เทคโนโลยีอวกาศกับความเป็นกลางทางคาร์บอน

Share

Loading

ไทยคมโชว์เทคโนโลยีอวกาศ จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) และ AI ผ่านดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation – EO) ประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ เตรียมความพร้อมขยับสู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ในโอกาสดังกล่าว บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม “Carbon Watch” เครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ โดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ผ่านดาวเทียมสำรวจ (Earth Observation-EO) ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นรายแรกในประเทศไทย

แพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยคมภายใต้ Earth Insights ซึ่งเตรียมให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตแก่ลูกค้าในไทย ในระยะเริ่มต้นร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ อบก.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนตํ่าอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ภายใต้ ชื่อ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Pro gram : T-VER) เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยการพิจารณาขึ้นทะเบียนหรือรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER ดังกล่าว ผู้ดำเนินโครงการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ อบก.กำหนด ซึ่งไทยคมเป็นหน่วยงานแรกของไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้

ขณะนี้สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่า เบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เครื่องมือสำคัญดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ซึ่งในอนาคตจะนำไปสู่ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ใครปลูกป่ามากจะสามารถนำตัวเลขการกักเก็บคาร์บอนมาคำนวณคาร์บอนเครดิตขายให้บริษัทเอกชนที่ปล่อยคาร์บอนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อน ทุกภาคส่วนเห็นถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและ AI เป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียมมาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศของไทยคม ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML (Machine Learning) จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำกว่า 90% รวดเร็ว ตรวจสอบได้และคุ้มค่ากว่า

โดยหลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ได้รับการรับรองแล้ว ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชน ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เดินหน้าสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯกล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศ การนำฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯไปผนวกกับเทคโนโลยีของไทยคม จนได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำออกมา จะเร่งให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2800429