สวทช. พัฒนา “DAPBot” แพลตฟอร์มผู้ช่วยส่วนตัวคอยตอบทุกปัญหาการเพาะปลูกภายใน 24 ชั่วโมงยกระดับเกษตรไทยสู่ดิจิทัล ชูฟีเจอร์เด่นช่วยจำแนกศัตรูพืช วินิจฉัยโรคพืช พร้อมแนะนำการใช้ชีวภัณฑ์ที่ถูกต้อง รวมทั้งชี้เป้าแหล่งจำหน่ายชีวภัณฑ์คุณภาพดีจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ
นางสาวเชษฐ์ธิดา ศรีสุขสาม ผู้ช่วยวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการจำแนกศัตรูพืชและการเข้าถึงชีวภัณฑ์เกษตรในรูปแบบ Line Official หรือ DAPBot (แดปบอท) ให้เป็นผู้ช่วยเกษตรกรจำแนกแมลงศัตรูพืช วินิจฉัยโรคพืช และเข้าถึงแหล่งชีวภัณฑ์เกษตรที่น่าเชื่อถือได้ง่าย
พร้อมทั้งแนะนำวิธีใช้ชีวภัณฑ์อย่างถูกต้องให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ทางการเกษตรทดแทนการใช้สารเคมี ยกระดับการผลิตสู่เกษตรปลอดภัยอย่างยั่งยืน
“จากประสบการณ์การวิจัยและทดสอบใช้ชีวภัณฑ์ในแปลงเกษตรร่วมกับเกษตรกรหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยมากว่า 10 ปี พบว่าอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการยอมรับและการใช้ชีวภัณฑ์ของเกษตรกรคือการเข้าถึงชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เนื่องจากแหล่งจำหน่ายมีอยู่จำกัด เกษตรกรไม่ทราบแหล่งซื้อที่น่าเชื่อถือ ไม่มั่นใจในการสั่งซื้อออนไลน์ หรือซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ผล ทั้งที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานหรือใช้งานไม่ถูกวิธี
อีกปัญหาหนึ่งคือเกษตรกรมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น เข้าใจผิดว่าปัญหาในแปลงเกิดจากแมลงศัตรูพืช แต่จริงๆ แล้วเกิดจากโรคพืช เชื้อรา หรือสาเหตุอื่น รวมถึงไม่รู้จักแมลงศัตรูพืชบางชนิด ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ใช้ชีวภัณฑ์ไม่ถูกศัตรูพืช ใช้แล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ จึงขาดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และไม่กล้าใช้ต่อไป”
โดยทีมวิจัยจึงได้พัฒนา DAPBot ขึ้นเพื่อเชื่อมต่อ 3 หัวใจหลักให้ถึงกัน คือ เกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์ ซึ่งจะต้องเป็นระบบที่เกษตรกรใช้งานได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ราคาแพงหรือต้องเรียนรู้ระบบแอปพลิเคชันใหม่ๆ จึงออกมาเป็นรูปแบบไลน์ ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคยอยู่แล้ว เกษตรกรที่เพิ่ม DAPBot เป็นเพื่อนในไลน์ก็จะเหมือนมีผู้ช่วยส่วนตัวในการวินิจฉัยโรคและแมลง
พร้อมแนะนำวิธีแก้ปัญหาหรือวิธีใช้ชีวภัณฑ์ที่ถูกต้อง เช่น ใช้ชีวภัณฑ์ชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่ ในช่วงเวลาใด โดยเราได้รวบรวมผู้ผลิตชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานมาไว้ในระบบให้เกษตรกร คือ ผู้ผลิตที่เป็นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. และผู้ประกอบการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้เกษตรกรยังตรวจสภาพอากาศได้ผ่านระบบ “DragonFly” จาก GISTDA เพื่อเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ชีวภัณฑ์ให้ได้ผลมากที่สุด”
เกษตรกรใช้งาน DAPBot ง่ายๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแอดไลน์ @dapbot และลงทะเบียนสมาชิก จากนั้นก็เริ่มต้นวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชได้ทันที โดยถ่ายภาพหรือส่งภาพโรคหรือแมลงที่สงสัยเข้าไปในระบบและรอแอดมินตอบภายใน 5 นาที หรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง
โดยทีมแอดมินที่ดูแลระบบเป็นทีมวิจัยซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านโรคและแมลง และยังมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการเกษตรช่วยตอบปัญหาของเกษตรกร ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น แต่ทุกปัญหาในแปลงเกษตรที่เกษตรกรมีข้อสงสัยก็สามารถถาม DAPBot ได้หมด เช่น ปัญหาเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย หรือสภาพอากาศ และในกรณีที่เกิดโรคแมลงศัตรูพืชระบาดหรือเกิดโรคอุบัติใหม่ในพื้นที่ใด จะมีการแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรในพื้นที่นั้นทันที
นอกจากใช้งานง่ายและพร้อมตอบทุกข้อสงสัยของเกษตรกรแล้ว DAPBot ยังเป็นระบบสื่อสารแบบ 1 : 1 คือระหว่างแอดมินกับเกษตรเท่านั้น ช่วยให้เกษตรกรค้นหาข้อมูลย้อนหลังได้ง่าย มีความเป็นส่วนตัวและไม่ถูกรบกวนจากข้อความอื่นเหมือนกรณีกลุ่มไลน์ ปัจจุบันทีมวิจัยได้เปิดให้ใช้บริการ DAPBot มาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) มีเกษตรกรลงทะเบียนใช้งานแล้วมากกว่า 1,000 คน เช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออก กลุ่มเกษตรกร 5 จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักปลอดภัยจังหวัดราชบุรี
อย่างไรก็ตาม DAPBot ยังเป็นระบบที่ดูแลการตอบคำถามโดยทีมแอดมิน จึงอาจต้องใช้เวลาตอบหลายนาทีหรืออาจหลายชั่วโมง แต่ในอนาคตจะทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทีมวิจัยกำลังพัฒนาโดยใช้ AI เข้ามาช่วยประมวลผลภาพถ่ายเพื่อวินิจฉัยโรคและแมลง และตอบกลับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วินาที รวมทั้งจะพัฒนาให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการเกษตรอื่นของ สวทช. เช่น ไลน์บอทโรคข้าวและบอทโรคสตรอว์เบอร์รี
“ทีมวิจัยมุ่งหวังให้ DAPBot เป็นคู่คิดติดปลายนิ้วของเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้พัฒนาทักษะการสังเกตและจำแนกชนิดของศัตรูพืชทั้งโรคและแมลง ใช้ชีวภัณฑ์ได้ถูกศัตรูพืชและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เข้าถึงชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้ง่าย สามารถเลือกใช้ชีวภัณฑ์แทนสารเคมีได้สะดวก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการด้านชีวภัณฑ์เกษตรไทยได้ขยายตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น
และท้ายที่สุดทีมวิจัยอยากเห็นชีวภัณฑ์เกษตรค่อยๆ เข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดสารเคมีมากขึ้น เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์อย่างแพร่หลาย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พึ่งพาสารเคมีน้อยลง เสริมสร้างความเข้มแข็งการใช้ชีวภัณฑ์ในประเทศอย่างยั่งยืน และยกระดับเกษตรกรรมไทยเป็นเกษตรปลอดภัยตามนโยบาย BCG” นางสาวเชษฐ์ธิดากล่าว
แหล่งข้อมูล