ส่องพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ใช้ AI สร้างความแปลกใหม่ได้เกินกว่าที่คิด!

Share

Loading

พาสำรวจพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกที่ ‘ใช้’ AI สร้างประโยชน์ประกอบโบราณวัตถุกว่า 3,000 ปีสำเร็จ ไปจนถึงดึงความทรงจำของผู้ที่ตายแล้ว ให้ออกมาโต้ตอบกับผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างคาดไม่ถึง!

แม้เรื่องราวของ ‘ศิลปะ’ และ ‘AI’ จะมีความขัดแย้งกันอยู่ในแง่ของการสร้างสรรค์ผลงาน  แต่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไม่ได้คัดค้านการนำ AI มาใช้ซะทีเดียว แต่เป็นการ ‘เลือก’ ใช้ทั้งในระบบหลังบ้าน การประกอบสร้างและซ่อมแซม รวมไปถึงการนำเสนอผลงานให้ดียิ่งไปกว่าการจัดแสดงปกติทั่วไป และนี่คือตัวอย่างการใช้ AI ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมทั่วประเทศ ที่ทำให้เห็นว่า AI จะช่วยเข้ามาในวงการศิลปะได้อย่างไรบ้าง?

ประกอบสร้างชิ้นส่วนปรักหักพัง

สำนักข่าวซินหัว ได้เปิดเผยเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า พิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย เมืองกว่างฮั่น มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20  ได้เปิดนิทรรศการโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมมากมายที่ขุดพบใหม่จากแหล่งโบราณคดีซานซิงตุย หนึ่งในไฮไล้ท์สำคัญคือ ‘ต้นไม้สัมฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์’ ที่มีความสูงกว่า 2.88 เมตร ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้นไม้ต้นนี้เกิดจากการบูรณะเศษชิ้นส่วนกว่า 30 ชิ้นที่พบตามหลุมศพหลายหลุม!

ต้นไม้ศักดิ์สิทธิชิ้นนี้มีอายุราว 3,000 ปีล่วงเลยมาแล้ว และเชื่อว่าเป็นประติมากรรมของชาวชูโบราณ ซึ่งนับถือดวงอาทิตย์ พวกเขาใช้เวลากว่า 8 ปีในการบูรณะ และหนึ่งในวิธีการคือการบูรณะต้นไม้สัมฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ในฉบับดิจิทัลก่อนลงมือบูรณะซ่อมแซมของจริง เพื่อลดทอนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับโบราณวัตถุ

เพิ่มความตื่นตาในการนำเสนอ

พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่สอง ในนิวออลีนส์ สหรัฐอเมริกา ดึงดูดผู้เข้าชมรายใหม่ๆ ด้วยโครงการ Voice From the Front ซึ่งเป็นการติดตั้งระบบ AI ที่คล้ยคลึงกับการทำงานของ Siri หรือ Alexa เพื่อให้สามารถสร้างประสบการณ์ที่จะตอบโต้กับผู้ที่เข้าชมได้

จากปัญหาที่แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะใช้อาสาสมัครทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ มาแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา แต่เนื่องจากแต่ละคนก็มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ การแบ่งปันเหล่านี้ก็อาจจะลดลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โครงการจึงเริ่มต้นขึ้น โดยการสัมภาษณ์ผู้คนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สองไม่ว่าจะเป็นทหาร นักบิน คนผลิตเครื่องบิน และใช้ AI ดึงข้อมูลจากคำสัมภาษณ์เหล่านั้นใช้ตอบคำถามกับผู้เยี่ยมชม

ซึ่งผู้ชมก็จะได้รับประสบการณ์เหมือนการพูดคุยจริง เพราะ AI จะช่วยดึงและจับคู่เนื้อหาจากการสัมภาษณ์เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามที่ถูกถาม แม้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์บางคนจะเสียชีวิตแล้ว แต่พวกเขาก็สามารถมีชีวิตอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้และคอยตอบคำถามกับผู้คน .. จะว่าไปก็เหมือนการ์ดเวทมนตร์ในแฮรรี่ พอตเตอร์ก็ไม่ปาน แต่ดีกว่าซะอีกตรงที่สามารถโต้ตอบได้

ให้ศิลปะสามารถเข้าถึงผู้คน

ที่พิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป เจอกับปัญหาที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เยี่ยมชมซึ่งมีภาวะตาบอด หรือมองเห็นเลือนราง ที่อยากจะเยี่ยมชมศิลปะสามารถเสพงานศิลป์ได้เช่นเดียวกับคนอื่น

พวกเขาจึงเริ่มทำโครงการกับไมโครซอฟท์ เพื่อนำ AI เข้ามาทำให้ความฝันที่ผู้พิการเหล่านี้สามาถเข้าถึงงานศิลป์ได้ โดยการใช้  Azure AI Computer Vision และ Azure OpenAI และแปลภาพด้านหน้าเป็นข้อความเสียงที่ละเอียดระดับที่หากใช้มนุษย์ทำต้องใช้เวลาหลายปี! โดยพวกเขาใช้พลังของ AI สร้างคำบรรยายภาพของงานศิลป์เบื้องหน้ากว่า 1 ล้านชิ้น เพื่อให้ผู้ที่ทัศนวิสัยไม่ดีสามารถจินตนาการได้จากคำบรรยายภาพอย่างละเอียดโดยใช้ AI

เพิ่มยอดติดตาม อีกทางหนึ่งของการประชาสัมพันธ์

ในปี 2016 พิพิธภัณฑ์ Tate ในกรุงลอนดอน ร่วมมือกับบริษัทไมโครซอฟท์ ทำโครงการที่เรียกได้ว่าเพิ่มความไวรัลให้แก่งานแสดงศิลป์ โดยการอนุญาตให้ผู้เข้าชมสำรวจผลงานภายในพิพิธภัณฑ์ Tate ในรูปแบบใหม่ โดยการจับคู่ภาพในพิพิธภัณฑ์กับภาพในปัจจุบันที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งเรียกความฮือฮาได้ไม่น้อย!

และนี่แค่เพียง 4 ประเด็นที่นำมาเสนอเท่านั้น พิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกยังนำพลังของ AI มาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ การจัดระเบียบและบริหารข้อมูลต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงสำรวจผลตอบรับจากผู้เยี่ยมชมเพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง

ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ถึงยุคของ AI แล้ว และอย่ากลัวที่จะใช้ AI

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/712231