รู้จักปรากฏการณ์ AI Washing ที่เหล่าบริษัทอ้างว่าผลิตภัณฑ์ ‘ทำงานด้วย AI’

Share

Loading

สำหรับภาคการผลิต ‘งานสร้างสรรค์’ หลายภาคส่วน การบอกว่าตนใช้ AI ในการทำงานดูจะเป็นเรื่องผิดบาประดับที่หลายๆ คนต้องแอบใช้ AI โดยไม่บอกผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี สำหรับภาคธุรกิจ ทุกอย่างกลับกลับตาลปัตร เพราะทุกวันนี้มีเทรนด์ในการอ้างว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทนั้น ‘ทำงานโดยใช้ AI’ (AI powered) อย่างแพร่หลายมาก มากจนเหมือนอยู่กันคนละโลกกับภาคการผลิตบางส่วนที่คนเสียงดังๆ ส่วนใหญ่ไม่เคยประนีประนอมในการรังเกียจงานที่มีการใช้ AI ในการช่วยผลิต

ปรากฏการณ์ ‘อ้างว่าใช้ AI ทั้งที่ไม่ได้ใช้’ นี้ เรียกรวมๆ ในปัจจุบันว่า ‘AI Washing’ เป็นสิ่งที่เรียกว่าระบาดมากในภาคธุรกิจโลกตะวันตก หรือความจริงแม้แต่ในไทยเอง เราก็น่าจะเคยผ่านตาผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าใช้ AI ทำงานเบื้องหลังมาบ้าง ทั้งที่เราในฐานะผู้บริโภคฟังแล้วก็งงว่าจะใช้ AI ไปทำไมในงานที่เทคโนโลยีปัจจุบันก็จัดการได้ดีอยู่แล้ว

คำถามคือเขาจะอ้างกันทำไม?

คำตอบเร็วๆ คือ ในหมู่ผู้บริโภคทั่วไป การบอกว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ใช้ AI อาจฟังดูไม่ดึงดูดนัก และก็จะไม่ดึงดูดแน่ๆ ถ้าผู้ผลิตอ้างว่าใช้ AI เพื่อจะอัปราคา ในกลุ่มสินค้าที่ผู้คนก็ใช้ตามปกติโดยไม่มี AI ได้ดีอยู่แล้ว

แต่กลับกัน ในหมู่นักลงทุน ในช่วงที่ผ่านมา กระแสคลั่ง AI เป็นเรื่องจริงจังมาก หากบริษัทไหนบอกว่าใช้ AI มักจะขายได้ดี หุ้นขึ้น ดึงเงินลงทุนมาได้มหาศาล

สิ่งที่ยืนยันความคลั่งนี้ได้ดีก็น่าจะเป็นราคาหุ้นของบริษัท NVIDIA ที่ขึ้นมาเกือบ 10 เท่าตัวแล้วนับแต่ต้นปี 2023 และมันขึ้นมาเนื่องจากบริษัทนี้เป็นมหาอำนาจด้าน ‘ชิป AI’ นั่นเอง

จริงๆ แล้ว เจ้าชิป AI คือสิ่งที่คนยุคก่อนเรียกว่า ‘การ์ดจอ’ และที่เป็นแบบนี้เพราะการประมวลผล AI มันเป็นการประมวลผลแบบประมวลภาพเคลื่อนไหว

กระแส AI ที่คลั่งสุดๆ ตั้งแต่ปี 2023 ทำให้เกิดบริษัทมากมายที่อ้างว่าตนใช้งาน AI มาทำอะไรต่างๆ สารพัด และกระแสมันใหญ่ขนาดที่บริษัทเครื่องดื่มที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการต้องใช้ AI อย่าง Coca-Cola ก็ยังอ้างว่าใช้ AI ในการคิดรสชาติเครื่องดื่มในยุคปี 3000 ด้วย AI แล้วทำเครื่องดื่มรสชาติดังกล่าวออกมาขายจริงๆ

ดังนั้น ถ้าบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับ AI เลยยังอ้าง AI ได้ ก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าพวกบริษัทเทคโนโลยีจะอ้างกันหนักแค่ไหน โดยความเป็นจริง หน่วยงานด้านกำกับดูแลหลักทรัพย์ หรือ กลต. ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการสั่งปรับบริษัทจำนวนหนึ่งที่อ้างว่าใช้ AI โดยไม่ได้ใช้จริง เพราะนั่นคือเป็นการ ‘หลอกลวงนักลงทุน’ แต่นี่เองที่คนมองว่า AI Washing อาจเป็นปัญหาในระยะยาว

ทั้งนี้ในปัจจุบัน ไม่ได้มีนิยาม AI ในทางกฎหมายที่ชัดเจน ดังนั้นบริษัทต่างๆ ก็สามารถอ้างว่าตนใช้ AI กับอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงๆ กลไกเบื้องหลังอาจเป็นอัลกอริทึมเก่าๆ ที่ใช้มากันตั้งแต่ยุค Y2K ก็เป็นได้

ประเด็นคือ การทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะบางทีบริษัทก็อ้างว่าพูดถึง AI ในความหมายกว้างๆ ก็ได้ ซึ่งเอาให้ถึงที่สุดถ้าเป็นแบบนั้น โปรแกรมทำงานอัตโนมัติอะไรก็สามารถอ้างว่าเป็น AI ได้ ทั้งที่ไม่ใช่ AI ที่เป็นกระแสจนดันหุ้น NVIDIA ให้กลายเป็นบริษัทมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ของอเมริกาอย่างที่ว่าแน่ๆ

AI ที่พูดถึงในปัจจุบัน โดยรวมคือโปรแกรมที่ถูกสร้างมาโดยระบบที่เรียกว่า Machine Learning คือใส่ข้อมูลเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ (ในทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะเรียกว่า input กับ output) จำนวนมากเข้าไปให้คอมพิวเตอร์สร้างอัลกอริทึมมาประมวลหาความเชื่อมโยง และมนุษย์ก็มักจะไม่เข้าใจ ‘ตรรกะ’ การเชื่อมโยงที่ว่านี้ กล่าวคือ อัลกอริธทึมที่ถูกสร้างมาใหม่มันทำงานเหมือน ‘กล่องดำ’ ที่คนไม่รู้ว่าทำงานยังไง แต่มันทำงานได้ และนี่แหละคือ AI ที่ว่ากันในบริบททศวรรษ 2020

ประเด็นคือ AI มีพัฒนาการมาหลายยุค สิ่งที่เคยเป็น AI ในอดีต ปัจจุบันอาจไม่ได้ดูไฮเทคอะไรเลย และคนก็ไม่นับและไม่เรียกเป็น AI แล้ว แต่ก็ไม่มีกฎหมายข้อใดที่จะห้ามเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า AI ไม่ว่าจะเรียกด้วยเหตุผลสุจริต หรือเรียกเพื่อต้องการจะหลอกลวงผู้อื่นว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีไฮเทคบางอย่าง

แต่ก็นั่นเอง เงินลงทุนในภาคธุรกิจเทคโนโลยีมันหอมหวาน การอ้างว่าใช้ AI หากไม่ผิดกฎหมายชัดเจนก็ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องถ้านั่นจะทำให้ดึงเงินนักลงทุนมายังโปรเจกต์ได้ และก็ว่ากันตรงๆ การออกกฎหมายมาควบคุมในกรณีพวกนี้เป็นสิ่งใช้การไม่ได้จริง เพราะกว่ากฎหมายจะผ่านและบังคับใช้ คนก็น่าจะเลิกเห่อ AI ไปเห่ออย่างอื่น และก็จะมีปัญหา Washing อย่างอื่นกันแทนแล้ว

สุดท้าย ถ้าปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ดูยังห่างไกลจากชาวไทย แต่จริงๆ ก่อน AI Washing ก็มีคำว่า ‘Blockchain Washing’ มาก่อน

เพราะยุคก่อน AI นักลงทุนก็จะเห่อ Blockchain แบบใครอ้างคำนี้ในผลิตภัณฑ์เงินก็เทไป ทั้งที่จริงๆ ผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือกระทั่งเวลาทำผลิตภัณฑ์ออกมาจริงๆ ก็ไม่ได้ใช้ Blockchain ดังกล่าวอ้าง

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1082881076733561&set=a.811136570574681