- “ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง” (Overtourism) เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงจุดเปลี่ยนที่จำนวนเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวเริ่มไม่สร้างประโยชน์ให้แก่คนท้องถิ่น แต่กลับก่อให้เกิดอันตรายกับเมืองและผู้คนแทน
- นักท่องเที่ยวล้นเมืองกลายเป็นพูดถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่การเดินทางทั่วโลกกลับมาเป็นปรกติหลังจากยุคโควิด-19 และต่อเนื่องยาวมาถึงปี 2024
- คนท้องถิ่นเริ่มไม่โอเคกับจำนวนนักท่องเที่ยวล้นเมือง หลายประเทศในยุโรปเกิดการประท้วง และเริ่มมีมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ปี 2024 จะกลายเป็นปีที่การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักมากที่สุด นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคโควิด “ยุโรป” ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลังของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ผู้คนมากหน้าหลายตาต่างพากันออกจากบ้านเพื่อไป “เที่ยวล้างแค้น” หลังจากต้องอุดอู้อยู่บ้านมานาน ทำให้ราคาที่พักพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ
จนคนในท้องที่ไม่สามารถเช่าหรือซื้อที่พักอาศัยในประเทศของตน อีกทั้งยังทำให้การจราจรติดขัดอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน คนท้องถิ่นเริ่มไม่โอเคกับจำนวนนักท่องเที่ยวล้นเมือง
“ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง” (Overtourism) เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงจุดเปลี่ยนที่จำนวนเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวเริ่มไม่สร้างประโยชน์ให้แก่คนท้องถิ่น แต่กลับก่อให้เกิดอันตรายกับเมืองแทน ไม่ว่าจะเป็นทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานเริ่มรองรับไม่ไหว และทำให้การใช้ชีวิตของชาวเมืองลำบากมากขึ้น เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น ถูกนักท่องเที่ยวก่อกวน คุกคาม เช่น เมาแล้วอาละวาด ขอเซลฟี่กับชาวบ้าน ฯลฯ
พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้แคมเปญ “การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” (Quality Tourism) เน้นคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว
สร้างรายได้ แต่กระทบชีวิตคนท้องถิ่น
ตามการวิเคราะห์ขององค์การการค้าโลกที่เขียนโดย โจเซฟ มาร์ติน เชียร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ และมารินา โนเวลลี จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ระบุว่า “นักท่องเที่ยวล้นเมืองถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมได้เช่นกัน”
นักท่องเที่ยวล้นเมืองกลายเป็นพูดถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่การเดินทางทั่วโลกกลับมาเป็นปรกติหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างเดินทางออกนอกประเทศ และต่อเนื่องยาวมาถึงปี 2024
องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงภายในเดือนมีนาคม 2024 มีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางไปต่างประเทศมาถึง 285 ล้านคน ซึ่งมากกว่าไตรมาสแรกของปี 2023 ประมาณ 20% โดยยุโรปยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุด
สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลกคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2024 ว่า ในปีนี้จะมี 142 ประเทศจาก 185 ประเทศที่จะทำลายสถิติด้านการท่องเที่ยว โดยจะทำรายได้รวมกันทั่วโลก 11.1 ล้านล้านดอลลาร์ และเกิดการจ้างงาน 330 ล้านตำแหน่ง
ถึงจะสร้างเงินสร้างงาน แต่ตอนนี้ชาวเมืองในยุโรปไม่ต้องการอีกต่อไป ชาวบ้านนับพันคนในหมู่เกาะคานารี ของสเปน ต่างรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องให้นักท่องเที่ยว “กลับบ้าน” หลังจากที่ราคาที่พักพุ่งสูงและมีการใช้น้ำอย่างมากมาย ขณะที่ชาวบาร์เซโลนาสาดน้ำใส่นักท่องเที่ยว ขณะที่พวกเขารับประทานอาหารกลางแจ้งในย่านท่องเที่ยว เพื่อทำให้พวกเขาอับอาย
โปรตุเกสลดจำนวนการขายตั๋วเข้าชมปราสาทซินตราลงครึ่งหนึ่ง และลดจำนวนรถตุ๊กตุ๊กที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวใช้ลงครึ่งหนึ่งและสร้างที่จอดรถเพิ่มเติม หลังจากที่ชาวเมืองร้องเรียนว่า นักท่องเที่ยวจอดรถกีดขวางการจราจร
ญี่ปุ่นเองก็เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองด้วยเช่นกัน ผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวญี่ปุ่นเพราะว่าค่าเงินเยนอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการบางอย่างเพื่อป้องกันประชากรและสถานที่สำคัญของตน ไม่ว่าจะเป็นห้ามให้นักท่องเที่ยวเดินผ่านตรอกบางแห่งที่เกอิชาทำงานอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวมักจะไปขอถ่ายรูปกับพวกเธอจนไปทำงานสาย
รวมถึงสร้างฉากมาบังวิวภูเขาไฟฟูจิบริเวณร้านลอว์สัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวหยุดถ่ายรูปบนถนน กีดขวางการจราจร ตลอดจนการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวและคิดค่าผ่านทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิ เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวแออัดจนเกินไป และเกินขีดจำกัดของธรรมชาติ
เกาะซิซิลี กำลังจะกลายเป็นทะเลทราย เพราะ “ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง”
ขณะที่เกาะซิซิลี ของอิตาลี กำลังต่อสู้กับวิกฤตการณ์น้ำที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เกาะแห่งนี้ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 มีฝนตกเพียง 150 มิลลิเมตร และในเดือนพฤษภาคม 2024 รัฐบาลอิตาลีประกาศภาวะฉุกเฉิน
แต่นักท่องเที่ยวไม่ได้รับรู้เรื่องวิกฤติขาดแคลนน้ำ พวกเขายังคงเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
คริสเตียน มัลเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยคาตาเนียกล่าว “นักท่องเที่ยวมาเพื่ออาบแดด ส่วนใหญ่ไม่คำนึงว่าเกาะจะขาดแคลนน้ำหรือไม่ และต้องการมีน้ำจืดใช้ตลอดเวลา
การท่องเที่ยวมากเกินไปจึงสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำของเกาะซิซิลีที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ให้รุนแรงขึ้นไปอีก”
สภาวิจัยแห่งชาติของอิตาลี ระบุว่าพื้นที่ 70% ของซิซิลีมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นทะเลทราย ทะเลสาบส่วนใหญ่ของเกาะเกือบจะแห้งหมดแล้ว ส่วนทะเลสาบเทียมฟานาโก ที่อยู่ทางตอนกลางของเกาะ เหลือน้ำเพียง 300,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทั้งที่เคยจุได้ถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้หลายพันครอบครัวบนเกาะต้องรองน้ำใส่ภาชนะเก็บไว้เพื่อใช้อุปโภคบริโภค
ยิ่งไปกว่านั้น ภัยแล้งและไฟป่าในฤดูร้อนยังทำลายพืชพรรณอีกด้วย เมื่อปีที่แล้ว ตามการประเมินของหน่วยงานคุ้มครองพลเรือนพบว่า ไฟไหม้ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 60 ล้านยูโร พื้นที่ป่าราว 7 ตร.กม. ถูกทำลาย เพียงแค่วันเดียวเกิดไฟป่าอย่างน้อย 10 ครั้งทั่วเกาะได้ทำลายป่า สวนสน และพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก
แม้จะเกิดวิกฤติน้ำ แต่โรงแรม รีสอร์ท และบีแอนด์บีหลายแห่งในซิซิลียังคงคึกคัก ถนนในเมืองหลักๆ ก็เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ร้านอาหารถูกจองเต็ม และชายหาดก็แน่นไปด้วยผู้คนหลายพันคน ชมพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ และอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ยังคงมีคนต่อเข้าคิวยาวเหยียด สนามบินยังคงเพิ่มเที่ยวบิน ขณะที่สถานที่พักและโรงแรมขนาดใหญ่เริ่มติดตั้งถังเก็บน้ำสำรอง บางแห่งเริ่มซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำ สวนทางกับโรงแรมและโฮสเทลขนาดเล็กกำลังเผชิญกับปัญหาในการจัดการน้ำและการหาน้ำให้กับแขก
ขณะเดียวกัน หลายองค์กรพยายามช่วยกันลดการเกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง เช่น UNESCO ได้เตือนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งมรดกโลกจากการมีนักท่องเที่ยวมากเกินไป ขณะที่ Fodor’s คู่มือท่องเที่ยวออนไลน์จัดทำ Fodor’s No List 2024 รายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังประสบปัญหานักท่องเที่ยวล้น ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในกรีซและเวียดนาม เพื่อให้นักท่องเที่ยวพิจารณาแผนการท่องเที่ยว
สถานที่ที่ยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์จากความพยายามลดจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยอัมสเตอร์ดัมที่ตั้งเป้าเป็นแหล่งปาร์ตี้ของชายหนุ่ม ส่วนมองโกเลียจัดทำแคมเปญ “Welcome to MonGOlia” ซึ่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 ได้ถึง 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
แหล่งข้อมูล