“ไทย-มาเลย์-เวียดนาม” แข่งขันพัฒนา “คน” รองรับอุตสาหกรรมเอไอ

Share

Loading

โลกในปัจจุบันเดินหน้าเข้าสู่ยุคเอไอ AI เต็มตัว การตัดสินใจลงทุนของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศต่างๆ นอกจากการพิจารณาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ สิ่งอำนวยความสะดวก มาตรการส่งเสริมการลงทุน ฯลฯ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจก็คือ “คน”

ภายหลังนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศ “ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ” (National Semiconductor Strategy) วางเป้าหมายให้มาเลเซียเป็น “ศูนย์การผลิตชิพระดับโลก” (Global Chip Hub) มีการฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ชาวมาเลย์ที่มีทักษะสูง จำนวน 60,000 คน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต รวมถึงจัดสรรเงินอย่างน้อยปีละ 25,000 ล้านริงกิต ราว 190,000 ล้านบาท ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อบ่มเพาะคนเก่งชาวมาเลเซีย บ่มเพาะบริษัทเทคโนโลยีของมาเลเซีย รองรับการเป็นฮับการผลิตชิพโลก ทำให้ Google ประกาศเตรียมลงทุนในมาเลเซีย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 72,000 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล Data Center และระบบคลาวด์ระดับภูมิภาค Cloud Region เพื่อสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรม ไมโครซอฟท์ ประกาศลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ ราว 80,000 ล้านบาท สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ลงทุนด้านเอไอและคลาวน์คอมพิวติ้ง ล่าสุด ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอปโซเชียลมีเดีย ติ๊กต๊อก ก็วางแผนที่จะลงทุนประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์ ราว 76,000 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในมาเลเซีย

มาเลเซียกำลังกลายเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเมืองยโฮร์บารู ในรัฐยะโฮร์ เติบโตล้ำหน้า ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตลาดดาต้าเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน และกลายเป็นตลาดใหญ่สุดในอาเซียน ซึ่งหากวัดขนาดของดาต้าเซ็นเตอร์จากปริมาณการใช้ไฟฟ้า จะพบว่ามาเลเซียตามหลังแค่อินเดียและญี่ปุ่นเท่านั้น ขณะที่การเติบโตของระบบคลาวด์ ทำให้มาเลเซียกลายเป็นดาวเด่นของตลาดเกิดใหม่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและพัฒนาทักษะแรงงาน ยิ่งช่วยให้มาเลเซียนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดไปใช้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ

ขณะที่เวียดนาม กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม วาง “ยุทธศาสตร์การศึกษา 2030” พัฒนาคนเวียดนามอย่างครอบคลุม โดยเพิ่มศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลให้สูงสุด เป้าหมายคือการสร้างคนเวียดนามรุ่นใหม่ที่ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ อุดมด้วยแรงบันดาลใจ มีคุณสมบัติ สติปัญญา และความสามารถครบถ้วน จัดหาทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศชาติ เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย ยุติธรรม มีอารยธรรม เจริญรุ่งเรืองและมีความสุข

กลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาของเวียดนาม ยังเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีวศึกษา เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน ให้บริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเอไอของประเทศ โดยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท FPT Software ได้มีการลงทุนก่อสร้างศูนย์เอไอในเมืองกวีเญิน จังหวัดบิ่ญดิ่ญ ด้วยมูลค่า 2 ล้านล้านด่ง (84.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะรองรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ รวมถึงผลิตผลิตภัณฑ์สนับสนุนและพัฒนาชิ้นส่วนซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

รัฐบาลเวียดนามยังได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการวิจัยและพัฒนาและการประยุกต์ใช้เอไอ จนถึงปี 2573 โดยมุ่งผลักดันให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเอไอทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตั้งเป้าหมายให้สามารถสร้าง AI Trademark จัดตั้งศูนย์ Big Data และศูนย์ประมวลผลประสิทธิภาพสูง

บริษัท อินวิเดีย (Nvidia) ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ลงทุนในเวียดนามไปแล้ว 250 ล้านดอลลาร์ และเตรียมขยายความร่วมมือด้านธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีเวียดนาม สนับสนุนการฝึกฝนพัฒนาชาวเวียดนามในด้านปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ทั้งในอุตสาหกรรมเอไอ รถยนต์และการดูแลสุขภาพ เวียดนามยังเป็นจุดหมายที่สำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของแบรนด์ชั้นนำอย่างซัมซุงและแอปเปิล

หันมองบ้านเรา แผนการพัฒนาบุคลากรก็ถือว่าไม่น้อยหน้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต “IGNITE THAILAND: Future Workforce for Future Industry” ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล เพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น

โดยภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า ได้ตั้งเป้าสำหรับ Semiconductor & Advanced Electronics ไว้ที่ 80,000 คน อีวี 150,000 คน (ICE มี 600,000 คน) และ เอไอ 50,000 คน ปัจจุบัน ได้เริ่มดำเนินการผลิตกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแล้ว 6 โครงการ ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยมี 3 โครงการที่เป็น Quick Win เห็นผลในระยะสั้น ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มทักษะ (Upskill/Reskill) เช่น โครงการ STEM PLUS หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับกำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม สร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาเรียน สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250%

ในพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็มีสำนักงานคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ดำเนินการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับ AIS ยกระดับทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้กับบุคลากรและตลาดแรงงาน ให้มีขีดความสามารถพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ ผ่านการทำงานร่วมกับ 8 ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Automation 2. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยว 3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้า 4. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านพาณิชย์นาวี 5. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านแมคคาทรอนิกส์ 6. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอากาศยาน 7. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และ 8. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี Digital AI & 5G ภายใต้ 6 เครือข่ายมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ, วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และสถาบันไทย-เยอรมัน

การผนึกกำลังดังกล่าว ถือเป็นการยกระดับฐานทักษะสมรรถนะด้านดิจิทัล AI และ 5G อย่างมีนัยยะสำคัญใน Land scape ของการศึกษา การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งอุตสาหกรรมยุคใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีอนาคตต่อการศึกษาและการผลิตบุคลากร ที่ส่งผลต่อการยกระดับอุตสาหกรรมโดยรวม เข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรที่จะส่งผลตั้งแต่ฐานรากการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างมีอนาคต ซึ่งทั้ง 8 ศูนย์เครือข่าย ได้ร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมใน EEC ยกระดับการผลิตและบริการ สร้างมูลค่าหลายแสนล้านมาตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบัน

การลงทุนที่มีการแข่งขันเข้มข้นรุนแรงวันนี้ นอกจากการปรับโครงสร้างพื้นฐาน การวางระบบโลจิสติกส์และการสื่อสาร รวมทั้งการจัดการสิทธิประโยชน์ที่ก้าวหน้าโปร่งใส บนฐานของการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบแล้ว การจัดการให้มีบุคลากรที่มีสมรรถนะทักษะตรงตามต้องการและพอเพียง จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพิจารณาการลงทุน ที่จะส่งผลรวมให้เกิดความเติบโตก้าวหน้าทางสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเท่าทันโลก

แถลงการณ์จากไมโครซอฟท์ อ้างอิงผลวิจัยจากเคียร์นีย์ (Kearney) ธุรกิจที่ปรึกษาระดับโลก ระบุว่า เอไอจะช่วยหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 การยกระดับทักษะสมรรถนะบุคลากร ระบบการศึกษายุคใหม่ จึงต้องเน้นไปในอุตสาหกรรมด้าน 5G, DATA CENTER, AI, และ DIGITAL ขับเร่งความก้าวหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อยกระดับทักษะสมรรถนะ transform เศรษฐกิจและการบริหารจัดการยุคดิจิทัลให้บรรลุผล

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/06/30/developing-human-resources-support-ai-industry/