ปรมาจารย์ด้านหุ่นยนต์ของ MIT เสนอ ‘กฎสามข้อ’ ของการพัฒนาหุ่นยนต์

Share

Loading

คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก ‘รอดนีย์ บรูกส์’ (Rodney Brooks) แต่เขาผู้นี้คือศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์คนสำคัญของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่มีส่วนในการก่อตั้งบริษัท Startup ด้านหุ่นยนต์ในอเมริกาหลายเจ้า และที่คนไทยน่าจะคุ้นชื่อสุดคือ iRobot เจ้าของหุ่นยนต์ ‘กวาดพื้น’ ชื่อดังอย่างรุ่น Roomba

ล่าสุด ปลายเดือนกรกฎาคม 2024 เขาได้พยายามจะชี้ปัญหาของการพัฒนาหุ่นยนต์ในยุคปัจจุบัน และเสนอแนวทางแก้ไข โดยเขาเสนอในรูปของ ‘กฎสามข้อ’ ของหุ่นยนต์ เพื่อเป็นการคารวะปรมาจารย์ไซ-ไฟอย่างไอแซก อาซิมอฟ แต่แน่นอนว่ามันเป็น ‘กฎสามข้อ’ ที่ต่างกันคนละโลก

ในขณะที่ ‘กฎสามข้อ’ ของอาซิมอฟ คือกฎสำหรับหุ่นยนต์ว่า

1.หุ่นยนต์ห้ามทำร้ายมนุษย์หรือปล่อยให้มนุษย์ได้รับอันตรายโดยไม่ได้กระทำการใดๆ

2.หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ ยกเว้นในกรณีที่คำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับกฎข้อแรก

3.หุ่นยนต์ต้องปกป้องการดำรงอยู่ของตนเอง ตราบใดที่การปกป้องดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง

ส่วน ‘กฎสามข้อ’ ของบรูกส์คือกฎสำหรับนักพัฒนาหุ่นยนต์ ย่อสั้นๆ ได้ดังนี้

1.นักพัฒนาจะต้องพัฒนารูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ที่สะท้อนการใช้งานและความสามารถของหุ่นยนต์

2.นักพัฒนาจะต้องให้ความสำคัญกับทางเลือกของมนุษย์มากกว่าการทำงานของหุ่นยนต์ ถ้าทั้งคู่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

3.นักพัฒนาต้องพัฒนาหุ่นยนต์เป็นเวลา 10 ปี หลังจากการเอามาโชว์ในห้องแล็บ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถใช้งานได้สม่ำเสมอที่สุด

กฎข้อแรก – บัญญัติขึ้นเพราะว่ายุคหลังๆ นักพัฒนามักจะออกแบบหุ่นยนต์ให้มีรูปลักษณ์ภายนอกดูมีความสามารถเกินจริง เพื่อล่อให้นักลงทุนมาลงทุน ในมุมของบรูกส์ การทำแบบนี้ไม่ยั่งยืนเพราะมันเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และเขาก็ยกตัวอย่าง Roomba ที่คนเห็นแล้วจะรู้เลยว่ามันเป็นหุ่นกวาดพื้นที่ทำได้แค่นั้น มันไต่กำแพงไม่ได้ ขึ้นลงพื้นต่างระดับไม่ได้ และนี่คือการออกแบบที่ดีที่สะท้อนความสามารถในการทำงานของหุ่นยนต์มาแบบไม่ขาดไม่เกิน ซึ่งต่างจากหุ่นยนต์รุ่นหลังๆ ที่เขาเห็นนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ ชอบเอามาโชว์

กฎข้อสอง – เขาบัญญัติจากประสบการณ์การใช้ชีวิตในซานฟรานซิสโก ที่ทุกวันนี้ ‘หุ่นยนต์’ ในรูปแบบของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมันวิ่งไปทั่ว และรถเหล่านี้ วันดีคืนดีก็จะกีดขวางถนน บางทีก็หยุดตรงแยกทั้งที่ไฟเขียวแล้ว สร้างปัญหาการจราจร หรือในทำนองเดียวกันพวกหุ่นยนต์ในโรงพยาบาลเองก็ชอบ ‘ขวางทาง’ ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นตามทางเดินหรือหน้าลิฟต์ และประเด็นก็คือ ถ้านักพัฒนาไม่คิดอย่างละเอียดว่าหุ่นยนต์มันจะกีดขวาง หรือ ‘สกัดทางเลือก’ ของมนุษย์อย่างไรบ้างแล้ว ก็จะเกิดปัญหาแน่ๆ ในระยะยาว และทุกวันนี้ก็เพียงเริ่มต้นมันยังเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และควรจะเน้นเรื่องนี้มากๆ

กฎข้อสาม – บัญญัติจากประสบการณ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ คือหุ่นยนต์รุ่นหนึ่งๆ กว่ามันจะพัฒนาไปจนให้ประสบการณ์ที่ดีและราบรื่นต่อผู้ใช้ทั่วไปได้ ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และเขาบัญญัติกฎข้อนี้เพราะว่านักพัฒนายุคปัจจุบันจะรีบพัฒนาหุ่นยนต์ออกมาขาย และใช้โลกเป็นการทดลองหุ่นยนต์ ซึ่งการทำแบบนี้ถ้าไม่นับเรื่องอันตรายแล้ว มันยังจะสร้างประสบการณ์แย่ๆ ให้กับผู้บริโภค ที่ใช้หุ่นไปแล้วค้างบ้าง ไม่ทำตามสิ่งที่ต้องการบ้าง และจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมหุ่นยนต์โดยรวม ทำให้ผู้บริโภคยอมรับหุ่นยนต์ช้าลงไปอีก ดังนั้นพื้นฐานคือนักพัฒนาต้องสร้างหุ่นยนต์ที่ผู้บริโภคมีประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นที่สุด และสิ่งนี้มักต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี จากวันแรกที่นำหุ่นยนต์มาโชว์สำเร็จ

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าไม่มีผลบังคับใช้ใดๆ แต่บรูกส์ก็ถือเป็น ‘บิ๊กเนม’ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีประสบการณ์ทั้งพัฒนาหุ่นยนต์ระดับพื้นฐาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์มาขายในท้องตลาดจนสำเร็จ และเขาก็เน้นมากว่าบางทีนักพัฒนาไม่ได้มองจากมุมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเลิกกระทำ ถ้าเราต้องการให้หุ่นยนต์เป็นที่ยอมรับในสังคม

บรูกส์ทิ้งท้ายว่า โดยพื้นฐานแล้วหุ่นยนต์ทุกตัวที่สร้างขึ้นต้องมี ‘ปุ่มปิดฉุกเฉิน’ (Kill switch) เผื่อสำหรับการใช้งานที่มีความผิดพลาด และโดยหน้าที่ของนักพัฒนา ก็คือการสร้างหุ่นยนต์ที่ผู้ใช้ไม่ต้องมากดปุ่มที่ว่านี้นั่นเอง

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1066933688328300&set=a.811136580574680