ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ ที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้ง่ายกว่ายุคสมัยก่อน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร เผยแพร่ความรู้ เสนอขายสินค้าและบริการได้โดยตรง
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ และมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียที่มากจนเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะเสพติด (Social Addiction) และทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตได้
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า การใช้โซเชียลมีเดียอย่างหนักนั้นมีความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน มีส่วนทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล สมาธิสั้น รวมถึงการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำซึ่งเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีความกังวลว่าบุตรหลานของตนอาจเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเสพติดโซเชียลมีเดีย ในรัฐนิวยอร์กจึงได้ร่างกฎหมายออกมา 2 ฉบับ ได้แก่ร่างกฎหมาย New York Child Data Protection Act และร่างกฎหมาย Stop Addictive Feeds Exploitation (SAFE) for Kids Act เพื่อปกป้องเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีจากอันตรายในโลกออนไลน์ โดยร่างกฎหมายแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ดังนี้
ในร่างกฎหมาย New York Child Data Protection Act มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็กและเยาวชนด้วยการจำกัดบริการดิจิทัลในการเก็บรวบรวมหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอม และมีมาตรการห้ามขายหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ส่วนร่างกฎหมาย Stop Addictive Feeds Exploitation (SAFE) for Kids Act มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนจากการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาที่น่าติดตาม ซึ่งมีอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และจากการถูกรบกวนการนอนหลับในเวลากลางคืนเนื่องจากใช้โซเชียลมีเดีย
ภายใต้ร่างกฎหมาย SAFE for Kids Act นั้น ฟีด (Feed) ที่จะปรากฎบนแอปพลิเคชันอย่างเช่น TikTok และ Instagram จะถูกจำกัดสำหรับผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อกำหนดให้บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ห้ามแสดงโพสต์แนะนำที่มีเนื้อหาตามที่กฎหมายระบุไว้ว่า อาจสร้างความเสพติดให้แก่ผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
และหากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็จะถูกห้ามมิให้ส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับโพสต์แนะนำไปยังผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในระหว่างเวลา 24.00 – 06.00 น.
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายยังให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง ให้สามารถทำการปิดกั้นไม่ให้บุตรหลานของตนได้รับโพสต์หรือคอนเทนต์แนะนำบนโซเชียลมีเดียตามอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มได้อีกด้วย
โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะยังสามารถเข้าถึงโพสต์ต่าง ๆ ได้จากบัญชี (Account) ที่ตนเองติดตามเท่านั้น และเข้าถึงโพสต์แนะนำได้หากโพสต์นั้นเป็นโพสต์ที่ร่างกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นการให้ความยินยอมของผู้ปกครองที่สามารถตรวจสอบได้
และร่างกฎหมายฉบับนี้ได้อนุญาตให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แสดงโพสต์ที่มีเนื้อหายอดนิยมทั่วไปให้กับผู้ใช้ได้ และผู้ใช้ยังคงสามารถค้นหาเนื้อหาอื่น ๆ นอกเหนือจากเนื้อหาที่แสดงในฟีดได้
สำหรับโทษของผู้ที่ฝ่าฝืน ร่างกฎหมาย SAFE for Kids Act ได้ให้อำนาจแก่สำนักงานอัยการของรัฐมีอำนาจในการเอาผิดกับบริษัทสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่ฝ่าฝืนข้อกฎหมายด้วยโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อการกระทำความทำผิด 1 ครั้ง
เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที เพราะในปัจจุบันอัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์กได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์กลไกในการตรวจสอบอายุของผู้ใช้และความยินยอมของผู้ปกครอง และเมื่อใดที่กฎเกณฑ์นี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว บริษัทโซเชียลมีเดียทั้งหลายจะมีเวลา 180 วันในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบของตนเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียฉบับนี้ได้รับการต่อต้านอย่างมากจากกลุ่ม Computer & Communications Industry Association (CCIA) ซึ่งรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตอย่าง Apple, Google, Amazon และ Meta
ซึ่งกลุ่ม CCIA อ้างว่ามาตรการที่ให้ยืนยันอายุของผู้ใช้ทางออนไลน์ก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ที่เป็นเยาวชน เนื่องจากการดำเนินการตามมาตรการยืนยันอายุ จำเป็นที่จะต้องรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนจากผู้ใช้และผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนที่ผู้ใช้จะต้องเปิดเผยต่อบริษัทโซเชียลมีเดีย จึงมีผลกระทบต่อบุคคลที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลตามที่ร้องขอ และเมื่อมีบุคคลที่ไม่ทำการยืนยันอายุ บุคคลนั้นก็จะถูกบังคับไม่ให้เข้าถึงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตและขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น กลุ่ม CCIA ยังให้เหตุผลว่าอัลกอรึทึมที่ร่างกฎหมาย SAFE for Kids Act ต้องการจำกัดนั้น เป็นอัลกอริทึมเดียวกันกับที่ปกป้องเยาวชนจากเนื้อหาที่เป็นอันตราย
ซึ่งการจำกัดอัลกอริทึมนี้ อาจส่งผลให้มีการส่งเนื้อหาแบบสุ่มไปยังผู้ใช้และอาจทำให้ผู้ใช้ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้
ถึงแม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านอย่างมากก็ตาม แต่ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2025 และรัฐนิวยอร์กเป็นรัฐแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการผลักดันในการออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องเยาวชนจากปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นผลกระทบในเชิงลบของโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังเป็นการปูทางให้รัฐอื่น ๆ ดำเนินการออกกฎหมายที่ตระหนักถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของเยาวชนอีกด้วย
แหล่งข้อมูล