โลกป่วน! อุตสาหกรรมไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ไม่ green ไม่ clean ไปไม่รอด

Share

Loading

ปัญหาโลกร้อนกลายประเด็นสำคัญที่อาจทำให้ไทยสูญเสียศักยภาพการส่งออก หากไม่ปรับตัวทันที เนื่องจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act: CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปขายตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังมีภาษี CBAM หนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา คาดว่ามาตรการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนในกระบวนการผลิต

การเลือกตั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ในปีนี้ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกให้สูงขึ้นในระยะข้างหน้า โดยผลการเลือกตั้งทั้งในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสสะท้อนการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองไปเป็นฝ่ายซ้ายมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้นโยบายทางการคลังมีทิศทางเพิ่มรายจ่ายภาครัฐบาล เพื่อสนับสนุนค่าครองชีพของครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังในระยะข้างหน้าได้

ขณะที่ ฝั่งสหรัฐฯ หลังการดีเบตรอบแรกผ่านไป ได้เกิดกระแสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมเครต ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันยังคงมีคะแนนนิยมนำอยู่จากโพลล่าสุด ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครตจะได้เสียงข้างมากในสภา ทั้งสองพรรคล้วนมีนโยบายกีดกันการค้ากับจีน อย่างไรก็ดี หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี มีความเสี่ยงที่ภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนจะถูกขึ้นเป็น 60% รวมถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เป็น 10%

ปัญหาความซบเซาของเศรษฐกิจ มาตรการการค้าระหว่างประเทศ สินค้าส่งออกของไทยได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากไม่มีสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไฮเทคที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ดอกเบี้ยและค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ส่งผลให้หลายกิจการไปไม่ไหว

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการปิดโรงงาน ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2567) จำนวนการปิดโรงงาน อยู่ที่ 488 แห่ง ทำให้ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 มีคนตกงาน 12,551 คน พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนผลประกอบการ ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร

ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยง และความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่างๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมที่ไม่ปรับตัวเข้าสู่กระแสรักษ์โลก ไม่ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุตสาหกรรม ขาดการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มีโอกาสสูงที่จะถูกดีลีทออกจากสมรภูมิการค้าระหว่างประเทศ

การพึ่งพาเพียงแค่ตลาดในประเทศ ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงสูง นอกจากจะต้องเผชิญกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศแล้ว กระแสการบริโภคภายในประเทศก็ยังฝืดเคือง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ที่สำรวจโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง โดยในเดือน มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 58.9 ปรับตัวลดลงจากเดือน พ.ค. 2567 ที่ระดับ 60.5 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 เป็นต้นมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 44.1 เป็น 42.8 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 มาอยู่ที่ระดับ 66.7 ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การกำหนดเพดานราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตรึงตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 67 จะครบกำหนด 31 ก.ค. 67 นี้ และตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.67 เป็นต้นไป มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะมีการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคาดีเซลแบบทยอยขึ้นกรอบ 1 บาทต่อลิตร ทำให้เพดานราคาเพิ่มขึ้นมาอีก 1 บาท อยู่ที่ไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อการขนส่งสินค้าทางถนนที่มีค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 49 ของต้นทุนรวม ขณะที่การปรับขึ้นค่าบริการขนส่งทำได้จำกัด เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติ

ท่ามกลางปัญหาทั้งภายในและภาพนอก กับการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ การผลิตสินค้านับจากนี้ ไม่กรีน ไม่คลีน ไปไม่รอด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/07/14/thai-industry-go-green/