โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจทั่วโลก เมื่อ EU ออก กฎหมายกำกับ AI

Share

Loading

มาถึงวันนี้ เชื่อว่าทุกคนต่างรับรู้แล้วว่า AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มีด้านที่เป็นประโยชน์และโทษอย่างไร และควรปรับเอา AI ไปใช้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ทว่า เพื่อป้องกันไว้และดีกว่าไปแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ล่าสุด สหภาพยุโรป (EU) ได้นำพระราชบัญญัติ AI (EU Artificial Intelligence Act) หรือ กฎหมายกำกับ AI มาใช้เป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก รวมถึงธุรกิจที่อยู่นอกสหภาพยุโรป

และเพื่อทำความรู้จักกับ พระราชบัญญัติ AI หรือ กฎหมายกำกับ AI ที่ออกมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ รวมถึงวิเคราะห์ให้เห็นถึงโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจทั่วโลกจากกฎหมายฉบับนี้ ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการ ด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความเรื่อง “สำรวจโอกาส ความเสี่ยง ธุรกิจทั่วโลก หลัง EU ออกกม.กำกับ AI” และเผยแพร่ในเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอเพื่อให้ความรู้ในเรื่องนี้

โดยผู้เขียนอธิบายว่า พระราชบัญญัติ AI หรือ กฎหมายกำกับ AI มีที่มาจากสมุดปกขาวเกี่ยวกับ AI ของคณะกรรมาธิการยุโรป (the European Commission’s White Paper on AI) ที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยี AI สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน และป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI เช่น อคติและการเลือกปฏิบัติภายในอัลกอริทึม, การแคมเปญข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง, ปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัว, และความท้าทายด้านความโปร่งใสเนื่องจากความซับซ้อนของระบบ AI, ตลอดจนข้อกังวลด้านความปลอดภัยในการใช้งานในบางภาคส่วน เช่น การสาธารณสุข และการคมนาคมขนส่ง ความเสี่ยงเหล่านี้นำมาซึ่งแนวคิดการกำกับดูแล AI เพื่อส่งเสริมความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความไว้วางใจของสาธารณะ

ในขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มผู้พัฒนา AI จากนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้ EU เป็นผู้นำด้านกฎระเบียบด้าน AI ในปัจจุบัน

เปิดเนื้อหาพระราชบัญญัติ AI แบ่งระดับความเสี่ยง

กฎหมายฉบับนี้ แบ่งระบบ AI ออกเป็น 4 ระดับความเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงจำกัด และความเสี่ยงต่ำ โดยการแบ่งประเภทนี้จะกำหนดระดับการกำกับดูแลตามกฎระเบียบที่แต่ละระบบจะต้องปฏิบัติตาม​

  • AI ที่มีความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ : การใช้งาน AI เพื่อวัตถุประสงค์บางประการถูกห้าม เนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัย สิทธิขั้นพื้นฐาน หรือค่านิยมทางสังคมอย่างมาก เช่น การใช้ AI สำหรับการให้คะแนนทางสังคม (social scoring) การระบุข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (การระบุอัตลักษณ์ เช่น ลายนิ้วมือ การจดจำใบหน้า) แบบเรียลไทม์ในพื้นที่สาธารณะ และระบบที่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกลุ่มเฉพาะ​
  • AI ที่มีความเสี่ยงสูง : ครอบคลุมถึงระบบ AI ที่ใช้ในภาคส่วนสำคัญ เช่น การดูแลสุขภาพ การขนส่ง การบังคับใช้กฎหมาย และบริการทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ เช่น การประเมินความเสี่ยง จัดทำเอกสารทางเทคนิคโดยละเอียด การจัดทำแนวทางการจัดการข้อมูลที่ปลอดภัย และการกำกับดูแลโดยมนุษย์ ซึ่งผู้เกี่ยวช้องต้องทำให้แน่ใจว่าระบบเหล่านี้โปร่งใส ปลอดภัย
  • AI ที่มีความเสี่ยงจำกัด : ได้แก่ แชทบอท และเครื่องมืออัตโนมัติในการบริการลูกค้าระบบเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้ข้อผูกพันด้านความโปร่งใส เช่น ผู้ใช้จะต้องได้รับแจ้งว่าพวกเขากำลังคุยกับ AI
  • AI ที่มีความเสี่ยงต่ำ : การใช้ AI ส่วนใหญ่จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ เช่น วิดีโอเกมที่ใช้ AI หรือตัวกรองสแปม แม้ว่าระบบ AI ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดจะได้รับการยกเว้นจากข้อผูกพันตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของ EUด้วย
สำรวจผลกระทบต่อธุรกิจนอกสหภาพยุโรป

การบังคับใช้พระราชบัญญัติ AI ส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องการดำเนินการภายในตลาดของ EU ธุรกิจที่พัฒนาหรือใช้ระบบ AI ที่มีการโต้ตอบ (interact) กับพลเมืองของEU จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งรวมถึงจัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยง และนำแนวทางการจัดการข้อมูลที่เหมาะสมมาใช้ ตลอดจนต้องทำให้แน่ใจว่าระบบ AI โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ

  • ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น : บริษัทที่ไม่ได้อยู่ใน EU จะเผชิญกับต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการกำกับดูแลของ EU ซึ่งรวมถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดทำเอกสาร หรือแม้แต่อาจต้องทำการออกแบบระบบ AI ใหม่เพื่อให้ตรงตามข้อกำหนดของEU นอกจากนี้ ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องลงทุนในการฝึกอบรมพนักงานและอัปเดตนโยบายรวมทั้งกรอบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับกฎหมาย
  • โทษหนักสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย : กฎหมาย AI กำหนดโทษหนักสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยอาจปรับเงินได้สูงถึง 30 ล้านยูโรหรือ 6 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายประจำปีทั่วโลกแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับธุรกิจระหว่างประเทศ
  • ข้อได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับธุรกิจที่ปฏิบัติตามกฎหมาย : บริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมาย AI อย่างจริงจังอาจได้รับข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดEU และการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ธุรกิจ สามารถเพิ่มชื่อเสียง และสร้างความไว้วางใจต่อผู้บริโภค และอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติมภายในEUได้​
ธุรกิจที่อยู่นอกสหภาพยุโรปต้องรับมืออย่างไร?
  • การประเมินระบบ AI : บริษัทต่างๆ ควรประเมินระบบ AI ของตนอย่างละเอียดถี่ถ้วนรวมถึงการทำความเข้าใจการแบ่งประเภทตามความเสี่ยงของเทคโนโลยี AI และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเภท
  • การเสริมสร้างการกำกับดูแลข้อมูล (data governance) : ธุรกิจที่อยู่นอก EU จำเป็นต้องนำกรอบการกำกับดูแลข้อมูลที่เหมาะสมมาใช้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการข้อมูลและความโปร่งใสเพื่อรับรองคุณภาพข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัย ตลอดจนการจัดทำกระบวนการจัดทำเอกสารที่ชัดเจน​
  • การเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ : ธุรกิจต่างๆ ควรเน้นที่การปรับปรุงความโปร่งใสและความรับผิดชอบของระบบ AI ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลที่ชัดแจ้งแก่ผู้ใช้เกี่ยวกับการทำงานของ AI และการรับรองการกำกับดูแลโดยมนุษย์ในการใช้ AI ที่มีความเสี่ยงสูง
  • การจัดลำดับความสำคัญของระบบ AI ที่มีความเสี่ยงสูง : ธุรกิจต่างๆ ควรโฟกัสไปที่ระบบ AI ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบเหล่านั้นเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดโดยสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงการนำกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงอย่างครอบคลุมมาใช้
  • การติดตามการพัฒนากฎระเบียบ : ในขณะที่สหภาพยุโรปยังคงปรับปรุงภูมิทัศน์ของกฎระเบียบด้าน AI ธุรกิจต่างๆ จะต้องคอยติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนากฎระเบียบด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่รัฐเองควรเน้นการมีส่วนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของกฎระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่

จับตาแนวโน้มอนาคต หลัง กฎหมายกำกับ AI บังคับใช้

พระราชบัญญัติ AI มีแนวโน้มจะสร้างบรรทัดฐานสำหรับการกำกับดูแล AI ทั่วโลก โดยมีอิทธิพลต่อภูมิภาคอื่นๆ ในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่คล้ายคลึงกัน ความเป็นผู้นำของสหภาพยุโรปในการกำกับดูแล AI ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสนทนาในระดับโลกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้าน AI ที่มีจริยธรรม

สำหรับธุรกิจนอกสหภาพยุโรป พระราชบัญญัติ AI ถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แม้ว่าข้อกำหนดการปฏิบัติตามอาจเข้มงวด แต่การปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปสามารถเปิดประตูสู่ตลาดและพันธมิตรใหม่ๆ ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรมและโปร่งใส

ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติ AI มีผลบังคับใช้ ธุรกิจระหว่างประเทศต้องเท่าทัน ปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/22/eu-artificial-intelligence-act/