ราชวงศ์อังกฤษส่งเสริมความยั่งยืน ภายใต้แผนการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เปลี่ยนพลังงานรถหรูเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ วางแผนเปลี่ยนยานพาหนะของราชวงศ์เป็นรถไฟฟ้า และติดตั้งจุดชาร์จในวังบักกิงแฮม 27 จุด นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นใช้พลังงานหมุนเวียนในพระราชวัง
ราชวงศ์อังกฤษได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) ได้รับการยกย่องว่าเป็น “กษัตริย์แห่งสภาพภูมิอากาศ” (Climate King) พระองค์ได้ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หนึ่งในโครงการสำคัญคือ Sustainable Markets Initiative (SMI) ที่เปิดตัวในปี 2019 โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของภาคเอกชน นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ส่งเสริมการออกแบบ และวางแผนชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อไม่นานนี้ ราชวงศ์อังกฤษ ได้ประกาศแผนการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี และบัญชีสำหรับปีงบประมาณ 1 เมษายน 2023 ถึง 31 มีนาคม 2024 โดยมีโครงการหลายอย่างเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ไฮไลต์สำคัญ คือ
1.การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
2.พลังงานหมุนเวียน และพลังงานพลังน้ำ
3.แผงโซลาร์เซลล์
4.เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน
5.จัดตั้งหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนคนใหม่ เพื่อเร่งความพยายามการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสถาบันพระมหากษัตริย์
เปลี่ยนรถหรูใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ
ในความผสมผสานระหว่างประเพณี และนวัตกรรม รถยนต์ Aston Martin DB6 นับเป็นสัญลักษณ์ของกองรถยนต์ของราชวงศ์อังกฤษมาหลายทศวรรษ แต่ด้วยความที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 เป็นนักสิ่งแวดล้อมจึงได้เปลี่ยนรูปแบบพลังงานของรถ Aston Martin DB6 ปี 1970 ซึ่งรถสปอร์ตคันนี้เป็นของขวัญในวันเกิดครบรอบ 21 ปีของพระองค์จากพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ และรถลิมูซีน Bentley State Limousines ไปเป็นการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากไวน์ และเวย์ของชีสที่ผลิตเกินความต้องการของตลาดหรือการบริโภค
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้น นับเป็นตัวอย่างของการปรับตัวของสถาบันที่นับว่ามีประเพณีมากที่สุด มาสู่การยอมรับวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สมัยใหม่ได้
นอกจากนั้น ราชวงศ์อังกฤษยังมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนยานพาหนะเป็นรถไฟฟ้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยโครงการนี้รวมถึงการติดตั้งจุดชาร์จยานพาหนะไฟฟ้า (EV) จำนวน 27 จุด ที่พระราชวังบักกิงแฮมด้วย อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ชาร์ลส์ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของราชวงศ์แล้ว ซึ่งคือ Jaguar I-Pace
ใช้พลังงานหมุนเวียนในราชวัง
พระราชวังบักกิงแฮมใช้ระบบ Combined Heat and Power (CHP) ซึ่งเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเป็นไฟฟ้า เพื่อใช้กับเครื่องทำความร้อน และน้ำร้อน ระบบนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดการพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ
ขณะที่ปราสาทวินด์เซอร์ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ผลิตจากแม่น้ำเทมส์ที่ Romney Weir ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 40% ของความต้องการไฟฟ้าของปราสาท โดยโครงการพลังงานน้ำที่ Romney Weir ประกอบด้วยกังหันขนาดใหญ่ 2 ตัวที่ติดตั้งบนแม่น้ำเทมส์
กังหันนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งปริมาณพลังงานนี้มากเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับบ้านประมาณ 500 หลัง และใช้เป็นพลังงานมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ปราสาทวินด์เซอร์
ทั้งนี้ พลังงานส่วนเกินที่ผลิตโดยกังหันนี้จะถูกป้อนเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ โครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของปราสาท แต่ยังช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนของประเทศ
ปราสาทวินด์เซอร์ยังใช้ปั๊มความร้อนที่มีวิธีการทำความร้อนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยระบบทำงานโดยการถ่ายเทความร้อนจากอากาศ หรือพื้นดินเข้าสู่ตัวอาคาร ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้วิธีการทำความร้อนแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
นอกจากปั๊มความร้อนแล้ว ยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของปราสาทวินด์เซอร์ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนปราสาท แผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากพลังงานฟอสซิล
รวมถึงมีการทดลองใช้ไฟ LED ที่มีประสิทธิภาพสูงทั่วอสังหาริมทรัพย์ของราชวงศ์ ไฟ LED ใช้ไฟฟ้าน้อยลงถึง 86% และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไฟแบบดั้งเดิม และมีระบบการจัดการอาคารคอมพิวเตอร์ (Building Management System) ควบคุมการให้ความร้อน การทำความเย็น และน้ำร้อนที่จัดหาให้กับอาคารต่างๆ ด้วย
การบินยั่งยืนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องเช่าเหมาลำ
ในก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน ราชวงศ์อังกฤษได้ประกาศว่าจะเปลี่ยนเชื้อเพลิงเจ็ทแบบดั้งเดิมเป็นเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) สำหรับเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินเช่าเหมาลำ
โดยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน และวัสดุเหลือใช้ เช่น น้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนตลอดวงจรได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงเจ็ทแบบดั้งเดิม การนำ SAF มาใช้ของราชวงศ์คาดว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงาน และองค์กรที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ในอังกฤษให้ปฏิบัติตาม
ด้วยการรวม SAF เข้ากับการดำเนินงานด้านการบิน ราชวงศ์อังกฤษไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน แต่ยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มความต้องการโซลูชันการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเคลื่อนไหวนี้คาดว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความก้าวหน้า และการลงทุนเพิ่มขึ้นในเทคโนโลยีการบินที่ยั่งยืน
Sustainable Markets Initiative
โครงการ Sustainable Markets Initiative (SMI) ได้รับการเปิดตัวโดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี 2020 ที่การประชุมประจำปีของ World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนจากการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังได้จัดตั้ง Terra Carta ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับธรรมชาติ ผู้คน และโลกใบนี้เมื่อเดือนมกราคม 2021 โดยนำเสนอหลักการ และแนวทางปฏิบัติเกือบ 100 ประการสำหรับให้ธุรกิจนำไปปฏิบัติภายในปี 2030
มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3ในการผสานแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลสิ่งแวดล้อม และยังรักษาความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสาธารณชนได้ให้การตอบรับเชิงบวกต่อโครงการเหล่านี้ และยกย่องการเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนของสถาบันที่มีชื่อเสียง
แหล่งข้อมูล