จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีต ที่ขับเคลื่อน เศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) โดยมีการผลิต การใช้และการทิ้งเป็นของเสียที่สร้างปัญหากับโลก เป็นเศรษฐกิจมุ่งเน้นการสร้างรายได้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ ภาวะมลพิษและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้การขาดแคลนทรัพยากร
โดยได้มีการประเมินว่ามนุษย์ได่ใช้ทรัพยากรในโลกไปกว่า 1.7 เท่าแล้ว จะต้องหาโลกใบที่สองหรือใบที่สามต่อไป หากไม่สามารถลดการใช้ทรัพยากรหรือการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในสหภาพยุโรปจึงได้มีนโยบาย กฎระเบียบและการปฏิวัติโมเดลธุรกิจ จากเศรษฐกิจเส้นตรง ไปสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่เป็นรูปแบบการจัดการระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบให้สามารถใช้ประโยชน์ได้นาน สามารถนำมาใช้ซ้ำ ซ่อมแซม หรือรีไซเคิลได้ ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสียและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในขณะที่ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ได้แก่ การให้เช่าแทนการขายขาด (product as a service) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ผลิตคงความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต การสร้างแฟลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนของเสียนำกลับมาเป็นทรัพยากรรอบสอง ร้านซ่อมและร้านขายของมือสอง เป็นต้น
หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ การใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ได้นาน ด้วย การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การปรับปรุงใหม่ การผลิตใหม่ การแปรใช้ใหม่ การออกแบบกระบวนการ การพัฒนารูปแบบธุรกิจและนวัตกรรม รวมถึงมีการติดตามผลเพื่อจัดการให้ผลิตภัณฑ์และวัสดุหมุนเวียนอยู่ภายในระบบ
เป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการออกแบบเพื่อการปรับตัวระยะยาว บนพื้นฐานการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ต้นทุนทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้มีความสมดุล
จากรายงานของ The Circularity Gap 2022 พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของทรัพยากรที่นำมาใช้งานไม่ได้กลับคืนเข้าสู่กระบวนการผลิตก็จะกลายเป็นขยะ และมีเพียงร้อยละ 8.6 ของระบบเศรษฐกิจโลกเท่านั้นที่อยู่ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งยังมีช่องว่างในการดำเนินการและปรับปรุงอยู่มาก
คณะห้าคนมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผู้แทนภาครัฐ องค์การพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันทางการเมือง ได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิฟรีดริค แอแบร์ท ประเทศไทย (FES Thailand) ที่เป็นมูลนิธิทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศเยอรมนี (กว่า 100 ปี) ที่ตั้งชื่อตามประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเยอรมัน มีสาขาต่างๆอยู่ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ รวมประเทศไทย ที่ดำเนินการสนับสนุนการขับเคลื่อนสถาบันทางการเมืองด้วยข้อมมูลวิชาการ ในประเด็นต่าง ได้แก่ด้านความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การศึกษา สิทธิเสรีภาพ รวมทั้ง สิ่งแวดล้อม ที่เป็นประเด็นใหม่ จึงได้มีโอกาสดูงานการขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจากระดับนโยบายสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของประเทศเยอรมนี
ประเทศเยอรมนี เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้มีการกำหนดนโยบายการพัฒนาควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกว่า อียู กรีนดีล (European Green Deal) โดยกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% ภายในปี พ.ศ. 2573 (ประเทศไทยกำหนดเป้าหมาย 40 %) ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นกลางทางภูมิอากาศภายในปี พ.ศ.2593 (เป้าหมายประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2608 หลังสหภาพยุโรป 15 ปี)
โดยวัตถุประสงค์ของแผนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศเยอรมนีจึงได้เอานโยบายของสหภาพยุโรปมาขับเคลื่อนในประเทศ
ทั้งนโยบายประเทศและเมืองต่างๆ ตอบโจทย์การลดการใช้ทรัพยากรและส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุมการผลิตที่ยั่งยืน การออกแบบเชิงนิเวศ โดยให้มีอุตสาหกรรมเป้าหมายดำเนินการ ประกอบด้วย สิ่งทอ อีเลคโทรนิกส์ วัสดุก่อสร้างและพลาสติก
โดยการประยุกต์การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) และแนวคิดจากอู่สู่อู่ (Cradle to Cradle :C2C) ตั้งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รับรองผลิตภัณฑ์ C2C ในขณะเมืองต่างๆ ก็นำแผนไปดำเนินการในระดับพื้นที่ เช่นกรุงเบอร์ลิน ตั้งเป้าในการลดขยะลง 20 % ในปี ค.ศ. 2030 มีศูนย์ฝึกปฏิบัติการและใช้อุปกรณ์ในการซ่อมแซม เช่น การให้บริการจักรเย็บผ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมร้านขายของมือสอง เป็นต้น
ประเทศเยอรมนีได้ใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องหรือให้ดีกว่าที่กำหนดไว้โดยสหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปเองมีแผนเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ ค.ศ. 2015 การกำหนดออกมาตรการส่งเสริมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง EU Circular Economy Action Plan ได้ตั้งเป้าที่จะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ได้อย่างน้อย 75% ภายในปี ค.ศ. 2030 ส่งผลให้สินค้าในตลาดอียูจำนวนหนึ่งก็ได้เริ่มมีการติดฉลากเพื่อแสดงให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ของตนทำสามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือ ทำจากวัสดุรีไซเคิลแล้ว และสามารถแยกส่วนที่ทำจากพลาสติกออกจากกระดาษ และนำกระดาษไปรีไซเคิลได้
โดยมีเป้าหมายในการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขณะเดียวกัน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เป็นศูนย์วิชาการและวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 และได้กลายเป็นวาระของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปแล้วจากการนำเสนอของประเทศไทย
ในคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม APEC ที่ผ่านมา และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในหมุดหมายที่ 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
ในส่วนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model นั้นได้มีการขับเคลื่อนมาระดับหนึ่งแต่ยังไม่เกิดความต่อเนื่อง และไม่มีกฎหมาย หรือแนวการในการสนับสนุน ส่งเสริมและการดำเนินการยังไม่ชัดเจน
เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่
จากการพัฒนาธุรกิจใหม่ และปรับธุรกิจเดิมที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่ลดลง การหมุนเวียนของวัสดุ และสร้างมูลค่าจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ด้วย ควบคู่ไปกับเกิดการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ บนฐานการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
แหล่งข้อมูล