จุฬาฯ เสนอนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีแบบพุ่งเป้า ทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็ง

Share

Loading

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอนวัตกรรมรักษาโรคมะเร็งโดยใช้นาโนเทคโนโลยีแบบพุ่งเป้าร่วมกับการบำบัดด้วยแสง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงของผู้ป่วยระหว่างการรักษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Cutting-edge Nanotechnologies for Good Health and Well-being” นำเสนอนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ระหว่างวันที่ 9 – 12 กรกฎาคม 2567 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ

ปัญหาสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งคือผลข้างเคียงจากการรับยาเคมีบำบัดหรือคีโม วงการแพทย์จึงพยายามค้นหาวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ผลข้างเคียงต่ำความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน นอกจากการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell แล้ว ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้นาโนเทคโนโลยีแบบพุ่งเป้าร่วมกับการบำบัดด้วยแสง (photodynamic therapy) ภายใต้โครงการวิจัย “OXIGENATED” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก the Horizon 2020 Marie Skłodowska-Curie Actions (MSCA) Research and Innovation Staff Exchange (H 2020-MSCA-RISE) ซึ่งนำเสนอผลการวิจัยในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้

โครงการวิจัย OXIGENATED เป็นการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้อนุภาคนาโนพาออกซิเจนแบบพุ่งเป้าไปยังเซลล์มะเร็งและกระตุ้นการฆ่าเซลล์มะเร็งแบบเฉพาะจุดด้วยแสง มี ผศ.ดร.ชาญชัย บุญหล้า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับทุนดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2562 – 2567 เป็นการกำจัดเซลล์มะเร็งเฉพาะจุด ช่วยลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงของผู้ป่วยในกระบวนการรักษาได้สูง

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยอีก 2 โครงการที่ได้รับทุนจาก H 2020-MSCA-RISE ได้แก่ โครงการ SUPRO-GEN ซึ่งมี ศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งโครงการวิจัยจะดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2569 และโครงการ THERABOT ซึ่งจะเริ่มศึกษาวิจัยในปี 2568 เป็นการวิจัยทางเลือกโดยใช้แบคทีเรียในการยับยั้งและกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยมี ผศ.ดร.ณัฐธิดา โชติช่วง ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะ วิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ

การประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Cutting-edge Nanotechnologies for Good Health and Well-being” เป็นงานรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการแพทย์ นักวิจัย เภสัชกร และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกที่ทำงานด้านการบำบัดรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้เกิดโอกาสและเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ บริษัท สตาร์ทอัพ องค์กรภาครัฐและเอกชนชั้นนำ

ผศ.ดร.ชาญชัย บุญหล้า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย MSCA-RISE OXIGENATED ซึ่งนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้กล่าวถึงนวัตกรรมนี้ว่าเป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ เป็นเทคโนโลยีระบบการขนส่งยามะเร็งและออกซิเจนไปยังเซลล์มะเร็งเป้าหมาย โดยการใช้สารนำพาโปรตีนนาโนที่มีฮีโมโกลบินเป็นตัวพาออกซิเจนและสารเร่งปฏิกิริยาความไวของแสง เมื่อโปรตีนนาโนนี้ไปถึงบริเวณที่เป็นมะเร็งและทำการฉายแสงลงไป สารนี้จะแตกออกเป็นอนุมูลอิสระและสามารถกำจัดมะเร็งได้ ทำให้การบำบัดรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองวิจัยในหลอดทดลองและหนูทดลอง และมีแผนจะทำการวิจัยในคนในอนาคตอันใกล้นี้

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/711021