เมื่อคนกับ AI จับมือกันพัฒนาซอฟต์แวร์ ‘AI-Augmented Software Development’

Share

Loading

การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (AI-Augmented Software Development) นับเป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 2567 หรือ 10 Technologies to Watch 2024 โดยเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของการทำงานร่วมกันระหว่าง AI และมนุษย์ ที่มาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในการพัฒนาซอฟแวร์เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

โดยเทรนด์เทคโนโลยีนี้ เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งทั่วโลกต่างตื่นเต้นไปกับความสามารถของ AI ด้านต่างๆ ที่เขยิบเข้ามาใกล้คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม ช่วยสร้างแผนงาน หรือแม้กระทั่งการสร้างภาพหรือคลิปตามคำสั่งหรือ Prompt ที่เป็นเพียงวลีภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกันทั่วไปแทนการเขียนโค้ด ส่งผลให้ปัจจุบัน AI เริ่มได้รับตำแหน่งเป็นคู่หูในการทำงานของใครหลายคน

รวมถึงโปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้วย เพราะปัจจุบันโปรแกรมเมอร์สามารถนำ AI มาใช้เป็นผู้ช่วยในการทำงานได้ ทั้งในขั้นตอนการออกแบบ การสร้าง ไปจนถึงการทดสอบซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังใช้เป็นผู้ช่วยในการวางแผนการตลาดของแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ที่กำลังพัฒนา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอันใกล้ AI อาจได้รับการเลื่อนขั้นสู่การเป็น Software Development Tools ที่สำคัญชนิดหนึ่ง

และสำหรับใครที่ยังสงสัยและกังขาเกี่ยวกับความสามารถของ AI ว่าโปรแกรมเมอร์จะนำ AI ไปช่วยทำอะไรได้บ้าง ตัวอย่างเด่น 4 ด้านที่ AI มีศักยภาพที่จะก้าวมาเป็นผู้ช่วยได้เป็นอย่างดี คือ

  • การแปลงภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) หรือภาษาที่เราใช้สื่อสารกันอยู่ทั่วไปให้เป็นโค้ดได้อย่างรวดเร็ว
  • การช่วยสร้างและแปลงโค้ดให้ใช้กับภาษาสมัยใหม่ได้
  • การช่วยสร้างอัลกอริทึมเสนอแนะการตัดสินใจที่สำคัญต่างๆ ได้
  • การช่วยออกแบบชุดความรู้และกระบวนการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบรายบุคคล

โดยทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรด้านการพัฒนาทักษะแบบรายบุคคล หรือองค์กรที่มีบุคลากรในสังกัดเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ ถ้าเจาะไปที่ประโยชน์ของการนำ AI มาใช้ออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์จะพบว่า AI ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้โครงการที่กำลังพัฒนาอยู่ได้ถึงร้อยละ 20 ยกระดับการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ในภาพรวมได้ร้อยละ 35-45 ผลักดันซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันใหม่ให้ออกตลาดได้เร็วขึ้นถึงร้อยละ 5 และที่สำคัญช่วยลดความเหลี่อมล้ำในการเข้าถึงและการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ได้ด้วย

ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2028 วิศวกรซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเมอร์ในองค์กรจะใช้ AI ในการทำงานกันมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มจากร้อยละ 10 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 75 เลยทีเดียว เพราะหากมีการเตรียมพร้อมฝึกปรือฝีมือกันอย่างเหมาะสม AI จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเมอร์ องค์กรธุรกิจ รวมไปถึงการปรับไปใช้งานในระดับประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับนักพัฒนาแล้ว AI จะช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-30 ช่วยให้จัดการงานที่มีความซับซ้อนสูงได้ดียิ่งขึ้น และทำให้คนทำงานมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้นด้วย ด้านองค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย SMEs ไปจนถึงสตาร์ตอัป AI จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ร้อยละ 10-20 ช่วยสร้างรายได้เพิ่มจากผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี ส่วนในระดับประเทศ หากมีการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์และ AI เพื่อการสร้างประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ มากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) อย่างเต็มตัว

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเหรียญยังมี 2 ด้าน การนำการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์และ AI มาใช้ก็ย่อมมีด้านที่ต้องระวังเช่นกัน เพีราะถ้านำมาใช้ประโยชน์อย่างหละหลวม ก็อาจสร้างโทษให้ได้มากไม่แพ้กัน

โดย เมลิซซ่า เดวิส รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ได้กล่าวไว้ว่า “ขณะที่ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ AI ผู้บริหาร CIO และ CTO ยังต้องหันความสนใจไปยังเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ของนักพัฒนา ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านระบบคลาวด์ที่แพร่หลาย และส่งมอบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเทคโนโลยีในวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Hype Cycle) ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ความไม่แน่นอนต่างๆ จึงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในขั้นของการพัฒนา”

นอกจากนั้น การ์ทเนอร์ ยังจัดให้ AI-Augmented Software อยู่ใน 1 ใน 4 ธีมหลักของ “เทคโนโลยีเกิดใหม่” ที่น่าจับตามองด้วย โดยอธิบายเพิ่มเติมไว้ในธีม Developer Experience (DevX): DevX ที่หมายถึงทุกแง่มุมของการโต้ตอบระหว่างนักพัฒนากับเครื่องมือ แพลตฟอร์ม กระบวนการและผู้คนที่พวกเขาทำงานด้วยเพื่อพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และบริการ

โดยระบุว่าการเพิ่มประสิทธิภาพด้านประสบการณ์ของนักพัฒนา หรือ DevX มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของไอเดียริเริ่มด้านดิจิทัลขององค์กรส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการดึงดูดและรักษาผู้มีทักษะความสามารถด้านวิศวกรรมระดับสูง รวมถึงรักษาขวัญและกำลังใจของทีมให้อยู่ในระดับสูง และทำให้มั่นใจว่างานนั้นสร้างแรงจูงใจและมีรางวัลตอบแทน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/17/ai-augmented-software-development/