‘ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเครื่องมือ’ เปิดมุมมองผู้บริหารไทยใช้ AI สร้างกลยุทธ์

Share

Loading

“เอไอ” จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปทิศทางไหน? เสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญในงานเสวนา GAYSORN VILLAGE THRIVING SUCCESS 2024 : AI INSIGHTS TO UNLOCK MULTIDIMENSIONAL SUCCESS พร้อมชี้ทางรอด เปิดเผยเทคนิคการใช้เอไอเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

“เกษร พร็อพเพอร์ตี้” ร่วมกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับจัดงานเสวนาเพื่อหาคำตอบว่า “เอไอจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปในทิศทางใด” และจะช่วยปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดใหม่ๆ ได้อย่างไร ผ่านความคิดผู้บริหารที่ช่ำชองในโลกของเทคโนโลยีรวมถึงนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่

ตามรายงานจาก World Economic Forum เรื่อง “The Future of Jobs Report 2023” คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 เอไอ และ Machine Learning จะสร้างงานใหม่มากกว่า 97 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็จะทำให้งานบางประเภทหายไปประมาณ 85 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก McKinsey Global Institute ระบุว่า เอไอมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการค้าปลีก และการผลิต

ใช้พลัง AI สร้างกลยุทธ์

ฟ้าฟื้น เต็มบุญเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า เวทีนี้เกษร พร็อพเพอร์ตี้ เราตั้งโจทย์กันว่าจะจัดเวทีให้กับกลุ่ม Workstyles ของเกษร และเปิดโอกาสให้กลุ่ม Workstyles ของเรา ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันในเรื่องของ Business ต่อยอดธุรกิจ เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับ Thrive Community

นอกจากที่เราพยายามสร้าง Environment ที่ดีในการทำงาน ตอบโจทย์ทุก Lifestyle ในพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร ร้านค้ากว่า 200 ร้านค้าใน Gaysorn Village เรายัง ส่งเสริมประสิทธิภาพ และสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ระดับประเทศกว่า 80 บริษัท ที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่เรา และพร้อมเติบโตไปพร้อมกัน

เวทีนี้เราจึงตั้งใจให้เป็นสื่อกลางถ่ายทอดพลังของ AI ร่วมถึง Use-case ในภาคธุรกิจ จากวิทยากรของเราในวันนี้ ที่ผมเชื่อว่าอย่างไรตาม มนุษย์เราเป็นผู้สร้าง AI เราจะไม่ถูก เอไอดิสรัปต์ ถ้าเราไม่หยุดนิ่ง แล้วเราจะเป็นผู้สร้างพลังให้กับ AI เอง ก็คือ การใช้ประโยชน์จากเอไอให้เป็นกลยุทธ์ เป็นแผนสำคัญในธุรกิจสร้างการเติบโตได้ ทั้งมุมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก นวัตกรรมในธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมไปถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอีก ที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะบุคลากรให้ทัน AI ให้ใช้เอไอได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลดล็อกความสำเร็จในทุกมิติ

ปรับตัวหรือตกขบวน

สอดคล้องกับมุมมองของ ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้บริหารลูลู่ เทคโนโลยี กล่าวว่า เอไอไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ พูดไว้ และเขาก็มีความเชื่อเหมือนกับบิล เกตส์ว่า เอไอจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราในระยะ 5 ปีข้างหน้า

ปริชญ์ กล่าวว่า จะมีธุรกิจที่ล้มหายตายจากเพราะเอไอเข้ามา แต่ก็มีธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเอไอเช่นเดียวกัน สถานการณ์ต่อไปคือ บริษัทใหญ่ใช้เอไอฆ่าบริษัทเล็ก โดยบริษัทใหญ่กำลังใช้เอไอเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ส่วนคนที่ใช้เอไอเป็นจะมีความได้เปรียบกว่าคนที่ใช้ไม่เป็น

“ก่อนหน้าที่เทมู (Temu) จะเข้ามา เราเห็นสัญญาณต่างๆ ของคนจีนว่าเริ่มเข้ามาขายของในเมืองไทย เราเห็น แต่ไม่มีใครทำอะไรเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้จริงจัง จนตอนนี้เทมูได้เข้ามาเปิดแพลตฟอร์มขายของแข่งกับแพลตฟอร์มคนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น เอไอก็เหมือนกัน ณ วันนี้เราเห็นว่ามันกำลังมา ที่จริงตอนนี้มันมาแล้วด้วย หากเรามัวแต่กลัวเอไอ หรือไม่ยอมปรับตัวเพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเอไอ คงจะเกิดการดิสรัปชั่นในอีกหลายด้าน”

ปริชญ์ ยกตัวอย่างการนำเอไอมาใช้ในธุรกิจ เช่น การวางแผนการขายให้ร้านค้าปลีกหลายสาขา การจัดการพื้นที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ และการใช้ในงานขายประกัน และคอล เซ็นเตอร์ พร้อมเตือนว่าหลายอาชีพอาจหายไปในอนาคต เช่น คอล เซ็นเตอร์ พนักงานแอดมินตอบแชต และกราฟิกดีไซเนอร์

“คนรุ่นใหม่น่าจะกระทบน้อยกว่าคนรุ่นอื่น เพราะพวกเขาโตมากับเทคโนโลยี แต่ก็ต้องพร้อมปรับตัว เพราะหลายอาชีพอาจจะหายไป พัฒนาการของเอไอในอนาคตเรื่องของผลกระทบต่อมนุษยชาติมีความน่ากลัวก็จริง แต่ ณ ตอนนี้ที่น่ากลัวมากกว่าคือ เราตามคนอื่นไม่ทัน แล้วมันก็จะมีการตกราง หรือว่าอย่างที่สองคือ กระโดดลงไปโดยที่ยังไม่รู้อะไรเลย”

สำหรับคำแนะนำ ปริชญ์เน้นย้ำว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความแตกต่างของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำได้โดยการอ่านให้มาก เจอผู้คนให้เยอะ และทำกิจกรรมให้หลากหลาย และต้องกลับบ้านไปริเริ่มทำอะไรเกี่ยวกับเอไอเป็นชิ้นเป็นอัน

เริ่มต้น Upskill ของตน ไม่ใช่แค่ฟังผ่านๆ แล้วก็จบ เพราะมันจะไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดการใช้งานจริงและอาจตกขบวนเสี่ยงโดนทดแทนแรงงานได้อย่างจริงๆ”

เอไอกับ Net Zero โอกาสใหม่ของธุรกิจพลังงานสะอาด

ด้าน เฑียร จึงวิรุฬโชตินันท์ Head of Marketing บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด ได้พูดถึงการนำเอไอมาใช้ในจัดการอาคาร โดยกล่าวว่า เอไอเข้ามามีบทบาทในภาคพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน เพราะต่อไปเราจะเข้าสู่ Net Zero หรือลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุดภายใน 2030 และให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 ทำให้หลายอุตสาหกรรมมีความตื่นตัว และเริ่มมีการนำระบบเอไอเข้ามาช่วยในการควบคุม และลดขั้นตอนการทำงานต่างๆ

“เวลาเราสร้างอาคาร เราไม่ได้มองให้มันอยู่ 10-20 ปี แต่เราสร้างให้มันอยู่ได้ถึง 60 ปี ดังนั้น อาคารที่ดีนั้นต้องมีความยั่งยืน

การออกแบบ ใช้งาน สร้างอาคาร เราจะดูแลอาคาร 1 อาคาร เราจะใช้ Technical กี่คน หากจะรวบรวมรีเสิร์ชข้อมูลใช้เวลากี่วัน เมื่อก่อนทำเป็นระบบแมนนวล ที่ใช้คนมหาศาล ปัจจุบันมีเอไอเข้ามาช่วยลดระยะเวลาการทำงาน เพิ่มความแม่นยำมากขึ้น ไม่ต้องเพิ่มจำนวนแรงงานคน ช่วยลด Cost ลงได้

“เอไอมาใช้เอไอช่วยรวบรวมข้อมูลให้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเอไอ ไม่ได้มาแทนเรา แต่มันมาช่วยเรา

เฑียรยังยกตัวอย่างการใช้เอไอการควบคุมระบบอัตโนมัติภายในอาคาร และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่

1.การลดการใช้ไฟฟ้าในห้องที่ไม่มีคนใช้งาน เพื่อรักษาคุณภาพอากาศภายในอาคารให้สะอาดตลอดเวลา โดยไม่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากเกินไป เป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างออโตเมชันและการจัดการที่ชาญฉลาด

2.การใช้เอไอ และ Machine Learning (ML) ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากเซนเซอร์ และกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจจับความผิดปกติในการใช้พลังงานหรือการทำงานของระบบต่างๆ ที่มีสัญญาณเตือนโดยอัตโนมัติเมื่อพบความผิดปกติ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

3.การประยุกต์ใช้ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) การใช้กล้องวงจรปิดร่วมกับเอไอเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เช่น ช่วงเวลาที่มีลูกค้าเข้าร้านมากที่สุด และยังช่วยวิเคราะห์ว่ายอดขายเกิดจากปฏิสัมพันธ์หน้าร้านหรือหลังบ้านมากกว่ากัน

นอกจากนี้ เอไอที่เก็บข้อมูลยังสร้างแดชบอร์ดที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทำให้สามารถดูผลการดำเนินงานของแต่ละแผนกหรือสาขาได้อย่างชัดเจน และนำมาเปรียบเทียบข้อมูลข้ามปีเพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม-ปรับปรุงกลยุทธ์ของธุรกิจ

“แม้ว่าเอไอจะมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก แต่การตีความ และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ยังคงต้องอาศัยปัญญาของมนุษย์ เช่น สังเกตได้ว่ามีการใช้ไฟฟ้าที่สูงผิดปกติในช่วงที่ไม่มีการใช้งาน อันนี้ต้องใช้ปัญญาของมนุษย์เพื่อคิดต่อแล้ว”

ทั้งนี้ เขายังสรุปว่า “ใช้ใจทำสิ่งที่ตอบโจทย์ของลูกค้า แล้วใช้เอไอให้เป็นเครื่องมือ เอไอจะรวบรวมข้อมูลให้เรา ส่วนเรามีหน้าที่ทำให้ข้อมูลนั้นเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น”

สำหรับประเทศไทย รายงานจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ระบุว่า ตลาดเอไอในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 33.5% ต่อปี ระหว่างปี 2022-2025 โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.4 หมื่นล้านบาทในปี 2025 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาส และความท้าทายที่ธุรกิจไทยกำลังเผชิญในยุคเอไอ

งานเสวนานี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเอไอที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจ และความจำเป็นในการปรับตัวของทั้งองค์กร และบุคลากรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลก และระดับประเทศที่กำลังเกิดขึ้น

เดินหน้าสู่คลื่นลูกใหม่ ‘Agentic AI’

สุธีรพันธุ์ สักรวัตร Chief Customer Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (SCBX) กล่าวว่า สำหรับ GenAI เมื่อได้ใช้งานจริง และประเมินความคุ้มค่าพบว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างทั้งดี ไม่ดี รวมถึงไม่ได้ต่างจากเดิม

โดยต้องยอมรับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งจะพบกับทางตัน ดังนั้นสิ่งที่ควรมองไปข้างหน้าคือ คลื่นลูกใหม่ของการใช้งาน AI ซึ่งก็คือ “Agentic AI”

“วันนี้การใช้งานจริงยังเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ซึ่งอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความซับซ้อนของมนุษย์ได้ทั้งหมด และต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อยอด โดยสิ่งหลายๆ คนคาดหวังคือ ตัวช่วยที่ทำงานได้แบบอัตโนมัติโดยที่มนุษย์ไม่ต้องมาเสียเวลา”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คนไทยทำได้ดีคงไม่ใช่การพัฒนาโมเดล GenAI แต่เป็นโซลูชันตัวเล็กๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง และเข้ากับบริบทของธุรกิจ ซึ่งหากทำได้ดีจะสามารถควบคุมต้นทุนได้มากขึ้นเพราะหลายๆ องค์กรคงไม่อาจซื้อไลเซนส์เครื่องมือ GenAI ให้พนักงานได้ทุกคน

ด้านประโยชน์ ไม่เพียงแค่การตลาด พัฒนาบริการด้านการเงิน หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ แต่สามารถนำไปพัฒนาได้หลากหลาย เช่น การบริหารจัดการงานหลังบ้าน รวมถึงด้านการกำกับดูแลซึ่งหากให้มนุษย์ทำอย่างเดียวอาจเสียเวลาอย่างมาก

สำหรับ เอสซีบี เอกซ์ อยู่ระหว่างพัฒนา LLM สัญชาติไทย เพื่อใช้ภายในองค์กร เช่น ด้านการบริการลูกค้า งานด้านเอชอาร์ การวิเคราะห์เพื่อการตลาด ซึ่งนับเป็นการวิ่งมาราธอนที่ไม่มีวันจบ และอนาคตเป็นไปได้ที่จะเปิดให้ได้ใช้งานทั่วไปเพื่อให้คนไทยใช้โมเดล AI ที่ประหยัดมากกว่า

โดยการเริ่มต้นอย่าพยายามคิดว่าจะสร้างนวัตกรรม ให้เริ่มจากว่าองค์กรของเรามีปัญหาอะไร และ AI จะช่วยอะไรได้บ้าง

“ผมคิดว่าวันนี้ทุกคนพร้อมที่ลงทุนใช้งาน แต่ประเด็นคือ How? มากกว่า จากประสบการณ์การทรานส์ฟอร์ม องค์กรไปเป็น AI first Organization จะแบ่งเป็นสองฝั่งคือ มุมที่เปลี่ยนผ่านเพื่อใช้งาน และทีมที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานเชิงลึกโดยเริ่มต้นจากดาต้า ที่สำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรซึ่งผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญ และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน”

มอง AI ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ ‘สันติธาร เสถียรไทย’

อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน ธุรกิจ และโลกใบนี้ โดย “สันติธาร เสถียรไทย” นักคิด นักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ดิจิทัล ที่จะมาฉายภาพว่า AI Twist = Our Turn? เรียนสูง = ปลอดภัย? AI มาแย่งงานคนจริงไหม แล้วทางรอดคืออะไร?

สันติธาร เสถียรไทย กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และที่ปรึกษา ด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต ทีดีอาร์ไอ แสดงวิสัยทัศน์ว่า มุมของนักเศรษฐศาสตร์สิ่งที่น่าตื่นเต้นในโลกของ AI คือ Generative AI (GenAI) ที่เข้ามาสร้างมิติใหม่ในการวิเคราะห์ รวมถึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ทรงพลังยิ่งกว่าเดิม

หากมองในมุมของธุรกิจ และเศรษฐกิจสรุปได้สองคำคือ “Creativity” ซึ่งในอดีตเคยเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยถูกคุกคามมาก่อน ทว่าวันนี้งานที่เคยเป็นของยากกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และยิ่งกว่านั้น และมีความสำคัญอย่างมากคือ “Coding” ที่กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

“ทุกวันนี้โลกมักหักมุมเสมอ ความเสี่ยงย่อมมาพร้อมกับโอกาส จะใช่หรือไม่ที่ AI Twist = Our Turn? ยังคงต้องร่วมกันหาคำตอบ”

สำหรับ “4 โอกาส” ที่เกิดขึ้น และเป็นช่องทางในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ “สร้างปัญญา” ให้คนมีพลังมากกว่าเดิมคือ “AIx2” ประกอบด้วย

  • Automation ที่ทำให้มนุษย์มีเวลามากขึ้น
  • Augmentation เพื่อนคู่คิด ช่วยทำงานหรือตัดสินใจ
  • Inclusion ช่วยค้นพบตลาดใหม่ ที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน
  • Innovation ค้นพบไอเดียใหม่

จากเดิมที่มนุษย์มี 2 สายพันธุ์ Human และ Smart Human จะกลายเป็น “คนที่ใช้ AI เป็น” และ “คนที่ใช้ AI ไม่เป็น” โดยมีโจทย์คือ การสร้าง “AI Literacy” ให้กับคนและธุรกิจ

ยุคที่ AI ครองโลก จะมีมนุษย์พันธุ์ใหม่ 4 สายพันธุ์ คือ

  1. สมาร์ตไซบอร์ก คนเก่งที่ใช้ AI ช่วย
  2. สมาร์ตยูสเซอร์ คนไม่เก่งแต่ใช้ AI ช่วย
  3. สมาร์ตฮิวแมน คนเก่งแต่ใช้ AI ไม่เป็น
  4. ฮิวแมน คนเก่ง และใช้ AI ไม่เป็น
เรียนสูง = ปลอดภัย?

จากยุคก่อนคนที่มีการศึกษาที่สูงกว่าย่อมมีโอกาส และทางรอดมากกว่า ทว่าวันนี้คงไม่เสมอไปแล้วโดย AI ทำเราตกงานได้ 4 ทางคือ

  • AI ทำงานแทนเรา (เราตกงานเพราะ AI)
  • คนใช้ AI แย่งงานเรา (ตกงานเพราะเพื่อนร่วมงานที่ใช้ AI ได้เก่งกว่าเรา)
  • ธุรกิจคู่แข่งใช้ AI (เรา เพื่อนเรา และนายเราตกงาน)
  • ประเทศคู่แข่งใช้ AI (ทั้งอุตสาหกรรมตกงานโดยอาจไม่รู้ว่าทำไม) แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้ควรกลัวแต่กลัวอย่างสมดุล

แล้วทางรอดคืออะไร? ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า “ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน” ทว่าเบื้องต้น มี 4 ทักษะที่จำเป็นคือ เฟรมเวิร์ก “PRIDE” ประกอบด้วย Proficiency, Immunity, Deep thinking/knowledge, และ Empathy รู้เขา รู้เรา รบ 100 ชนะ 100

ใช้ AI ยังไงดี? เป็นคำถามที่ดี และไม่ผิด ทว่าส่วนตัวอยากให้ถามคำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ การนำโจทย์เป็นที่ตั้งว่า “จะเพิ่ม Intellegence ให้องค์กรอย่างไรโดยใช้ AI เป็นเพื่อนร่วมงาน”

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1141772