Upskill/Reskill หรือตกงาน: ความท้าทาย โอกาสแรงงานไทยยุค Disruption

Share

Loading

รายงานของ World Economic Forum ระบุว่าภายในปี 2027 งานกว่า 43% จะถูกทำโดยระบบอัตโนมัติ และ 23% ของงานทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเอไอ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อการดำรงชีวิต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมเสวนาใน งานแถลงข่าวเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคนภายใต้แนวคิด “IGNITING THAILAND’S BRAINPOWER” จัดโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคน และทุนด้านพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

บพค. เห็นถึงความสำคัญการพัฒนากำลังคน ให้รองรับความผันผวนเทคโนโลยี (Technology Disruption) ด้วยการสร้างทักษะใหม่ๆ และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยวางเป้าหมายพัฒนากำลังคนเพื่อป้อนเข้าสู่ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักภายใน 5 ปี ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 3,600 คน อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์ และ EV จำนวน 4,400 คน และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 9,500 คน นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยให้ได้ 40 คนต่อประชากร 10,000 คน ภายในปี 2570

การพัฒนากำลังคน บพค. มีแผนดำเนินงานหลายระดับ ทั้งระยะสั้นที่เน้นพัฒนาทักษะเดิม เพิ่มทักษะใหม่ และอบรมบุคลากรผู้สอน (Reskill/Upskill/Train the trainer) ระยะกลางที่เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มนักวิจัยระดับหลังปริญญา และระยะยาวที่มุ่งเน้นจัดตั้งวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย – ธัชวิทย์ (TAS) เพื่อสร้างบุคลากรนักวิจัยสมรรถนะสูงตอบโจทย์ตามความต้องการหน่วยงานวิจัยและภาคเอกชน/อุตสาหกรรม

ผมเห็นโครงการแบบนี้แล้วคิดว่าเป็นเรี่องดี เพราะเห็นตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ ที่ได้ริเริ่มโครงการ SkillsFuture Jobseeker Support เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางที่ว่างงานโดยไม่สมัครใจ เช่น กรณีถูกเลิกจ้างหรือบริษัทล้มละลาย โครงการนี้ประกาศครั้งแรกในปี 2023 โดยสนับสนุนการเงินชั่วคราวแก่แรงงานเหล่านี้สูงสุดถึง 6,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสนับสนุนต้องมีส่วนร่วมด้วยการเข้ารับการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และบริการจับคู่งาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามรัฐบาลสิงคโปร์ในการสร้างสมดุลระหว่างการให้ความช่วยเหลือและการส่งเสริมให้แรงงานพัฒนาตนเองเพื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ความพยายามประเทศต่างๆ ในการพัฒนาทักษะแรงงานสอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลกที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงาน ทั้งนี้จากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่าภายในปี 2027 งานกว่า 43% จะถูกทำโดยระบบอัตโนมัติ และ 23% ของงานทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเอไอ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อการดำรงชีวิตผู้คนและกำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ และสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนด้านทุนมนุษย์

แม้ World Economic Forum จะคาดการณ์ว่า โดยรวมแล้วการเติบโตของตำแหน่งงานจะมีมากกว่าการลดลง แต่หลักสูตรการเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่สอดคล้องกับทักษะที่ต้องการในอนาคต จึงจำเป็นต้องสร้างทักษะใหม่ๆ กับผู้เรียน รวมถึงการปรับทักษะให้กับคนทำงานในปัจจุบัน

งานวิจัยของ World Economic Forum ที่ทำร่วมกับ PwC แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในการ Reskilling และ Upskilling แรงงานทั่วโลกในปัจจุบันมีศักยภาพเพิ่ม GDP ได้ถึง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 ขณะที่การลงทุนในการศึกษาที่พร้อมรับมืออนาคตสำหรับเด็กรุ่นปัจจุบันอาจเพิ่ม GDP ได้ 2.54 ล้านล้านดอลลาร์

การเร่ง Upskill และ Reskill คนทำงานในยุค Disruption เป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่เพียงแต่จะช่วยให้แรงงานสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตของประเทศ การสร้าง “Brainpower” หรือกลุ่มคนที่มีทักษะและความสามารถสูงจะเป็นกุญแจสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และการแข่งขันในเวทีโลกได้ยั่งยืน

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานไม่เพียงช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นโอกาสเพิ่มผลิตภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาทักษะใหม่ระดับโลกมีดังนี้:

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ: Google, Microsoft และ IBM กำลังเป็นผู้นำในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและโปรแกรมรับรองในเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต เช่น AI, Cloud Computing, และ Cybersecurity ซึ่งเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานปัจจุบัน

แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์: แพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังทำให้การเข้าถึงการศึกษาเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น โดยเป็นทางเลือกที่มีความยืดหยุ่นและราคาไม่แพงสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่และได้รับประกาศนียบัตร ทำให้ผู้คนสามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลาและจากทุกที่

นายจ้างที่มีวิสัยทัศน์: บริษัทที่มองการณ์ไกลกำลังลงทุนในโครงการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานเพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานของตนและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรม บางบริษัทเสนอการชดเชยค่าเล่าเรียน โครงการพี่เลี้ยง และโอกาสในการฝึกอบรมในงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตและความก้าวหน้าของพนักงาน

รัฐบาลทั่วโลก: หลายประเทศกำลังลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแรงงานและการพัฒนาทักษะใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการฝึกอบรมวิชาชีพ การสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม และการให้แรงจูงใจสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะ

โดยรวมแล้ว ความสำเร็จการแข่งขันระดับโลกเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือและนวัตกรรมจากหลายภาคส่วน เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานจะมีทักษะที่จำเป็นในการเติบโตในโลกของการทำงานในอนาคต

ท้ายที่สุด การเร่ง Upskill และ Reskill คนทำงานไม่ใช่เพียงการตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนในอนาคตของประเทศ การสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง มีความยืดหยุ่น และพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในระยะยาว และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1142391