“เชียงใหม่ – ลำปาง” สองจังหวัดต้นแบบการใช้วิจัยนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์

Share

Loading

สกสว. เผย “เชียงใหม่ – ลำปาง” สองจังหวัดต้นแบบการใช้วิจัยนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ โชว์ 5 โปรเจกต์เด่นสร้าง “เมืองน่าอยู่” พร้อมรับฟังเสียงหน่วยงานภูมิภาคสรรหากลไกสร้างความยั่งยืนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำทีมคณะผู้แทนสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลงานภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จังหวังเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง

ทั้งสองจังหวัดเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ สู่การยกระดับความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เช่น การจัดการป่าชุมชน และการประยุกต์ใช้มาตรการลดการเผาในที่โล่ง และการถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ

การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มอาสาสมัครชาวต่างชาติ โดยมีแผนจะขยายผลให้ครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน และเป็นโอกาสอันดีที่ กสว. และคณะจะได้รับฟังข้อมูลสถานการณ์และโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่

เพราะหัวใจสำคัญของการบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. คือ การหนุนเสริมให้ประเทศพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้กระบวนการทางความรู้ที่นำความต้องการของผู้ได้รับประโยชน์เป็นตัวตั้ง เพื่อให้งบประมาณที่ลงทุนไปนั้นเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

โดยองคาพยพของ ววน. จะต้องบูรณาการการทำงานกับเครือข่ายทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้บรรลุเป้าหมายในประเด็นสำคัญของประเทศภายใน 2-3 ปี เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนจนเกิดสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมและมีความหมายต่อประชาชน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมว่า จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่ที่มีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) หน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ

และองคาพยพในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน และภาควิชาการ ซึ่งมีความพร้อมที่จะเดินหน้าในการนำความรู้ที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปขยายผลวงกว้าง โดยมีผลการดำเนินงานของโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. ดังนี้

1.แม่เหียะโมเดล การยกระดับเทศบาลเมือง จ. เชียงใหม่ เป็น Smart city ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองแม่เหียะ พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและการพัฒนาเมือง รูปแบบ Big Data ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น มีระบบฐานข้อมูลเปิดเมืองคาร์บอนต่ำเพื่อทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเมือง รวมถึงพัฒนากลไกและต้นแบบธุรกิจร่วมกับประชาสังคมในท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่

2.การจัดการป่าชุมชน และการประยุกต์ใช้มาตรการลดการเผาในที่โล่งจังหวัดลำปาง ณ ชุมชนบ้านสามขา อ. แม่ทะ จ. ลำปาง เพื่อแก้โจทย์ปัญหาหนี้สินของชุมชน

ในครั้งนั้นได้สร้างนักวิจัยชาวบ้าน ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ในการแก้โจทย์ปัญหาอื่น ๆ เช่น การจัดการปัญหาไฟป่าที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผนวกกับการนำความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ชุมชนบ้านสามขาจึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สามารถดึงความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

3.การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มอาสาสมัครชาวต่างชาติ ณ มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง อ. แม่พริก จ. ลำปาง

โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้นำงานวิจัยการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร ซึ่งได้รับทุนจาก สกว. (เดิม) มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

โดยได้สร้างกิจกรรมและกลยุทธ์การตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครที่เข้ามาในพื้นที่ได้มากกว่า 10,000 คน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 12 และมีแผนจะขยายผลให้ครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท

4.ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้บนฐานทุนวัฒนธรรม สร้างนวัตกรรมเพื่อโอกาสและอนาคต โดย บพท. ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและพัฒนากลไกพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้จากภูมิสังคมและวัฒนธรรม ยกระดับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก

อีกทั้งได้นำงานวิจัยเข้าไปช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าย้อมครั่งตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นจากฐานการผลิตเดิมกว่า 4.5 ล้านบาท และได้สร้างต้นแบบการเรียนรู้นวัตกรรมเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงให้เกษตรกร ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากได้มากกว่าร้อยละ 10 จากปี 2563

5.การยกระดับผลิตภัณฑ์เซรามิก และผลิตภัณฑ์ภาชนะสัมผัสอาหารจากกาบหมาก ของ จ. ลำปาง ให้ได้การรับรองมาตรฐาน โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้มีการพัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ภาชนะเซรามิกที่ใช้กับอาหารภายใต้มาตรฐานสากล ISO/IEC17065

อีกทั้งได้พัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และข้อกำหนดเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติกาบหมาก

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่และเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการไทย

“อย่างไรก็ตาม การรับฟังเสียงของผู้ใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ได้เห็นประเด็นท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะนำกลับไปเป็นโจทย์ให้ สกสว. และหน่วยงานใน ววน. ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ

โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนผลงานภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. ต่อไป” ประธาน กสว. กล่าวทิ้งท้าย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1144766