รู้จักกับปรากฏการณ์ภาพลวงตาของความยั่งยืน Sustainability Mirage

Share

Loading

ในห้วงเวลาที่ชาวโลกกำลังตื่นตัวให้ความสนใจกับสภาวการณ์ของโลกและธรรมชาติที่กำลังเสื่อมโทรมจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ความร่วมมือในระดับนานาชาติต่อเรื่องของการสนับสนุนให้ทุกประเทศทั่วโลกให้หันมาพัฒนาสร้างความยั่งยืนของโลกให้กลับมาเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ และธรรมชาติอย่างยืนยาวได้ตลอดไปก็มีความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย

เรือธงของกระบวนการนี้ก็คือการกำหนด เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ (SDG 17) ที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้นและสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำไปกำหนดเป็นเป้าหมายเฉพาะของแต่ละประเทศที่จะต้องพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายในปี 2030 ไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะในทุกภาคส่วน

แรงผลักดันดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า ปรากฏการณ์ภาพลวงตาของความยั่งยืน หรือ Sustainable Mirage

ตั้งแต่บทเรียนในระดับชั้นมัธยม ทุกคนคงได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ภาพลวงตา (Mirage) ว่าหมายถึงการที่สายตาเรามองเห็นภาพที่ไม่ได้ปรากฏขึ้นจริง แต่เป็นเพียงภาพสะท้อนที่เกิดจากการหักเหของแสงที่กระทบกับวัตถุใดวัตถุหนึ่ง แล้วสะท้อนกลับมาเข้าสู่ตาของเรา

ตัวอย่างที่มักยกมาประกอบก็คือ กรณีปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นในช่วงแดดจัดและอากาศร้อนที่ทำให้ความหนาแน่นของอากาศที่ความสูงต่างๆ จะมีค่าต่างกัน ทำเกิดภาพลวงตาเหมือนเห็นมีแอ่งน้ำหรือเงาสะท้อนน้ำอยู่บนผิวถนนข้างหน้า แต่เมื่อเคลื่อนที่เข้าไปใกล้ๆ กลับเห็นแต่ถนนที่แห้งไม่มีแอ่งน้ำใดๆ เหมือนที่เห็นมาก่อนหน้า อันเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกับการเกิด ภาพลวงตาของการพัฒนาความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่องค์กรต่างๆ รวมถึงองค์กรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่พยายามเผยแพร่ข้อมูลเพื่อนำเสนอว่าองค์กรของตน มีนโยบาย ความพยายาม หรือมีความมุ่งมั่นเกี่ยวกับด้านการพัฒนาความยั่งยืนที่เมื่อดูอย่างผิวเผินแล้วจะคล้ายกับว่าได้สนองต่อเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดที่ลึกลงไปพบว่ายังขาดสาระสำคัญหรือไม่สามารถส่งมอบผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือเศรษฐกิจได้อย่างครบถ้วนแท้จริง ขาดการสร้างความรับรู้ถึงความยั่งยืนและผลกระทบที่แท้จริงของการดำเนินการหรือกิจกรรมตามที่กล่าวอ้าง

ลักษณะที่จะชี้บ่งถึงภาพลวงตาเหล่านี้ มักได้แก่

1) นโยบายหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืนที่กล่าวอ้าง เป็นเพียงนโยบายระยะสั้น หรือเป็นกิจกรรมที่จะเกิดผลกระทบเพียงระยะสั้น ขาดความต่อเนื่องไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาวที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมมนุษย์

2) เป็นนโยบายหรือกิจกรรมที่ไม่ได้นำเสนอหรืออธิบายให้ชัดเจนว่า จะนำไปสู่ผลกระทบต่อความยั่งยืนที่เป็นปัญหาหลักที่แท้จริง เป็นเพียงการปรับแต่งนโยบายเดิมเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นเพียงการดำเนินการเชิงสัญลักษณ์ แทนที่จะเป็นการริเริ่มเพื่อจัดการกับปัญหาหลักที่จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างแท้จริง

3) เป็นนโยบายหรือกิจกรรมที่ระบุถึงผลเชิงปริมาณต่อกิจกรรมเฉพาะเรื่อง เช่น การลดปริมาณขยะหรือของเสีย การลดปริมาณการใช้พลังงานฟอสซิล การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ฯลฯ แต่ไม่ได้ให้คำอธิบายต่อเนื่องว่า ข้อมูลเชิงปริมาณที่นำเสนอนั้น จะสร้างผลกระทบโดยรวมอย่างไรต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบในเชิงสังคมอย่างไร

4) เป็นการนำเสนอนโยบายหรือโครงการกิจกรรมในลักษณะของ “การฟอกเขียว” (Green Washing) ที่องค์กรใช้แนวทางด้านการตลาดเพื่อกล่าวอ้างถึงผลงานต่างๆ โดยไม่ได้มีการปฏิบัติจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ความเข้าใจกับแนวคิด “ภาพลวงตาแห่งความยั่งยืน” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาคมภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงที่สะท้อนถึงเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ ไม่ให้เกิดภาพที่เป็นเพียงการสร้างภาพลวงตาของความยั่งยืนขององค์กรเท่านั้น!!??!!

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/environment/1145238