โรงพยาบาลบ้านฉาง ต้นแบบ Smart Hospital แห่ง EEC

Share

Loading

อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง นอกจากจะตั้งอยู่ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี แล้ว ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart city หรือ เมืองอัจฉริยะของ อีอีซี ด้วยการปรับเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ อำเภอบ้านฉาง จึงมีศักยภาพสูงในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนา Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม และ โรงพยาบาลบ้านฉาง ก็เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่นี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาแค่เพียง 15 กิโลเมตร เท่านั้น

และในวันนี้ เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายแพทย์สุรชัย คำภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฉาง ทำให้ได้ทราบถึงนโยบาย กลยุทธ์ มุมมองและความมุ่งมั่นที่สามารถพลิกโฉมให้ โรงพยาบาลบ้านฉาง ไม่เพียงเป็นที่รักของชุมชนอย่างวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบ Smart Hospital ในอีอีซีได้อย่างภาคภูมิ

เปลี่ยนประสบการณ์เป็นต้นทุน ตีโจทย์และความท้าทาย ปูทางให้ โรงพยาบาลบ้านฉาง เดินหน้าบนเส้นทาง Smart Hospital แห่งอีอีซี

หลังจากจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาตั้งแต่ปี 2546 และผ่านการเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะอยู่หนึ่งปี นายแพทย์สุรชัย ก็ได้บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งในตอนนั้นแพทย์มีความขาดแคลน จึงทำให้ คุณหมอสุรชัย เป็นแพทย์คนเดียวในอำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และทำงานเป็นแพทย์ที่อำเภอเมืองจันทร์อยู่ 2 ปี แล้วจึงย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลประจำอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ อีก 13 ปี จากนั้นก็ได้ผันตัวมาเป็นแพทย์ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ อยู่ที่ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนชั้นนําอยู่เกือบ 4 ปี และ นายแพทย์สุรชัย ก็ตัดสินใจเข้ารับราชการอีกครั้งที่ โรงพยาบาลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฉาง

“ผมตั้งใจจะนำความรู้ ความสามารถ ที่ได้จากการบริหารโรงพยาบาลเอกชนชั้นนําของประเทศกลับมาพัฒนาโรงพยาบาลภาครัฐ โดยในช่วงแรกได้รับตำแหน่งรองผู้อํานวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ใช้ทักษะด้านการบริหารจัดการในแง่ของการออกนโยบายและดูแลในด้านงบประมาณ ซึ่งการได้มาทำงานตรงนี้ ทำให้ได้เห็นจุดด้อยของการบริหารจัดการโรงพยาบาลภาครัฐในไทยว่ายังคงขาดการบริหารจัดการในรูปแบบของการเป็น Smart Hospital และนี่เองที่กลายมาเป็นโจทย์ท้าทายในการบริหารโรงพยาบาลของไทยให้มีความเป็น Smart Hospital จริงๆ ให้ได้”

“จากนั้นผมก็ได้รับโอกาสให้มารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฉาง โดยโจทย์ของ อำเภอบ้านฉาง มีความชัดเจน ตั้งแต่การกำหนดให้พื้นที่อำเภอบ้านฉางเป็น Smart City มีการใช้เทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมในทุกภาคส่วน และอำเภอบ้านฉางยังตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามจังหวัดที่อยู่ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และ โรงพยาบาลบ้านฉาง ก็เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 สนามบินหลักของประเทศไทย ที่จะมีสายการบินจากทั่วโลกมาลงที่นี่มากมาย”

“ดังนั้น โรงพยาบาลบ้านฉาง จึงต้องเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอีอีซี รวมไปถึงยุทธศาสตร์ของประเทศในหลายเรื่อง ขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย โรงพยาบาลบ้านฉางจึงต้องมีความพร้อมโดยเฉพาะการวางแผนจัดการความเสี่ยงรอบด้านในฐานะโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภามากที่สุด และยังต้องเตรียมพร้อมรับกับจำนวนประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่มีประชากรแฝงย้ายเข้ามาอยู่ในอีอีซีเพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติด้วย”

ใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการยุคใหม่ & Digital Transform พลิกโฉมโรงพยาบาลบ้านฉาง เป็นโรงพยาบาลอันเป็นที่รักของชุมชน

หลังจากได้มารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฉาง นายแพทย์สุรชัย สานต่อความตั้งใจในการบริหารโรงพยาบาลบ้านฉางให้เป็น Smart Hospital ที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน และคาดหวังให้โรงพยาบาลบ้านฉางเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลภาครัฐอีกหลายโรงพยาบาลสามารถนำไปเป็นโมเดลในการบริหารจัดการโรงพยาบาลไทยให้ได้มาตรฐานและตอบโจทย์ทั้งการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาประเทศด้วย

“จากที่ผมมีประสบการณ์ในการบริหารโรงพยาบาลเอกชนมากก่อน จึงได้ปรับเอาแนวทาง กลยุทธ์ การบริหารโรงพยาบาลเอกชนมาใช้เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการของโรงพยาบาลภาครัฐ โดยกลยุทธ์สำคัญที่ได้ปรับมาใช้ คือ การทำ Balance Scorecard เพื่อรักษาสมดุลของฉากทัศน์ หรือ Perspective ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มิติของการเรียนรู้และการเติบโต มิติของการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการภายในให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางการเงินตามที่วางไว้”

“ทั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับ โรงพยาบาลเอกชน กำไรที่ได้คือสิ่งสำคัญ ทว่า สำหรับโรงพยาบาลภาครัฐ การวางแผนในส่วนของรายได้ที่เข้ามา ต้องคำนวณร่วมไปกับการช่วยให้ประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋าเมื่อต้องมาหาหมอด้วย โดยคนไข้ทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการที่ดีอย่างเท่าเทียม ขณะที่ การบริหารโรงพยาบาลภาครัฐยังมีความท้าทายตรงการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับมาให้ได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่อาจไม่ได้มีมากหรือทันสมัยเท่าภาคเอกชน”

“จากประสบการณ์ที่ผมมีทั้งในการบริหารโรงพยาบาลภาครัฐที่ จ.ศรีสะเกษ มากว่า 13 ปี แล้วมาบวกกับประสบการณ์ในการบริหารโรงพยาบาลเอกชน อีก 4 ปี ทำให้เราได้วางกลยุทธ์เพื่อให้ทางโรงพยาบาลมี Productivity หรือ ผลิตภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นด้วยการเปิดให้บริการทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเติบโตในด้านของขีดความสามารถองค์กรขึ้นมากใน 1 ปีที่ผ่านมา”

“ยืนยันได้จากจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว แล้วก็มี Infrastructure ที่รองรับการทำงานในลักษณะ Digital Transform โดยการทำ Digital Transform ในองค์กรนี้ ตั้งใจให้เกิดผลลัพธ์ทั้ง 3 มิติ คือ หนึ่ง เกิดการสร้าง New skill หรือทักษะใหม่ เพื่อให้บุคลากรที่ทำงานนั้นมีทักษะที่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะ Digital skill”

“ส่วนมิติที่สองคือต้องเกิดประสิทธิภาพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลลัพธ์ทางด้านการรักษาพยาบาลหรือว่าผลลัพธ์ทางด้านคุณภาพการให้บริการ และ มิติที่สามคือ ต้องทำให้เกิด New Growth ให้ได้ โดยที่ผ่านมา เราพูดได้ว่าโรงพยาบาลบ้านฉางอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทั้ง 3 มิตินี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“นอกจากนั้น เรายังมีการวิเคราะห์ Customer Segment ว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยเข้ามารักษาใน รพ.บ้านฉางด้วยการใช้สิทธิอะไร ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มาด้วยระบบบัตรทอง และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องยอมรับว่าทางโรงพยาบาลก็จะมีรายรับที่ไม่พอกับรายจ่าย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ ทางโรงพยาบาลก็ต้องทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านฉางด้วยสิทธิข้าราชการ สิทธิชําระเงินเอง หรือสิทธิประกันสังคมเพิ่มขึ้น”

“เมื่อวิเคราะห์ได้เช่นนี้แล้ว ก็มาพิจารณาการให้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลบ้านฉาง ซึ่งพบว่ายังเป็นการให้บริการแบบเดิมๆ ที่ โรงพยาบาลภาครัฐเปิดให้บริการกันอยู่ ทำให้เราอยู่ในจุดที่ไม่ค่อยดีนักในเชิงกลยุทธ์ ผมก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นจนถึงขั้นบอกต่อโดยเฉพาะในสิทธิอื่นที่ไม่ใช่แค่สิทธิบัตรทอง นี่จึงเป็นสาเหตุให้โรงพยาบาลบ้านฉางเปิดให้บริการทางการแพทย์ใหม่หลายประเภท เช่น การเปิดให้บริการทำ Sleep Test ด้วยการสร้าง Sleep Lab ขึ้นในโรงพยาบาล ซึ่งกล่าวได้ว่า ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีโรงพยาบาลชุมชนที่ไหน ที่มี Sleep Lab ใน โรงพยาบาลเลย”

“และเหตุผลหลักในการเปิด Sleep Lab นี้ ก็มาจากความเชื่อที่ว่าการนอนหลับสนิททำให้เกิดคุณภาพการนอนหลับที่ดีและส่งผลต่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ในทางกลับกัน การนอนไม่หลับอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้หลายสภาวะ โดยในปัจจุบัน เราได้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับมาจากสถาบันทรวงอก ทำให้ในปัจจุบันเรามีห้องตรวจ Sleep Test คืนละสองห้อง ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ทางโรงพยาบาลได้ นับเป็นการสร้างเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตใหม่ให้โรงพยาบาลอย่างเห็นได้ชัด”

“ทั้งนี้ ในช่วงที่เปิดให้มาใช้บริการ Sleep Lab ก็ได้รับ feedback ค่อนข้างดี อย่างข้าราชการที่ใช้สิทธิมารักษาที่โรงพยาบาล ที่เคยมองว่าโรงพยาบาลบ้านฉางเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ทันสมัย ก็เปลี่ยนความคิดไป โดยโรงพยาบาลบ้านฉางเป็นโรงพยาบาลระดับชุมชน ที่ไม่ใช่อำเภอเล็ก และมีประชากรในพื้นที่กว่า 2 แสนคน ซึ่งรวมถึงประชากรแฝง ตรงนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสในการทำให้ โรงพยาบาลบ้านฉาง เป็นโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดระยองที่มีการให้บริการทางการแพทย์ครบวงจร”

“และแน่นอนว่าการจะเปลี่ยนภาพลักษณ์และการรับรู้ตรงนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์ทุกภาคส่วนในโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้ผมให้ความสำคัญกับการสื่อสารออกไปสู่บุคลากรที่โรงพยาบาลบ้านฉางด้วยการตั้งวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลใหม่ว่า “โรงพยาบาลบ้านฉาง โรงพยาบาลที่เป็นที่รักของชุมชน””

“จากวิสัยทัศน์ที่ดูเป็นนามธรรมนี้ เราตั้งใจจะแปลงเป็นประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรมให้ได้ โดยในเบื้องต้นผมมีการออกแบบการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์การบริหารโรงพยาบาล และมีการสื่อสารไปทาง Hall Meeting กับบุคลากรโรงพยาบาลในทุกไตรมาศ”

“นอกจากนั้น ยังมีการวางค่านิยมองค์กรใหม่ เป็น Innovation / Moral Commitment / People Centric /Open minded / Valued / Empathy เมื่อได้ค่านิยมใหม่นี้แล้ว ก็ได้โยนโจทย์ที่ท้าทายนี้ให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลบ้านฉาง แต่เราให้ความมั่นใจว่าเราจะเดินไปด้วยกันในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น สามารถพิสูจน์ได้ด้วย feedback ของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลบ้านฉาง ที่ได้รับความชื่นชมและยอมรับมากขึ้น”

ชี้ความท้าทายบนเส้นทางการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านฉางให้เป็น Smart Hospital แห่งอีอีซี ที่ต้องก้าวผ่าน

ต่อมา นายแพทย์สุรชัย ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านฉางให้เป็น Smart Hospital แห่งอีอีซีว่า

“การได้มาบริหารโรงพยาบาลบ้านฉางถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะจากประสบการณ์ที่ได้บริหารโรงพยาบาลศรีสะเกษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ไม่ได้มีความซับซ้อนมาก แต่ที่อำเภอบ้านฉางก็ต้องยอมรับว่าที่นี่อยู่ในเขตพื้นที่อีอีซี ที่เป็นที่ตั้งของภาคอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย ทำให้ที่นี่มีความหลากหลายทางประชากรมาก ทั้งในส่วนแรกที่เป็นประชากรแฝงที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้และประชากรจากภูมิภาคอื่นที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่”

“ขณะที่ ส่วนที่สองเป็นแรงงานต่างด้าว และส่วนที่สามที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจที่เดินทางมาด้วยจุดประสงค์ในการติดต่อธุรกิจหรือทำงานในพื้นที่ โดยจำนวนประชากรแฝงทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีการประมาณการว่ามีประมาณ 1 แสนคน ซึ่งทำให้อำเภอบ้านฉางมีประชากรแฝงมากกว่าประชากรที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่”

“เพราะฉะนั้น ความท้าทายหรือปัญหาที่เกิดขึ้นที่เราต้องเจอคือเราจะมีข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรับบริการทางการแพทย์ที่จํากัด เช่น ในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวหรือนักท่องเที่ยว เราก็จะไม่รู้ว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนพื้นฐานอะไรมาบ้าง ซึ่งจุดนี้อาจจะส่งผลต่อการควบคุมการระบาดของโรคบางอย่างได้ ดังนั้น ในการออกแบบการให้บริการ การประเมินสถานการณ์ก็ทำให้เราต้องมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ต้องมีระบบข้อมูลที่ดี มีระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ดี เพื่อทำให้เราตอบโจทย์ชุมชนซึ่งมีความซับซ้อนตามลักษณะที่กล่าวมา”

“และแน่นอนว่าโรงพยาบาลบ้านฉางก็ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านฉางที่ได้รับการกำหนดให้เป็น Smart City ที่จะนำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ ซึ่งจุดนี้นับว่าเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากย้ายมาทำงานที่โรงพยาบาลบ้านฉางเป็นอันดับต้นๆ เพราะผมมองว่าถ้าเทคโนโลยี 5G นี้ได้รับการนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อการพัฒนาโรงพยาบาลเองและประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีนี้อย่างแน่นอน”

“ทว่า ต้องยอมรับตามตรงว่า ตลอดเวลา 2 ปีที่ผมมาทำงานที่โรงพยาบาลบ้านฉางนี้ การพัฒนาด้านการแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร ทั้งที่หน่วยงานที่ควรได้รับประโยชน์จากการนำ 5G มาใช้มากที่สุด คือ โรงพยาบาล ทั้งเพื่อประโยชน์ของการทำการแพทย์ทางไกล และช่วยยกระดับให้การแพทย์ไทยสามารถทำงานร่วมกับการแพทย์ในโลกได้ เนื่องจาก ถ้าเรามี 5G ที่เร็วและแรง นั่นย่อมทำให้เราเชื่อมต่อกับทั่วโลกได้ ทั้งยังสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเทคโนโลยีการแพทย์ในด้านต่างๆ ได้ด้วย”

“นอกจากนั้น ผมมองว่าถ้าเรามี 5G ที่มีคุณภาพใช้งาน เราสามารถ Set การให้บริการ Virtual ER ขึ้นมาแล้วใช้กับคนไข้ฉุกเฉินได้ และเทคโนโลยีนี้จะช่วยทำให้คนไข้วิกฤตเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางที่มีความสามารถทั่วประเทศได้ แม้จะอยู่ห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลบ้านฉาง ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะมาเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การแพทย์ไทยเข้าถึงโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลได้อีกด้วย”

“ขณะที่ในประเด็นเรื่องการกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านฉางให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายของอีอีซี ผมมองว่า คีย์เวิร์ดก็ยังคงอยู่ที่การทำ Digital Transform เพราะอีอีซีต้องการเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยเร่งให้เกิด New S-curve ให้ประเทศไทย และสามารถขับเคลื่อนจีดีพีให้เกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ”

“และในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตพื้นที่อีอีซี ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง jigsaw ที่เป็น Infrastructure ที่ควรมีความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติด้วย ซึ่งผมได้วาง Concept เพื่อตอบสนองการทำงานนี้ คือ Less for more เป็นการทำงานที่คาดหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และจับต้องได้ โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย บวกกับการจัดการข้อมูลหรือ Data ที่มีประสิทธิภาพ”

“นอกจากนั้น โรงพยาบาลบ้านฉาง ยังอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาแค่ 15 กิโลเมตร เท่านั้น ดังนั้นเราต้องวางมาตรการเพื่อรับ Emergency response ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ขณะเดียวกัน ผมมองว่าการที่โรงพยาบาลบ้านฉางอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภายังทำให้เราสามารถขยายการให้บริการ สู่ Wellness Hospital ได้ และเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิด้านการป้องกันได้ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในโรงพยาบาลในการดูแลคนไข้ในภาคส่วนต่างๆ”

“นอกจากนั้น เรายังมองไปถึงการเปิดให้บริการทางการแพทย์ใหม่ที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและรักษาโรคจิตเวช และบำบัดยาเสพติด ซึ่งต้องยอมรับว่าในทุกวันนี้โรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เป็นเทรนด์ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญและอยากหาวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองตกอยู่ใต้ภาวะซึมเศร้า”

“ยิ่งในต่างประเทศ โรคซึมเศร้า อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างสาเหตุหนึ่งที่มักจะเกิดกับคนในประเทศที่มีภูมิอากาศที่แปรปรวน ขมุกขมัว หรือที่เรียกว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Depression SAD เป็นอาการซึมเศร้าเมื่อเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งถ้าโรงพยาบาลบ้านฉางสามารถเปิดแผนกรักษาผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลของเราอาจเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกปักหมุดเดินทางมาก็ได้ เพราะที่อำเภอบ้านฉางก็มีปัจจัยเอื้อทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งทะเล ภูเขา ที่สวยงาม น่าเดินทางมาท่องเที่ยว พักผ่อน และยังเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม ของภูมิภาคอีกด้วย”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/08/banchang-hospital-rayong-smart-hospital-in-eec/