บพข. หนุนนวัตกรรมระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุจากฟีโบ้

Share

Loading

ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญ เพราะในปี 2568 บ้านเราจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งหมายความว่าจากประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน จะมีผู้สูงอายุ (ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป) ถึง 20.42 ล้านคน และจากกลุ่มนี้จำนวนผู้ป่วยติดเตียงก็กำลังเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันคาดว่ามีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 1 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุ 12 ล้านคน และนั่นคือที่มาของนวัตกรรม “ระบบปรับแรงกดเฉพาะบุคคลอัตโนมัติ ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล สถานดูแลและพักฟื้น และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน” หรือ Never Pressure Injuries (NPI) โดย ดร.ปราการเกียรติ ยังคง และทีมงานจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านโครงการ LIF

ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Automated Personalized-based Pressure Control System สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จาก Rensselaer Polytechnic Institute และ University of California Los Angeles (UCLA) ตามลำดับ และปริญญาเอกจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีความสนใจเป็นพิเศษในการวิจัยด้านการเรียนรู้ของเครื่องและชีวสารสนเทศศาสตร์  (Bioinformatics) ซึ่งประยุกต์ใช้ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์

ผสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

“หลังจากกลับมาทำงานในฐานะอาจารย์ ภารกิจแรกที่ใช้เวลาอย่างตั้งใจมากๆ คือการใช้ศาสตร์หุ่นยนต์เพื่อช่วยในโครงการขาเทียมของกรมสมเด็จพระเทพฯ และเนื่องจากไม่ได้จบด้านการแพทย์ แต่อยากได้ข้อมูลและคำอธิบายในเรื่องของกล้ามเนื้อ วิธีการดูแลคนพิการ จึงขอคำปรึกษาอาจารย์แพทย์หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมาจึงได้รับโจทย์จากอาจารย์แพทย์ว่าต้องการหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหว สามารถทำได้ไหม จึงมีการพูดคุยกันในรายละเอียดต่างๆ กระทั่งแปลงออกมากเป็นงานด้านวิศวกรรม และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม “ระบบปรับแรงกดเฉพาะบุคคลอัตโนมัติ ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับให้กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาล สถานดูแลและพักฟื้น และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน” หรือ Never Pressure Injuries (NPI) ขึ้นมา และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับ กระทั่งได้มาตรฐาน ISO รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ส่วนราคาก็ถือเป็นการทดแทนหุ่นยนต์นำเข้าได้ดี” ดร.ปราการเกียรติบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรมเด่น

นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยนี้ ดร.ปราการเกียรติก็มีโอกาสพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์แผนกต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ทีมเภสัชกร ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาในการทำงานโดยเฉพาะการจ่ายยาที่ล่าช้า เพราะบุคลากรมีจำนวนน้อยกว่าผู้ป่วยมาก กอปรกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลในการพบปะหรือพูดคุยกันซึ่งหน้า จึงนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จ่ายยาเข้ามาให้บริการ

เริ่มต้นจากการพูดคุยถึงแก่นแท้ของปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย

การเป็นผู้ป่วยติดเตียงนานๆ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น แผลกดทับและการติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุข โดยต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากและเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่า “ผู้ป่วยสูงอายุและผู้พิการไม่ชอบเทคโนโลยีที่เห็นชัดหรือมีเสียงดัง เพราะทำให้ตกเป็นเป้าสายตา ไม่ชอบถูกจับจ้องแม้จะผ่านกล้องหรือช่องหน้าต่าง ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่ปกติ จึงไม่อยากให้ใครเห็นตอนทรุดโทรม”

“พยาบาลมักไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยลุกจากเตียงโดยไม่บอก ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ สิ่งที่เราค้นพบจากการพูดคุยกับผู้ป่วยแบบเจาะลึกคือ เขามักเกรงใจที่จะเรียกกลางดึกเมื่อจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ ซึ่งความรู้เหล่านี้ไม่พบในกูเกิลและไม่มีงานวิจัยใดบอก เมื่อรู้แบบนี้ เราจึงตัดเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็น สมาร์ทวอทช์และสร้อยข้อมือผู้ป่วยไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าถูกเฝ้าระวัง บางคนถึงกับบอกว่านี่คือห้องผู้ป่วยไม่ใช่ห้องขัง เทคโนโลยีต้องไม่มีอะไรเพิ่มเติมในห้องผู้ป่วย ต้องเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว อินไซต์จากผู้ป่วยหลายคนแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ไม่ต้องเข้ามาบ่อย ไม่ต้องพลิกตัว ไม่ต้องแตะต้อง เพราะมันรบกวนการพักผ่อนของผู้ป่วย แม้จะฟังดูดีว่าดูแลอย่างใกล้ชิดในวอร์ดวีไอพี แต่ถ้าเข้ามาบ่อยๆ ผู้ป่วยก็ยังรู้สึกไม่สะดวกใจ อยากให้ช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาพักผ่อนจริงๆ ไม่ต้องเข้ามาวัดไข้ หรือดูแลถี่เกินไป เพราะมันรบกวน และทำให้บุคลากรเหนื่อยด้วย”

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและช่วยเบาแรงบุคลากรทางการแพทย์

ดร.ปราการเกียรติ เล็งเห็นและเข้าใจถึงปัญหานี้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ กระทั่งได้นำมาใช้งานจริงในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และเปิดขายระบบเชิงพาณิชย์เมื่อปีที่ผ่านมา โดยระบบนี้ประกอบด้วยเซนเซอร์ที่ติดตั้งใต้ฟูกนอน ทำหน้าที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวและการกดทับของร่างกาย ข้อมูลจากเซนเซอร์จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ของวอร์ดพยาบาล สามารถติดตามดูผู้ป่วยได้พร้อมๆ กันหลายเตียงผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยระบบจะใช้ AI เพื่อเรียนรู้รูปแบบการนอนของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถปรับการดูแลผู้ป่วยแบบ personalized และเหมาะสมยิ่งขึ้น

ระบบใช้ AI ควบคุมการทำงานอัตโนมัติจากข้อมูลการเคลื่อนไหวมากกว่า 615,359 ชั่วโมง ในปี 2566 NPI สามารถป้องกันการเกิดแผลกดทับจากแรงกดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยยืดเวลาการพลิกตัวได้มากกว่า 5 เท่า ลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มความสบายในการนอน

“NPI ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝังในที่นอน เซ็นเซอร์จะปรับแรงกดอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้รบกวนการนอนของผู้ป่วย ช่วยป้องกันแผลกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกเหนือจาก AI ระบบนี้ยังรวมเอาเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และคลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้การตัดสินใจด้านการดูแลผู้ป่วยมีความแม่นยำมากขึ้น ราคาของอุปกรณ์แบบครึ่งเตียงเริ่มต้นที่ราว 30,000 บาท และ NPI รุ่น Plus ราคา 74,500 บาท (ไม่รวม VAT7%) ในขณะที่แบบเต็มเตียงมีราคาสูงขึ้น แต่ยังคงถูกกว่าราคาของต่างประเทศที่จำหน่ายในราคาหลักแสนบาท

การันตีคุณสมบัติและการใช้งานที่ผ่านการตีแตก pain point ของผู้ป่วยมาอย่างละเอียดรอบคอบ

ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่า ระบบนี้สามารถช่วยเหลือได้สามกลุ่มหลัก คือ โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) และผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ระบบนี้ไม่เพียงช่วยลดภาระงานของผู้ดูแล แต่ยังให้ข้อมูลที่ละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและความคืบหน้าของผู้ป่วย ทำให้การดูแลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับภาพรวมการทำงาน ระบบจะแสดงภาพร่างกายของผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียง โดยใช้สีแทนค่าเพื่อระบุการกดทับ สีขาวแสดงถึงสภาวะปกติ สีเหลืองแสดงการเตือนว่านอนท่านี้นานเกินไป และสีแดงเป็นการเตือนให้รีบดูแลผู้ป่วย เนื่องจากการกดทับมากอาจทำให้เกิดแผล ระบบยังสามารถตั้งค่าการเตือนเฉพาะบุคคลได้ เช่น การเตือนให้พลิกตัวทุกๆ กี่ชั่วโมง และสิ่งที่ทำให้ NPI มีความแตกต่างที่ชัดเจนคือ การใช้เซนเซอร์ตรวจจับท่านอนและแรงกด จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังระบบประมวลผลบนมือถือหรือแท็บเล็ต เมื่อประมวลผลเสร็จ หากไม่จำเป็นต้องพลิกตัว ระบบจะแนะนำให้ลดแรงกดบริเวณนั้นลง แทนการพลิกตัวผู้ป่วย

NPI สามารถตรวจจับรูปแบบการนอน และวัดแรงกดทับได้แบบเรียลไทม์ควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่น ช่วยให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเต็มที่ไม่ต้องพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมงเพิ่มความสะดวกและลดภาระแก่ผู้ดูแลซึ่งอาจเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคนในครอบครัวของผู้ป่วยติดเตียงที่พักฟื้นที่บ้าน

ดร.ปราการเกียรติ บอกถึงผลลัพธ์ที่ได้ว่า “มีการวิจัยและทดลองใช้งาน NPI พบว่าระบบสามารถปรับแรงกดให้เหมาะสมกับท่านอนของผู้ป่วย เช่น หงาย คว่ำ ตะแคง และคุดคู้ แทนการพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง ระบบจะปรับแรงกดตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ไม่เหมือนเก้าอี้นวดที่แรงกดเท่ากันทุกคน NPI ใช้เซ็นเซอร์และการคำนวณเฉพาะบุคคล เพื่อรักษาสมดุลและให้ผู้ป่วยนอนสบาย หากผู้ป่วยมีอาการหนัก คุณหมอสามารถปรับแบบแมนนวลได้ ระบบ IoT ของ NPI ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยจากระยะไกลผ่านไอแพด ลดการติดกล้องและเซ็นเซอร์ ทำให้ผู้ป่วยไม่อึดอัด ญาติพี่น้องทำงานได้ตามปกติ และบุคลากรทางการแพทย์มีเวลาดูแลส่วนอื่นๆ ตอบโจทย์การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์”

นอกจากนี้ ระบบ NPI ช่วยรักษาสมดุลแรงกดเฉพาะจุด สามารถปรับแบบแมนนวลสำหรับผู้ป่วยอาการหนักได้ โดยแพทย์แม้จะไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล ก็สามารถควบคุมผ่านแท็บเลตได้

ติดอาวุธทางธุรกิจ เปิดมุมมองระดับโลก และเสริมสร้างประสบการณ์แบบรอบด้านกับโครงการ LIF บพข.

ช่วงหลังโควิด-19 NPI ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนักวิจัย (Leaders in Innovation Fellowships) หรือ LIF ที่มี บพข. และพันธมิตรช่วยกันสนับสนุน ซึ่งช่วยแนะนำ บ่มเพาะ และขัดเกลาให้ NPI มีความพร้อมที่จะบุกตลาดมากขึ้น

“เราได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานจากโครงการ LIF ซึ่ง NPI เป็น 1 ใน 9 ทีม ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยที่มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำความรู้ไปบอกเล่าในเวทีนานาชาติที่ประเทศอังกฤษ มีนักลงทุนต่างชาติหลายรายให้ความสนใจ แต่ยังมีข้อจำกัดจากการที่เป็นนวัตกรรมที่เข้าข่ายเครื่องมือแพทย์ จึงไปเสนอขายไม่ได้เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่ หลังกลับจากอังกฤษ NPI ระดมทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติได้ พร้อมกับนำคำแนะนำจากบรรดากูรูมาพัฒนาต่อยอด โดยมีการบ้านสำคัญคือจะต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านวิศวกรรม จะต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. และขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์”

ดร.ปราการเกียรติ บอกว่า โครงการ LIF ให้มุมมองความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง “ธุรกิจไม่ได้มองแค่ในประเทศ แต่ต้องมองระดับโลกด้วย รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่ไม่ใช่แค่ร่วมมือกับ จุฬาฯ ลาดกระบัง ก็จบแล้ว แต่มันเป็นการขยายโอกาส เพราะตอนที่เราไปอังกฤษ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองที่หลากหลายของผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ทั้ง ออกซ์ฟอร์ด แคมบริดจ์, อิมพีเรียล คอลเลจ, ยูออฟลอนดอน ทำให้ทิศทางของ NPI ชัดเจนขึ้นในหลายมิติ และก่อนที่จะไปอังกฤษ LIF ได้จัดอบรมตั้งแต่ในไทยโดยผู้เชี่ยวชาญ เมื่อไประดับนานาชาติก็ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญเบอร์ต้นๆ ของโลกที่ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์แผนธุรกิจ การดำเนินงาน เงินทุน และความเป็นไปได้ของธุรกิจเรา แบบมืออาชีพ แบบหนักหน่วง ปะฉะดะเลยก็ว่าได้ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เราโดนคอมเมนท์แบบเต็มรูปแบบจริงๆ”

“ถ้า NPI ไม่เข้าร่วมโครงการ LIF คิดว่ายากมากที่จะเปิดประตู่สู่โอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ เพราะให้การสนับสนุนเราอย่างจริงจัง ช่วยคิดว่าจะสานต่อหรือต่อยอดกันอย่างไรต่อไป รวมถึงการมอบเครือข่ายที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ การไปเยือนอังกฤษครั้งนั้น จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้น”

จากรากฐานที่แข็งแกร่ง แรงหนุนจากพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วน NPI พร้อมต่อยอดสู่อนาคต

“นับจากนี้ ธุรกิจจะเติบโตได้เร็วเพราะเราเดินหน้าในเชิงพาณิชย์แล้ว ปัจจุบันมีการใช้ NPI ในโรงพยาบาลชั้นนำต่างๆ โดยภาครัฐเริ่มจากโรงเรียนแพทย์ก่อนเพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจ เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ขณะที่ต่างจังหวัดนำร่องที่ รพ.อยุธยา และ รพ.จุฬาภรณ์ นครศรีธรรมราช ส่วนภาคเอกชนมีเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ครอบคลุมผู้ใช้งานมากกว่า 4,000 ราย ที่น่าสนใจคือ หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยบางรายซื้อไปติดตั้งที่บ้าน บ้างซื้อไปบริจาคในชุมชน รวมถึงศูนย์ดูแลผู้ป่วยต่างๆ มีบางรายจะบอกบุญต่อด้วยการทอดผ้าป่าถวายโรงพยาบาลสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์ที่อาพาธก็มีโอกาสได้ใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดหวังแต่แรก“ ดร.ปราการเกียรติบอก

พร้อมเล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดและเผยแพร่ NPI ในวงกว้างว่า “มีประตูหลายบานเปิดรับ โดยเฉพาะข้อดีของ มจธ. คือไม่มีโรงเรียนแพทย์ เราจึงสามารถจับมือกับที่อื่นได้อย่างอิสระและไม่จำกัด ทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข หน่วยงานไหนหรือนักวิจัยท่านใดมีข้อสงสัย เราจะชวนมาทำวิจัยและร่วมกันอธิบาย เราไปแบ่งปันองค์ความรู้นี้ในเวทีวิศวกรรม และเวทีประชุมวิชาการทางการแพทย์ ไปออกบูธ ทำเดโมร่วมกัน ทำให้คนเข้าใจถึงประโยชน์และเห็นภาพที่ชัดเจนของนวัตกรรมนี้มากขึ้น”

จากการที่ปัจจุบัน NPI มีระบบแจ้งเตือนไปยังบุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้ว แต่ในอนาคตจะมีคอลเซ็นเตอร์มาช่วยสนับสนุนการทำงานผ่านการโทรแจ้งเตือน ส่วนผลตอบรับที่ได้จากการใช้งานของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์พบว่าต่างพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะลดภาระแพทย์และพยาบาลได้จริง ทำให้มีเวลาไปทำงานอย่างอื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันการถกเถียงหรือมีข้อพิพาทกับผู้ป่วยก็น้อยลงเช่นกัน

นอกจากนี้ ดร.ปราการเกียรติ มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป เช่น เตียงช่วยพลิกตัวผู้ป่วยเพื่อช่วยลดภาระของผู้ดูแล และเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนเก้าอี้เพื่อติดตามสุขภาพของผู้ใช้ในการป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม รวมถึงการพัฒนาเซนเซอร์สำหรับเก้าอี้วีลแชร์ เพื่อป้องกันแผลกดทับในกลุ่มผู้พิการที่ต้องนั่งเป็นเวลานาน เป็นต้น

“NPI มุ่งหวังเป็นสตาร์ทอัพสายพันธุ์ไทยที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการดูแลสุขภาพและความสุขด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาแผลกดทับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการนอนที่สะดวกสบายและมีคุณภาพ ไปจนถึงความสามารถในการช่วยเหลือผู้สูงอายุและเด็กทารก เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในการนอนของทุกคน รวมถึงแก้ปัญหา pain point อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะที่ดี”

ปัจจุบัน NPI ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับองค์การเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ

กล่าวโดยสรุป การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง แต่ยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในระยะยาว ถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในปี 2568

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/07/09/pmuc-never-pressure-injuries/