พลังงานสีเขียว…ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ของอุตสาหกรรมยุคใหม่

Share

Loading

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่อง การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) เพื่อสนับสนุนการใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” ของภาคอุตสาหกรรม

‘ไฟฟ้าสีเขียว’ (Green Energy) คือพลังงานหรือแหล่งที่มาของพลังงาน ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำ หรือชีวภาพ สามารถนำมาผลิตไฟฟ้า ทดแทนจากที่ปัจจุบันเป็นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงก่อให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดภาวะโลกร้อน เช่น ฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์

สำหรับ การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง หรือ PPA เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กับ บริษัท EPC (ผู้ลงทุนติดตั้ง Solar cell ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้นๆ) โดยที่ผู้ประกอบการจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่ EPC กำหนด มีระยะเวลาสัญญาโดยทั่วไปคือ 10-20 ปี จนเมื่อสิ้นสุดสัญญา ผู้ประกอบการจะกลายเป็นเจ้าของ Solar cell โดยอัตโนมัติ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ขณะที่ การกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบ โครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้การบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า เป็นไปด้วยความโปร่งใส และไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

มติดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ให้บริษัทชั้นนำของโลก ที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ ซึ่งบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายไฟฟ้าสีเขียว คงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป หรือ อุตสาหกรรม SME ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพลังงานสีเขียว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีบริการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ จะต้องผลิตสินค้าหรือบริการด้วยกระบวนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ หลายประเทศก็เริ่มนำมาตรการภาษีคาร์บอน มาบังคับใช้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบาย the European Green deal ที่มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 1990 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 

CBAM ถือเป็นมาตรการที่ EU นำมาใช้เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากเข้าสู่ EU และช่วยผู้ประกอบการใน EU ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่าในการผลิตสินค้า ภายใต้ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกของ EU (EU’s Emission Trading System : EU ETS) ตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของ EU ที่เข้มข้น รวมทั้งเป็นการเร่งให้ผู้ผลิตในประเทศคู่ค้าของ EU ต้องดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังอีกด้วย

การดำเนินการภายใต้ CBAM นั้น จะบังคับให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด ซึ่ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายแรกสำหรับสินค้านำเข้าที่จะต้องปฏิบัติตามกลไก CBAM ได้แก่ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และ อะลูมิเนียม โดยผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาต (Authorization) และมีการรายงานข้อมูลตามกลไก CBAM ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ช่วง 3 ปีแรก (2023–2025) จะเป็นการรายงานข้อมูล (CBAM Declaration) เท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่วงเวลาในการปรับตัว โดยจะต้องมีการรายงานข้อมูลทุกไตรมาส ประกอบด้วย

(1) ปริมาณการนำเข้าสินค้า

(2) ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้ง Direct และ Indirect Emissions ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการผลิต และตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต

(3) ค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จ่ายสำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า ทั้งนี้ CBAM จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะมีการขยายไปในสินค้ากลุ่มอื่นๆ ต่อไป

เมื่อการลดก๊าซเรือนกระจกกกลายเป็นข้อบังคับของภาคอุตสาหกรรม ทุกโรงงานไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องหันมาใช้ไฟฟ้าสะอาด ต้องเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนตามเงื่อนไขของคู่ค้า บริษัทใหญ่ๆ อาจทำได้เพราะมีเงินทุน แต่บริษัทเล็กๆ กำลังทุนไม่พอจะทำอย่างไร เช่น เงื่อนไขระบุว่าปีนี้ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100 ตัน แต่บริษัทลดได้แค่ 50 ตัน อีกครึ่งหนึ่งจะทำอย่างไร ทางออกคือการซื้อคาร์บอนเครดิตจากคนอื่น มาเพิ่มเติมจาก 50 ตันเป็น 100 ตัน ซึ่งใช้เงินทุนน้อยกว่า เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องศึกษา ทำความเข้าใจ เป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/06/28/green-energy-and-modern-industry/