช้แล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% ขณะที่ผู้บริหารไทย 90% เลือกพนักงานที่มีทักษะ AI เหนือคนมีประสบการณ์

รายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย ครอบคลุมแนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่รวบรวมนับล้านล้านรายการจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลกอย่างไร

โดยปี 2024 ถือเป็นปีของ AI เพื่อการทำงานอย่างแท้จริง พนักงานทั่วโลกนำ Generative AI มาใช้ทำงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนแรก ผู้ใช้ LinkedIn จำนวนมากนำทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับ AI มาเพิ่มเติมลงในเรซูเม่หรือประวัติการทำงานมากขึ้น ด้านผู้บริหารส่วนใหญ่ มีมุมมองจะไม่จ้างผู้สมัครที่ไม่มีทักษะด้าน AI แต่ก็ยังกังวลเกี่ยวกับการขาดวิสัยทัศน์ด้าน AI ของบริษัท และการที่พนักงานนำเครื่องมือ AI ส่วนตัวมาใช้ในที่ทำงาน

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน พนักงานส่วนใหญ่เลือกนำ AI มาช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน โดยไม่รอว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร

รายงานการสำรวจ Work Trend Index 2024 ดังกล่าว ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกใน 3 ประเด็นที่สะท้อนถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานตลอดทั้งปี ได้แก่

1.พนักงานต้องการนำ AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม ผลสำรวจเผยว่า พนักงานคนไทยกว่า 92% นำ AI มาใช้ในการทำงานแล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ดังกล่าว พบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกว่า Bring Your Own AI (BYOAI) ซึ่งอาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI ไม่เต็มที่ เนื่องจากยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร และเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล นอกจากนั้น 68% ของพนักงานทั่วโลก ระบุว่าพวกเขาต้องทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา AI จึงเป็นตัวช่วยที่ดี ขณะที่ผู้บริหารไทย 91% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% เชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำ AI มาใช้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

2.ผู้ใช้งาน AI ในระดับสูงหรือ Power Users มีมากขึ้น โดยคนเหล่านี้นำ AI มาปรับใช้ จนสามารถลดเวลาทำงานได้วันละ 30 นาที เฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อเดือน โดยในไทย กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้ เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85% ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ 45% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 68% ขณะที่การสนับสนุนการใช้ AI ในองค์กรไทยยังแตกต่างเมื่อเทียบกับทั่วโลก โดย 28% ของกลุ่ม AI Power Users ในไทย ได้รับข้อมูล สาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ AI จากแผนกหรือฝ่ายที่ทำงานอยู่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 40% และมี 22% ที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 42%

3.AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะและทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 66% และหากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทย 90% เลือกคนที่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่คนประสบการณ์สูงกว่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 71%

ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน ยังเผยอีกว่า ปลายปี 2023 ที่ผ่านมา จำนวนสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้น 142 เท่าตัว และในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟฟิกดีไซน์ และการตลาด

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2795281