Smart City นครศรีธรรมราช ระบบป้องกันภัยน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ เข้าถึงได้ทุกคน

Share

Loading

ระบบป้องกันน้ำท่วมที่ประชาชนมีส่วนร่วมง่ายๆ ผ่านแอปเทศบาลนครศรีธรรมราช @Nakhoncity ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร ไวแค่ไหนในการแก้ปัญหา ป้องกันความเสียหาย ประหยัดงบได้ปีละกว่าสิบล้าน

คุยกับ ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราชกับแนวคิด Smart City ที่เข้าถึงทุกคน เพราะเมืองอัจฉริยะเป็นของทุกคน “People-Centric Smart City” กับการรับมือกับภัยน้ำท่วมผ่านโครงการ “แอปเทศบาล” @Nakhoncity โดยมีประชาชนกว่า 70,000 คน หรือราว 70% ของประชากรตามทะเบียนบ้านทั้งหมด ใช้บริการและช่วยกันแจ้งเตือนภัย แจ้งการกีดขวางทางน้ำออนไลน์ได้แบบ 24 ชั่วโมง

พร้อมไปกับการเช็คการไหลของน้ำผ่านกล้อง CCTV ตลอดเส้นทางน้ำจากภูเขาลงมาตัวเมืองได้แบบเรียลไทม์ ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจนถุงยังชีพต้องหลบไป ตลอด 3 ปีทีผ่านมา ไร้ความเสียหายจากภัยน้ำ จนกวาดรางวัลมาแล้วหลายเวทีทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ วิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 4.74 ล้านไร่ กระจายตัวอยู่ในทุกภาคของประเทศ โดยมี 52 จังหวัด 419 อำเภอ 2,621 ตำบล ที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่

ภาคใต้ มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 0.27 ล้านไร่ รวม 10 จังหวัด 66 อำเภอ 369 ตำบล ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส พัทลุง ยะลา นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพรและระนอง โดยจังหวัดปัตตานีมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด 75,223 ไร่ รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาสและพัทลุง ซึ่งมีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 58,866 และ 41,884 ไร่ ตามลำดับ

แต่ละพื้นที่มีวิธีจัดการและรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมแตกต่างกัน แต่ในยุคที่เรามีเทคโนโลยีไว้รับมือ ปัญหาจึงคลี่คลายและกลายเป็นตัวอย่างที่ใครๆ ก็อยากรู้ เช่น ตัวอย่าง 3 ปีที่ผ่านมา นครศรีฯ ไม่มีน้ำท่วมทำได้อย่างไร?

Smart City Mobile Application
ระบบป้องกันภัยน้ำท่วมของนครศรีธรรมราชเริ่มต้นจากอะไร

เทศบาลนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ 22 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองเหนือ-ใต้ตามแนวยาว มีคลองไหลผ่านเมือง ตั้งฉากทิศเหนือใต้ ไหลจากทิศตะวันตก จากซ้ายไปขวามือ ตะวันตกไปตะวันออก 5 สาย น้ำที่ไหลมาสู่คลองลงมาจากภูเขา จากอำเภอลานสกา ที่ตั้งอยู่บนภูเขา (เขาหลวง)  น้ำเดินทางจากภูเขาลงมาถึงตัวเมืองใช้เวลา 6 ชั่วโมง จากตัวเมืองจึงค่อยๆ ไหลออกไปสู่ทะเล ในอดีตเคยมีน้ำท่วมมากบ้างน้อยบ้าง

พอเราเริ่มต้นเรื่องการเตือนภัย ใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้สมาร์ทโฟนเข้ามาช่วย 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีน้ำท่วม งบที่ตั้งไว้สำหรับถุงยังชีพปีละ 13 ล้านบาท 3 ปีที่ผ่านมาไม่ต้องใช้เลย ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเคยต้องชดเชยครัวเรือละ 5,000 บาทไม่ต้องใช้แล้ว

ระบบป้องกันภัย

1.ระบบไลน์ OA คล้ายกับแพลตฟอร์มจัดการปัญหา “Traffy Fondue” ( ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ) ของ กทม. แต่ของเราเป็นแบบไลน์กลุ่ม ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการแอดไลน์ @Nakhoncity ก็สามารถเข้าไปใช้ไปบริการได้แบบเรียลไทม์ สามารถดูกล้องวงจรปิดได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง มีกล้อง 141 ตัวทั่วเขตเทศบาลที่เปิดเป็นสาธารณะจากจำนวนทั้งหมด 560 ตัว และยังติดไว้บนภูเขาด้วยตลอดเส้นทางการไหลของน้ำเป็นระยะๆ ในคลองทั้ง 5 สายก็มี เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่า ระดับน้ำขึ้นมามากน้อยแค่ไหน น้ำเดินทางมาถึงไหนแล้ว เมื่อทำแบบนี้ก็จะทำให้ประชาชนรู้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถเตรียมตัวได้ ทำให้เรื่องของการใช้เสียงตามสายหรือการประกาศต่างๆ เป็นเรื่องรองลงไป เพราะว่าทุกคนรู้ข้อมูลได้ตรงกันตั้งแต่แรก

ส่วนกล้องที่ทางเทศบาลติดไว้บนภูเขา จะมีสัญญาณเป็นไม้เช็คระดับน้ำทาสีไว้ที่ตลิ่งมี สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีเขียวคือ ปกติ สีเหลือง-เตรียมตัว แต่ถ้าสีแดง บ้านริมคลองต้องเตรียมย้ายของขึ้นหนีน้ำก่อน มีเวลาในการตั้งรับน้ำ 6 ชั่วโมง ทุกคนก็สามารถทำได้ เมื่อทำได้แบบนี้ความเสียหายของบ้านริมคลองจึงไม่มี เพราะเขารู้ล่วงหน้า นี่คือเรื่องของการเตือนภัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรับรู้ได้หมด

ประชากรในเทศบาลนครศรีฯ ตามทะเบียนบ้านมีอยู่ราว 100,000 คน สมาชิกในไลน์โอเอมีอยู่ราว 79,000 คน เกิน 70% ของจำนวนประชากรแล้ว เป็นไปตามเกณฑ์ของ Smart City ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไลน์นี้นอกจากสามารถดูกล้อง CCTV ได้แบบ 24 ชั่วโมงแล้ว ยังมีบริการร้องทุกข์ออนไลน์ได้ถึง 20 หัวข้อ เช่น หัวข้อเรื่องการกีดขวางทางน้ำ ดูดท่อระบายน้ำ ประชนชนจะช่วยกันชี้จุดว่าตรงไหนที่น้ำไหลไม่สะดวก เพราะเมื่ออยู่หน้าบ้านใครหรือในบริเวณบ้านก็จะรู้ข้อมูลนี้ดีที่สุด เมื่อมีการแจ้งมาทางไลน์ทางเทศบาลก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไข ตอนนี้ทางระบายน้ำในเมืองก็จะไหลคล่อง

2.ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการนำสิ่งกีดขวางทางน้ำออก

คูหน้าบ้าน ท่อระบายน้ำตรงไหนที่อุดตัน เมื่อมีการแจ้งมาทางเทศบาลจะรีบไปจัดการให้ภายใน 48  ชั่วโมง ส่วนในคลอง เส้นเล็กเส้นน้อยต่างๆ ก็จะช่วยกันสอดส่องดูแล นี่คือสิ่งที่เราทำสำเร็จและได้รับรางวัลมามากมายจากระบบไลน์โอเอนี้ เรารับรองว่าจะแก้ปัญหาให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากแจ้งเข้ามา ถ้าแจ้งแล้วภายใน 48 ชั่วโมงยังไม่เสร็จ ใบงานจะเตือนเป็นสีแดงขึ้นมา จากนั้นนายกเทศบาลจะต้องรีบรุดเข้าไปจัดการ

โมเดลนี้มาจากที่ไหน

เราดูจากหลายที่ แต่เรื่องการติดกล้องมาจากประสบการณ์ของเราเอง เพราะเราพบว่า ถ้าประชาชนรู้ข้อมูลเรื่องน้ำล่าช้าไปเพียว 1 ชั่วโมง ความเสียหายมันมาก เพราะหากน้ำเข้ามาถึงบ้านแล้วไม่สามารถยกของหนีน้ำได้ทัน ด้านเจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนจำกัด เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมก็จะเกิดความโกลาหลกันไปหมด แต่ถ้าเราแชร์ข้อมูลให้รู้ทั่วถึงกันหมด ความโกลาหลก็จะไม่เกิดขึ้น ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ก็จะลงไปในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ตรงนี้คือความสำเร็จ

ปีนี้โอกาสน้ำท่วมเป็นอย่างไร

ตอนนี้สถานการณ์ยังเป็นสีเขียวหมด แต่เราก็ติดตามคำประกาศของกรมอุตุฯ และตามแอปพลิเคชันต่างๆ อยู่ตลอด

นั่นคือภาพใหญ่ แต่ภาพย่อยที่ทุกคนจะสามารถดูได้แบบเรียลไทม์เลยคือการใช้ไลน์โอเอ @Nakhoncity  เมื่อไม่มีความตื่นตระหนก เช็คได้ทุกจุด ก็ไม่เกิดความโกลาหล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ระบบบริหารจัดการน้ำของนครศรีธรรมราช

ขณะนี้ทางกรมชลประทานมีโครงการคลองเลี่ยงเมือง มูลค่าประมาณ 9,000 ล้าน เดินหน้าไปได้ประมาณ 30% แล้ว โครงการนี้จะช่วยแก้ไขให้น้ำที่ไหลเข้าสู่เมืองเลี่ยงออกไป ผ่านทางคลองนี้ออกสู่ทะเลไปเลย โดยไม่ต้องเข้าเมือง คลองจะช่วยรับน้ำและแบ่งออกไปได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ยังไม่เสร็จ ส่วนที่เสร็จแล้วก็สามารถใช้เป็นแก้มลิงได้ก็สามารถช่วยบรรเทาไปได้เยอะ

ความท้าทายในการแก้ปัญหาแตกต่างจากที่อื่นไหม

ในเมืองส่วนที่จะเดือดร้อนจะเป็นบริเวณที่ลุ่ม บ้านริมคลองจะเป็นโซนที่มีความเสี่ยงภัยมากที่สุด เรามีการจัดระดับความเสี่ยงภัยไว้ สองคือบ้านที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำกว่าที่อื่น เรามีการติดตั้งปั๊มน้ำกระจายไปตามเขตเทศบาลช่วยแก้ปัญหาในที่ลุ่ม

Water Pumping System เป็นปั๊มแบบอัตโนมัติที่รอดูดที่บ่อพักเลย คือถ้าระดับน้ำขึ้นมาถึงระดับหนึ่ง เครื่องก็จะส่งสัญญาณสั่งให้ปั๊มทำงาน เทศบาลก็แบ่งหน้าที่เจ้าหน้าที่ว่าใครดูแลปั๊มตัวไหน เขตไหน

สรุประบบป้องกันภัยน้ำท่วมนครศรีธรรมราช
  • เตือนภัยโดยประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 24 ชั่วโมงผ่านทาง CCTV ไลน์โอเอ@Nakhoncity บนสมาร์ทโฟน
  • การจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางผ่านทางไลน์โอเอ @Nakhoncity
  • โครงการชลประทานคลองเลี่ยงเมืองเสร็จไปแล้ว 30%
  • ระบบปั๊มอัตโนมัติ ทั้งปั๊มขนาดเล็กและปั๊มขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วไปตามจุดต่างๆ ในที่ลุ่มต่ำ ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อระดับน้ำขึ้นถึงจุดเซ็นเซอร์ที่ตั้งไว้

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-city/713049