เมื่อพูดโรงกษาปณ์เราอาจนึกถึงสถานที่ผลิตเหรียญ แต่ล่าสุดโรงกษาปณ์สหราชอาณาจักรกำลังเริ่มเปลี่ยนมาผลิตทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์แทน
ที่ผ่านมาโรงกษาปณ์เป็นองค์กรสำหรับดูแลกำกับการผลิตเหรียญของประเทศโดยเฉพาะ มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจสำหรับการรักษาเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของสกุลเงินของประเทศ กำหนดมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยของเงินตรา รวมถึงการผลิตเหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ
แต่ล่าสุดโรงกษาปณ์ของอังกฤษกำลังจะมีบทบาทใหม่ในการสกัดและผลิตทองคำขึ้นจากขยะอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อโรงกษาปณ์เปลี่ยนจากการผลิตเงินไปเป็นทอง
แนวคิดนี้เกิดจากบริษัท Excir แห่งแคนาดา กับการคิดค้นพัฒนาสารเคมีในการทำละลายรูปแบบใหม่ อาศัยคุณสมบัติในการสกัดทองคำออกมาจากแผงวงจร สู่การนำมาใช้ในการสกัดทองคำจากชิ้นส่วนแผงวงจรขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะช่วยพลิกโฉมโรงกษาปณ์โดยสิ้นเชิง
ต้นทางของแนวคิดนี้เริ่มจากความสำเร็จในการพัฒนาสารเคมีชนิดพิเศษของ Excir ที่มีคุณสมบัติในการทำละลายโลหะมีค่าโดยเฉพาะทองให้หลุดออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยตรง เพียงนำแผงวงจรที่ต้องการไปแช่ในสารเคมีภายในระยะเวลาที่กำหนด อนุภาคทองคำก็จะถูกสกัดออกมาแขวนลอยอยู่บนพื้นผิวให้สามารถร่อนกลับไปใช้ใหม่
จุดเด่นของการสกัดทองคำโดยอาศัยสารเคมีชนิดนี้คือ กระบวนการสกัดดำเนินการได้ภายใต้อุณหภูมิห้อง ขั้นตอนการใช้งานเพียงนำแผงวงจรไปแช่ในสารละลาย อาศัยระยะเวลาดำเนินการเพียงไม่กี่นาที ช่วยกู้คืนอนุภาคทองคำที่แขวนลอย 99% และจะได้ทองที่มีระดับความบริสุทธิ์ถึง 99.99%
ปัจจุบันแนวทางการสกัดทองคำรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้งานในบริษัท The Royal Mint Limited เจ้าของโรงกษาปณ์ในสหราชอาณาจักร พวกเขาจัดตั้งโรงงานสกัดทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ แล้วจึงนำแร่ทองคำที่ได้ไปผลิตเครื่องประดับเพื่อวางจำหน่ายต่อไป
นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโรงกษาปณ์จากเป็นโรงงานผลิตเหรียญเงินมาเป็นเหมืองทองรุ่นใหม่อย่างเป็นทางการ
ก้าวใหม่ของโรงกษาปณ์ในวันที่เหรียญลดความสำคัญ
ถึงจุดนี้เราอาจสงสัยและตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงของโรงกษาปณ์อยู่บ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับองค์กรนี้ในฐานะผู้ผลิตเหรียญตามท้องตลาดให้เราคอยใช้งาน แต่เมื่อประเมินถึงสถานการณ์และแนวโน้มการใช้เงินในปัจจุบัน นี่ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจต่อโรงกษาปณ์เช่นกัน
เราทราบดีว่าปัจจุบันการใช้งานเหรียญในฐานะตัวกลางในการชำระเงินน้อยลง เป็นผลจากการผลักดันสังคมไร้เงินสดอย่างกว้างขวาง จริงอยู่ว่าอาจไม่สามารถทดแทนได้หมดแต่ความต้องการใช้เงินสดโดยเฉพาะเหรียญก็ลดลงมาก นำไปสู่การตั้งคำถามต่อบทบาทหน้าที่ของโรงกษาปณ์
อันดับถัดมาคือปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2022 ทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 62 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2030 จะขยายตัวไปถึง 82 ล้านตัน แต่กลับมีอัตราการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 20% จนอาจนำไปสู่ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ท่วมโลกต่อไป
นอกจากนี้แร่ทองคำที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คิดเป็น 7% จากแร่ทองคำที่มีอยู่ทั่วโลก เมื่อคำนึงถึงอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตทองคำที่นำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์จะยิ่งขาดแคลน อีกทั้งการทำเหมืองทองยังเป็นการก่อมลพิษที่ทวีความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนผ่านโรงกษาปณ์มาสู่โรงงานรีไซเคิลทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นการหมุนเวียนโลหะมีค่ากลับมาใช้ใหม่ แก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดการทำเหมืองทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลดลง ไปจนรักษาตำแหน่งงานและทักษะของนายช่างฝีมือสาขานี้ให้คงอยู่ต่อไป
นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเปลี่ยนผ่านและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของโรงกษาปณ์อย่างแท้จริง
ปัจจุบันการสกัดทองคำออกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถแปรรูปแผงวงจรจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ราว 4,000 ตัน/ปี พร้อมเริ่มวางจำหน่ายเครื่องประดับที่ผลิตจากแร่ทองซึ่งผ่านการรีไซเคิลขึ้นมาแล้วเช่นกัน
แหล่งข้อมูล