ปั้น “เว็บท่า” ขายสินค้าไทย สู้กับแพล็ตฟอร์มต่างชาติ

Share

Loading

คนไทยกำลังพูดถึงการเข้ามาของแพล็ตฟอร์ม ทีมู โดยหวั่นเกรงว่าแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยรายนี้ จะกดดันผู้ประกอบการ SME จนไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิต เนื่องจาก ทีมู ขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภค ในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ในยุคไร้พรมแดน

แน่นอนว่า การกดดันให้ภาครัฐปิดกั้นการเข้ามาของ ทีมู ไม่สามารถทำได้ เพราะข้อตกลงการค้าเสรี เปิดกว้างให้ทุกประเทศค้าขายกันได้ตามเงื่อนไขอยู่แล้ว ทำได้เพียงตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ขายผ่านแพล็ตฟอร์มดังกล่าวว่า มีคุณภาพ ตรงปกหรือเปล่า รวมถึงการดึงเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษี แต่นั่นก็คงไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกล้อมกรอบด้วยเทคโนโลยี จนเกิดอาการชะงักงัน เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังไม่มีที่ไป ต้องลงสนามแข่งขัน นำสินค้าเข้าไปขายผ่านแพล็ตฟอร์มต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชอปปี้ ลาซาด้า อาลีบาบา ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ค หรือในอนาคตก็อาจต้องไปใช้บริการ ทีมู ซึ่งเราต้องเล่มตามกฎของเขา ขาดอำนาจต่อรอง และผู้ที่อ่อนแอต้องยอมแพ้ไปตามระเบียบ

คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ ทำไมประเทศไทยไม่มี “เว็บท่า” ให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่เข้าไม่ถึงแพล็ตฟอร์มดังๆ หรือเข้าไปแล้วแข่งขันลำบาก ได้มี “แพล็ตฟอร์มพันธุ์ไทย” ให้เข้าไปทำมาค้าขาย

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประมาณปี 2543-2544 มีเอกชนกลุ่มหนึ่งทำเว็บไซต์ขึ้นมาเว็บหนึ่งชื่อว่า “ไทยแลนด์ ดอท คอม”

ในยุคนั้น อีคอมเมิร์ซ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แม้กระทั่งกระทรวงพาณิชย์ก็ยังใช้คำว่า “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” เป็นคำเรียกขาน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “อีคอมเมิร์ซ” ในปัจจุบัน

กลุ่มผู้จัดทำเว็บไซต์ ไทยแลนด์ ดอท คอม มีเป้าหมายให้เว็บไซต์นี้ เป็นศูนย์กลางของประเทศไทย หรือ “เว็บท่า” นำเสนอเรื่องราวของประเทศไทย รวมถึงเป็นช่องทางการขายสินค้าไทยไปในตลาดโลก เหมือนกับ อาลีบาบา ของจีน ซึ่งพัฒนาขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

แต่ด้วย ไทยแลนด์ ดอท คอม อาจจะมาก่อนเวลาไปหน่อย ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

ประมาณปี 2550 ตลาดโลกเริ่มรู้จัก “อาลีบาบา ดอท คอม” นักธุรกิจไทยคนหนึ่งประสบความสำเร็จจากการขายจิวเวอรี่ไปทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์ อาลีบาบา ซึ่งตอนนั้น อาลีบาบา ยังไม่เข้ามาในเมืองไทย คนไทยที่ซื้อขายใน อาลีบาบา มีแค่ระดับหลักพันคน และทั้งหมดเป็นกลุ่มโรงงาน หรือ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าส่ง เพราะอาลีบาบา เป็นเว็บค้าส่ง คือขายสินค้าเป็นล็อตใหญ่ ไม่ใช่เว็บค้าปลีกที่ขายกันเป็นชิ้นๆ

จะว่าไปแล้ว นักธุรกิจจิวเวอรี่รายนี้ เข้าไปค้าขายในอาลีบาบาด้วยความบังเอิญ เนื่องจากตอนแรกตั้งใจจะขายสินค้าผ่าน อีเบย์ ซึ่งเป็นเว็บขายปลีกยอดนิยมอันดับ 1 ในขณะนั้น จึงไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับอีเบย์เพื่อมาศึกษา แต่ไปเจอหนังสือต่างประเทศเขียนเกี่ยวกับ อาลีบาบา จึงลองซื้อมาอ่าน และลองเข้าไปทำการซื้อสินค้า ก่อนจะเริ่มขายสินค้า และประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

หนึ่งในคำถามที่เขาตั้งข้อสงสัยในวันนั้นคือ ทำไมประเทศไทยไม่มี “เว็บท่า” ในขณะที่ประเทศจีนมี อาลีบาบา ดอท คอม, อเมริกา มี อีเบย์ ดอท คอม, เกาหลีใต้ อินเดีย ก็มีเว็บไซต์ที่คนในวงการค้าขายออนไลน์นึกออกว่า ถ้าจะเข้าไปหาของออนไลน์ในประเทศเหล่านี้ ต้องเข้าเว็บไหน แต่ ประเทศไทย นึกไม่ออกว่าถ้าจะเข้ามามาเยี่ยมชม หาซื้อสินค้า จะเข้าเว็บไหน

ขณะที่รัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาปั้น “อินฟลูเอนเซอร์” จัดคอร์สอบรมให้คนมาเรียนค้าขายออนไลน์ พอกลับไปก็เหมือนเดิม เพราะไม่มีแพล็ตฟอร์มให้เล่น หลายกระทรวง หลายกรม พยายามเปิดแพล็ตฟอร์ม ให้ผู้ประกอบการเอาสินค้าเข้าไปขาย แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร กลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการต้องจ้างแอดมิน จ้างบุคลากรมาคอยอัพสินค้า แต่ไม่มีผู้ซื้อเข้ามาเยี่ยมชม ได้ภาพแต่ไม่สัมฤทธิ์ผล สุดท้ายก็ต้องแอบปิดตัวไปแบบเงียบๆ

แม้ปัจจุบันยังพอมีแพล็ตฟอร์ม “อี-มาร์เก็ตเพลส” ของเอกชน ให้พอได้พึ่งพาอาศัยอยู่บ้าง แต่ก็ค้าขายเฉพาะกลุ่ม ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเหมือนแพล็ฟอร์มดังๆ

ความสงสัยจึงวนเวียนกลับมาที่คำถามเดิมว่า ทำไมประเทศไทยจึงไม่มี “เว็บท่า” หรือแพล็ตฟอร์มระดับชาติ แบบที่คนทั่วโลกรู้จัก ให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำมาค้าขาย ทำไมรัฐบาลจึงไม่ลงทุน หรือ ส่งเสริมส สนับสนุน ร่วมกับเอกชนที่มีความพร้อม นอกจากจะเป็นแหล่งค้าขายสินค้าแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการนำเสนอเรื่องราวดีๆ ของประเทศไทยได้อย่างไร้ขีดจำกัด

อย่าให้ต้องชอกช้ำระกำใจ เหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เราประกาศด้วยความอหังการ์ว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” แต่ไม่มีรถยนต์แบรนด์ไทย น่าภูมิใจตรงไหน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/11/thailand-e-commerce-platform/