รู้หรือไม่? ไทยมี Virtual Hospital แบบครบวงจรที่ผู้ป่วยใช้งานได้จริงแล้ว!

Share

Loading

ทำความรู้จัก Virtual Hospital หาหมอโดยที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ครบ จบ ที่บ้าน ตั้งแต่การทำบัตรผู้ป่วย ไปจนถึงการรับยา โดยทางกรมการแพทย์เปิดเผยว่าสามารถอำนวยความสะดวกต่อคนไข้ได้จริง และลดความแออัดในโรงพยาบาล พร้อมเปิดเงื่อนไขผู้ป่วยที่เข้าข่ายรับบริการได้!

Virtual Hospital คือ อะไร?

Virtual Hospital คือ ระบบการรักษาพยาบาลที่บ้าน หรือจะให้อธิบายง่ายๆ คือการนำประโยชน์ของโลกดิจิทัล หรือโลกออนไลน์มาใช้กับระบบการรักษา โดย Virtual Hospital จะครอบคลุมทั้งระบบแบบครบวงจรเสมือนว่าเราได้เข้าไปที่โรงพยาบาลจริงๆ แต่ไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนใหญ่ๆ ที่จะมาให้บริการแก่ผู้ป่วย ได้แก่

1 Virtual visit ประกอบด้วยการทำบัตรผู้ป่วย ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ได้มาตรฐาน การตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์การรักษาและการนัดหมาย โดยใช้เป็นวิธีการออนไลน์ทั้งหมด

2 Telemedicine เป็นการใช้ Video call ในการให้บริการ และการใช้เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record) ในขณะให้บริการ โดยมีการสื่อสารระหว่างพยาบาลกับผู้ป่วย ที่ช่วยในการคัดกรอง และมีการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในการตรวจรักษา

3 E-payment มีการจ่ายเงินออนไลน์ ผ่าน Application เป๋าตัง, Internet Banking

4 Tele-pharmacy การส่งยาทางไปรษณีย์ โดยมีเภสัชให้คำปรึกษาเรื่องยา

5 PHR เป็นระบบคืนข้อมูลการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ในการดูแล Personal Health Record หรือ PHR จะประกอบไปด้วยข้อมูล เช่น ข้อมูลติดต่อ น้ำหนัก-ส่วนสูง การแพ้ยา ประวัติการรับวัคซีน ประวัติการผ่าตัด เป็นต้น ในอดีตการบันทึกจะอยู่ในรูปแบบสมุดเล่ม (Physical Book) ซึ่งมีข้อเสียที่ไม่สามารถแชร์กับสถานพยาบาลหรือองค์กรต่างๆ ได้ทันทีและสมุดอาจเสื่อมโทรมจนข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือเสียหายได้

ผู้ป่วยกลุ่มไหนที่เหมาะแก่การเข้ารับบริการ Virtual Hospital

สามารถรับบริการได้ทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่เข้าเงื่อนไขการเข้ารับบริการ ดังนี้

เงื่อนไขการเข้ารับการรักษา

  1. ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ ไม่รุนแรง ไม่เร่งด่วน
  2. ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง
  3. สามารถคุยกับคุณหมอผ่านระบบออนไลน์ได้
  4. มีอินเทอร์เน็ตพร้อมใช้บริการตลอดเวลา

*หากมีอาการเร่งด่วน หรือรุนแรง แนะนำให้มาที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์

ประโยชน์ของ Virtual Hospital

นอกจากอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยในการเข้ามารับบริการ ไม่ต้องตื่นแต่เช้า มานั่งรอนาน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ได้เอ่ยถึงประโยชน์ของ Virtual Hospital ที่มีต่อโรงพยาบาลว่า

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเปิดให้บริการแก่ประชาชนมากว่า 73 ปี จากสถิติที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกมารับบริการทางการแพทย์มากกว่า 1,000,000 รายต่อปี หรือประมาณ 5,400 รายต่อวัน ในแต่ละวันพบว่ามีความแออัดของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้รับบริการเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบบริการในโรงพยาบาลถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชวิถี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในสังกัดกรมการแพทย์ ที่ได้ดำเนินการ Virtual Hospital ดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 และได้มีการพัฒนาระบบ  Virtual Hospital มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและพบแพทย์ได้แบบออนไลน์ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล อีกทั้ง ยังมีการให้บริการเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกของผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดในโรงพยาบาล

ใช้บริการได้ที่ไหนบ้าง?

การให้บริการ Virtual Hospital ในโรงพยาบาลแบบครบวงจรจากกรมการแพทย์ดังกล่าว ณ ขณะนี้ยังมีที่ โรงพยาบาลราชวิถี เท่านั้นและกำลังจะขยายไปสู่ 11 หน่วยงานในอนาคต ซึ่งการใช้บริการดังกล่าวนี้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา

อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่อยากใช้บริการในรูปแบบคล้ายคลึงกัน อาศัยอยู่ในเขตกทม. และเป็น ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง (ผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น ) ทางสปสช. ได้เปิดทางเลือกให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองรับบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพ ครอบคลุม 42 กลุ่มโรค/อาการ พร้อมจัดระบบส่งยาถึงบ้านเช่นกัน  โดยผู้มีสิทธิบัตรทอง ไม่ว่าสถานพยาบาลประจำตัวจะอยู่ที่ไหน ทั้งกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด หากปัจจุบันท่านพักอาศัยหรือมาทำธุระที่กรุงเทพมหานคร แล้วเกิดอาการเจ็บป่วย สามารถใช้บริการแล้วรอรับยาตามที่อยู่ที่จัดส่งยาได้ที่กรุงเทพฯ โดย 4 แอปพลิเคชันที่สามารถเข้าไปใช้บริการได้แก่

1.แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @Sooksabaiclinic ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ http://www.telemed.salubermdthai.com/

2.แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @clicknic

3.โททอลเล่เทเลเมด Totale Telemed โดยเดอะโททอลเล่คลินิก สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @totale

และ 4.แอปพลิเคชัน Mordee (หมอดี) โดยชีวีบริรักษ์ คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @mordeeapp ลงทะเบียนรับบริการได้ที่ https://form.typeform.com/to/qKY8gV4X

ทั้งนี้ บริการแพทย์ทางไกลครอบคลุม 42 กลุ่มโรคและอาการ ดังนี้

1.ข้อเสื่อมหลายข้อ

2.ตาแดงจากไวรัส

3.ตาแดงจากไวรัส ที่มิได้มีรหัสระบุรายละเอียด

4.ข้อเสื่อมโดยทั่วไปปฐมภูมิ

5.เนื้อเยื่ออักเสบ

6.วิงเวียน มึน

7.ปวดศีรษะ

8.อาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียอื่น

9.อาการท้องร่วง

10.กระเพาะและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ

11.ไข้ไม่ทราบสาเหตุ

12.ความผิดปกติของระบบการทรงตัวของหู

13.โรคตากุ้งยิงและตุ่มอักเสบเรื้อรังที่หนังตา

14.การอักเสบของเยื่อบุตา

15.การติดเชื้อไวรัส ที่มิได้ระบุรายละเอียด

16.กล้ามเนื้อเคล็ด

17.ติดเชื้อไวรัสไม่ระบุตำแหน่งที่เป็น

18.ข้ออักเสบข้อเดียว ที่มิได้มีระบุรายละเอียด

19.เยื่อบุจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (หวัดธรรมดา)

20.ไข้ ไม่ระบุชนิด

21.เวียนศีรษะบ้านหมุนเฉียบพลัน แบบไม่รุนแรง

22.ปวดท้องช่วงบน

23.การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลันหลายแห่งพร้อมกัน

24.ลมพิษ

25.ปวดท้อง และปวดอุ้งเชิงกราน

26.เยื่อบุตาอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด

27.ลมพิษ ที่มิได้ระบุรายละเอียด

28.ปวดหลังส่วนล่าง

29.คออักเสบเฉียบพลัน

30.ต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน

31.คออักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด

32.การติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนบนแบบเฉียบพลัน

33.กระเพาะอาหารอักเสบ ที่มิได้ระบุรายละเอียด

34.อาการปวดท้องอื่นๆ และอาการปวดท้องที่ไม่ระบุ

35.ข้ออักเสบหลายข้อ ที่มิได้ระบุรายละเอียด

36.ต่อมทอลซิลอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด

37.เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้ ที่มิได้ระบุรายละเอียด ปวดกล้ามเนื้อ

38.เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้หรือการเปลี่ยนอากาศ

39.ข้ออักเสบแบบอื่น

40.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

41.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ที่มิได้ระบุรายละเอียด

42.การติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/710058