ออสเตรเลียพัฒนา AI คัดกรองโรคหลอดเลือดสมองผ่านสมาร์ตโฟน

Share

Loading

ทีมวิจัยจากออสเตรเลียได้พัฒนา AI ที่ทำงานบนสมาร์ตโฟน ช่วยคัดกรองสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการสแกนใบหน้าตรวจสอบความสมมาตรและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่แพทย์ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในการคัดกรองเบื้องต้นโรคหลอดเลือดในสมอง ที่หากช้าไปเพียงนาทีเดียวอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเสียชีวิตจากการป่วย และเป็นสาเหตุอันดับ 3 ที่ทำให้เกิดความพิการในประชากรโลก

ทีมวิจัยจากออสเตรเลียได้พัฒนา AI ที่ทำงานบนสมาร์ตโฟน โดยช่วยคัดกรองสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองด้วยการสแกนใบหน้าตรวจสอบความสมมาตรและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

สมาร์ตโฟนตรวจสมอง

ดิเนช กุมาร ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT) ในออสเตรเลีย กล่าวว่า แค่ยิ้มเดียวก็สามารถคัดกรองโรคหลอดเลือดในสมองได้ โดยเทคโนโลยีบนสมาร์ตโฟนนี้สามารถตรวจจับความไม่สมมาตรของใบหน้าด้วยการบันทึกวีดิโอใบหน้าที่กำลังยิ้ม

เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองมักมีใบหน้าซีกหนึ่งที่อาจจะดูแตกต่างไปจากอีกซีกหนึ่ง เช่น มุมปากตก ปากเบี้ยว หรือหลับตาไม่สนิทข้างเดียว เป็นการคัดกรองที่รวดเร็วและแม่นยำกว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน

งานวิจัยฯ เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาโลในประเทศบราซิล ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Computer Methods and Programs in Biomedicine ผลการทดลองใช้วิธีบันทึกวีดิโอตรวจการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 14  คน และกลุ่มควบคุมเพื่อสุขภาพ 11 คน พบว่าระบบมีความแม่นยำในการคัดกรองถึงร้อยละ 82

แผนดำเนินงานต่อไปจะเป็นการพัฒนาระบบให้เป็นแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ทางทีมวิจัยเน้นย้ำว่า อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้มาแทนที่การตรวจวินิจฉัยของแพทย์ แต่เป็นตัวช่วยคัดกรองอาการเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ที่พบผู้ป่วยเป็นคนแรก สามารถตัดสินใจกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม

AI วิเคราะห์โรคจากเสียง

ขณะที่กลุ่มนักวิจัยจากเดนมาร์กคาดการณ์ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองด้วยเสียง โดยใช้ AI ถอดบทสนทนาจากสายด่วน แม้ว่าระบบจะทำงานได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์สายฉุกเฉินในการวินิจฉัยเบื้องต้น แต่ก็นำมาใช้งานเป็นเครื่องมือเสริมเพื่อให้ตรวจหาทำได้เร็วและแม่นยำขึ้น

ในการพัฒนาทางทีมนักวิจัยใช้ชุดข้อมูลโทรศัพท์กว่า 1.5 ล้านสายที่โทรเข้าไปยังศูนย์บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินโคเปนเฮเกน ระหว่างปี 2558-2563 ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมองกว่า 7,000 สายในการฝึกฝนเอไอเพื่อถอดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ จากนั้นนำมาคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยอิงตามข้อความที่ถอดเสียงได้

ความก้าวหน้าฝั่งไทย

ประเทศไทยก็มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็คือแอปพลิเคชัน  “FAST Track (Stroke KKU)” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ คือการเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับ ณ ที่เกิดเหตุ แทนการโทรศัพท์ 1669 โดยทราบตำแหน่งที่เกิดเหตุแน่ชัดผ่านระบบจีพีเอส และการเผยแพร่ความรู้โรคอัมพาตหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและภาวะเร่งด่วนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

พร้อมด้วยเครื่องมือคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองเบื้องต้น หรือ F.A.S.T. ย่อมาจาก Face (ใบหน้าเบี้ยว) Arm (แขนอ่อนแรง) Speech (พูดลำบาก) และ Time (รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว)

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า FAST Track จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนแทนการโทร.1669 ทั้งยังช่วยประเมินอาการเบื้องต้นของโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยตนเอง และเชื่อมต่อกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ

“แอปพลิเคชั่นดังกล่าวโดยเมื่อติดตั้งลงโทรศัพท์มือถือเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ข้อมูลสุขภาพต่างๆ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเจ้าตัวและญาติ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างดี”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโครงการพัฒนาระบบ Telestroke และการใช้เอไอวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีสมอง โดย เป็นระบบการแพทย์ทางไกลที่ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองสามารถให้คำปรึกษาและช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลได้ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าเทคโนโลยีของไทยและต่างประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่ต่างก็มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงของความพิการจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญระดับโลก

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1134071